เรือการเวก

09 พ.ย. 2567 | 07:45 น.
อัปเดตล่าสุด :09 พ.ย. 2567 | 07:56 น.

เรือการเวก คอลัมน์ Cat out of the box โดย พีรภัทร์ เกียรติภิญโญ

KEY

POINTS

  • เรือการเวกเป็นเรือโบราณที่มีรูปหัวเป็นนกการเวก และเป็นส่วนหนึ่งของเทศกาลทางพุทธศาสนาในประเทศพม่า โดยเฉพาะที่ทะเลสาบอินเล รัฐฉาน ซึ่งยังคงใช้เรือหัวสัตว์ในพิธีแห่พระและธาตุในปัจจุบัน ส่วนในไทยจะใช้เรือโบราณที่มีหัวเป็นนกหงส์ทองในการพระราชพิธีต่างๆ
  • นกการเวกมีบทบาทสำคัญในวัฒนธรรมและความเชื่อของทั้งพุทธศาสนาและศาสนาอื่นๆ โดยในพุทธศาสนาเชื่อว่าเสียงร้องของนกการเวกมีความไพเราะมากจนทำให้ผู้ฟังต้องหยุดนิ่งเพื่อฟัง และในด้านวิทยาศาสตร์ก็เชื่อว่านกการเวกจริงๆ คือ "นกปักษาสวรรค์" ที่พบในเกาะห่างไกลกลางทะเลที่มีขนหางงดงาม

สัปดาห์ก่อนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินทางชลมารค ทอดผ้าพระกฐิน ยังวัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหารโดยเสด็จประทับเรือพระที่นั่ง ตั้งกระบวนเรือ ตามโบราณราชประเพณี สวยสดงามงดทั้งตัวเรือโบราณงามวิจิตร ทั้งขบวนเรือการจัดการวาง จังหวะการเห่การเคลื่อนพายอลังการสวยสง่าเกินคาดฝัน

ท่านผู้อ่านมีคู่สมรสชาวยุโรป ก็กรุณาไถ่ถามมาถึงว่าในดินแดนอุษาคเนย์นี้ ยังมีที่ใดใช้เรือโบราณในกาลปัจจุบันอย่างเช่นเมืองไทยอีกบ้าง?

จึงเรียนไปด้วยใจมิตรว่าอย่างน้อยก็คงที่พม่า ณ บริเวณทะเลสาบอินเล รัฐฉาน ที่แห่งนั้นถึงจังหวะเหมาะตามเทศกาลทางพุทธศาสนาก็ยังคงใช้เรือหัวสัตว์ลงน้ำตั้งขบวนแห่พระแห่ธาตุ โดยเรือสำคัญนี้มีชื่อกันว่าเรือการเวก_ เรือหัวนกการเวก

นกการเวกคืออะไร? วันหนึ่งไปได้รถเมอร์ซิเดสรุ่นนิวอายส์ตากลมมาคันนึงเกียร์ 5 จังหวะ และมีหลังคา moon roof สีฟ้าแจ่มอมเขียวสดสดใส พอเปิดรหัสชาร์ทสีที่ตีตรามา ปรากฏว่าฝรั่งใช้คำว่ารถคันนี้สี indicolite blue

 

เรือการเวก

 

ซึ่งถ้าอ่านโดยผิวเผินก็จะนึกไปว่าอินดี้โก้หรือสีคราม ไปเข้าใจว่าเปนสีฟ้าครามน้ำทะเล _ indigo  แต่ความละเอียดอ่อนของภาษานั้นเมื่อสะกดด้วยตัว c แล้วกลับกลายเปนชื่อแร่ธาตุชนิดหนึ่งซึ่งมักปรากฏตัวในลักษณะของพลอยเนื้ออ่อนมีสีสันฟ้าเข้มอมเขียว ฝรั่งนับเปนอัญมณีมงคลมีค่าประจำเดือนตุลาคมและถือเปนพลอยเครื่องรางประจำวันครบรอบแต่งงานรอบที่ 8 !! นามว่า indicolite tourmaline ขับรถนี้ไปรับท่านบิดา ท่านก้าวลงบ้านมาเห็นรถนี้แล้วร้องชมว่า สวยดีจริงโดยเฉพาะสี

“นี่_สีไข่นกการะเวก”

แล้วนกการะเวก คืออะไร??

ตามตำรับตำราความเชื่อโบราณในฝั่งพุทธศาสนาก็มีความเชื่อถึงนกการเวกที่ว่าปรากฏอยู่ในไตรภูมิกถา ว่ามันมีภูเขาอยู่ลูกหนึ่งชื่อภูเขากรวิก ภูเขากรวิกนี้แลเปนที่อยู่ของนกการเวก

นกการเวกแห่งเขากรวิกนี้ มีลักษณะมหัศจรรย์อยู่หนึ่งอย่างคือเสียงร้องของมันนั้นไพเราะมาก_ไพเราะอย่างยิ่งเสียจนกระทั่งผู้ใดหรือสัตว์ใดได้ยินเสียงนกการเวกแล้วจะต้องตกตะลึงเคลิบเคลิ้มทำการทำงานอะไรอยู่ก็เปนต้องหยุดกึกชะงักกัก มารอฟังนกการเวก

ทางฝ่ายมหายานมีความเชื่อว่านกการเวกผู้มีเสียงไพเราะนี้ ทำหน้าที่ถ่ายทอดพระธรรมคำสั่งสอนให้กับสัตว์โลกอื่นๆได้ด้วยและสัตว์ต่างๆเหล่านั้นก็จำเป็นจะต้องหยุดฟังเพราะว่าท่วงทำนองสำนองเสนาะแห่งแก้วเสียงของนกการเวกมีความไพเราะกังวาลใสเปนพิเศษ ไม่มีแตกพร่าเทศนาคำอะไรมาก็เสนาะหูน่าตะลึงงันนัก

 

เรือการเวก

 

ผู้ใดมีบุญบารมีสั่งสมถึงที่โดยเฉพาะพระมหากษัตริย์ธิราชยามจะฟังธรรมหรือมีจิตปรารถนาจากได้ยินธรรม นกการเวกวิเศษนี่ก็จะบินจากเขาการวิก มาขับขานท่วงทำนองไพเราะเสนาะพระธรรมถวายถึงพระกรรณใบหู

ตามตำราฝ่ายตะวันตกก็มีความคิดเกี่ยวกับนกการเวก กล่าวคือแลว่าเปนนกในเทพปการณัมของกรีกแต่โบราณมา ว่ากันเปนนกที่ไม่มีเท้าapoda อยู่ในภูมิประเทศสูงส่งลอยล่องอยู่ชั้นสูงบนนภากาศ มีการตั้งชื่อไปเปนหมู่ดาวตามตำราดาราศาสตร์ฉบับถัดๆมาเสียด้วยซ้ำ

ในโลกปัจจุบันนี้เราเชื่อกันว่านกการเวกแท้จริงแล้วก็คือนกปักษาสวรรค์ซึ่งมีถิ่นกำเนิดอยู่ในเกาะการวิก เอ้ย เกาะห่างไกลกลางทะเล บริเวณโมลุกกะ ปาปัวนิวกินี เปนนกที่มีแพนหางพุ่มพวยสวยงามนัก และพอถึงเวลาฤดูผสมพันธุ์ก็จะออกมาปัดกวาดลานในป่าให้โล่งเตียนแล้วแสดงการะบำโชว์ขนหางให้ตัวเมียได้ตะลึงงันในความงดงาม ซึ่งอันที่จริงก็ไม่ใช่แต่ตัวเมียนกเท่านั้นหรอกที่ตะลึงงัน สัตว์ชนิดใดผ่านมาเห็นการแสดงในลานข่วงนี้ก็ตะลึงในความงามของพวกมันเช่นกัน ขนของนกการเวกนั้นเปนที่นิยมในหมู่ปวงชนเปนอย่างมากใช้ประดับศีรษะ (ศิราภรณ์) แสดงสถานะได้เปนอย่างดี

สมัยรัชกาลที่ห้า ชาวต่างชาตินำขนนกการเวกมาถวายเพื่อทรงประดับพระมหามงกุฎทรงรับไว้ในราชการแล้ว มีพระราชดำรัสตรัสถามถึงเจ้าของขน พ่อค้าขนนกก็ได้พากเพียรหานกการเวกตัวจริงทำการสต๊าฟเอาไว้แล้วนำมาทูลเกล้าถวาย ว่ากันว่าชาวยุโรปรู้จักนกชนิดนี้ครั้งแรกเมื่อกองเรือของเฟอร์ดินันด์ แมกเจลเลน เดินทางมาถึงหมู่เกาะโมลุกกะ ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 16 ลูกเรือคนหนึ่งของแมกเจลเลน บันทึกว่า พวกเขาได้ยินชาวพื้นเมืองพูดถึงนกชนิดหนึ่งที่พวกเขาเรียกว่า bolon diuata นกของพระเจ้า และกล่าวกันว่านกดังกล่าวนี้เป็นนกที่อาศัยอยู่ในสรวงสวรรค์กินน้ำค้างเปนอาหาร และจะไม่ลงมาสัมผัสพื้นดินนอกจากเมื่อตายแล้วเท่านั้น อย่างไรก็ดีในเวลานั้นไม่มีชาวยุโรปคนใดได้เห็นนกการเวกที่ยังมีชีวิตอยู่ คงพบเห็นแต่ซากนกที่ชาวพื้นเมืองจับได้และนำมาตัดขาและปีกออกแล้วเพื่อทำเปนเครื่องประดับ จึงทำให้ชาวยุโรปในเวลานั้นเข้าใจผิดว่านกชนิดนี้ไม่มีขา จึงกลายเปนมาของคำว่า Bird of Paradise และ Apoda ที่ใช้เรียกชื่อนกชนิดนี้

 

เรือการเวก

 

กลับมาที่เมืองพม่า ที่สวนสาธารณะขนาดใหญ่กลางมหานครย่างกุ้งนั้น มีทะเลสาบขุดด้วยมืออยู่แห่งหนึ่งที่ตรงกลางทะเลสาบนั้นตั้งเรือพระที่นั่งการเวกของบูรพากษัตริย์โบราณฝ่ายพม่าหล่อด้วยปูน ลักษณะโขนหัวเรือเปนหัวนกการเวกในขณะที่ฝ่ายของเราชาวไทยเป็นหงส์ทอง_สุพรรณหงส์

ทาสีทองและประดับกระเบื้องสีเขียว เรือพระที่นั่งการเวกปูนจำลองนี้ทาสีทองและประดับกระเบื้องสีเขียว หาได้มีอยู่หนึ่งลำเดียวก็หาไม่ทางการพม่าสร้างขึ้นเปนสองลำคู่วางตำแหน่งขนานกันอย่างคาทามารัน บนเรือคู่นั้นเทิร์นปราสาทยอดหลายชั้นของพม่าอยู่ตรงกลาง นัยยะว่าเพื่อรองรับน้ำหนักปราสาทอันอลังการเรือลำเดียวไม่สามารถจะต้านทานได้จำเป็นจะต้องใช้เรือคู่แบกปราสาท

ซึ่งหากว่าจะย้อนไปในวันเวลาแล้วไซร้ ลุ่มน้ำอิระวดีของพม่าที่เมือง มัณฑะเลย์ก็มีลักษณะกว้างขวางกว่าแม่น้ำเจ้าพระยาบ้านเราอย่างมาก หากเรือคู่มีจริงในตำนาน ประวัติศาสตร์การล่องเรือในแม่น้ำที่มีขนาดกว้างมากๆก็เป็นไปได้ที่จะรองรับเรือคู่ขนาดใหญ่บนผิวน้ำเช่นนี้

ส่วนเรือจริงๆปัจจุบันที่นำลงน้ำในเทศกาลทางพุทธศาสนาบริเวณทะเลสาบอินเล รัฐฉาน ตามที่เกริ่นเรื่องไว้นั้นเป็นเรือไม้ขนาดใหญ่พอควร เรือประธานเปนเรือเดี่ยวที่อ้วนใหญ่ เทินปราสาทกลางเรือ หัวเรือวางนกการเวกทองตัวโตล่ำสัน โดยอาจมีเรือเล็กที่ใช้เรือคู่อยู่บ้างนำขบวนและเรือเล็กนั้นทำตัวเป็นคาทามารันเทินปราสาท แต่งรูปนกการเวกทองขนาดย่อม

 

เรือการเวก

 

ต่อไปนี้เป็นรูปของเรือโขนสัตว์โบราณของพม่าซึ่งเมื่อครั้งอังกฤษได้เข้ายึดครอง ได้ทำข้อมูลทางประวัติศาสตร์นี้เก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์ของตนจนเวลาผ่านมา ได้เวลาเหมาะสมจึงปล่อยออกสู่สาธารณะตามหลักการ Public Domain

รูปที่หนึ่งคือเรือคู่ขนาดใหญ่สองหาง โขนเรือเป็นพญานาคประดับด้านในด้วยครุฑและเทพยดาเทินปราสาทเจ็ดชั้น ที่กลางลำเรือ ปิดทองทั้งลำ เปนเรือพระที่นั่ง

รูปที่สองเป็นเรือเดี่ยวขนาดใหญ่ โขนเรือเป็นรูปพญานาคปิดทองทั้งลำ เทินปราสาทสามชั้นที่กลางลำเรือสำหรับเสนามุขมาตย์ ตามเสด็จ

รูปที่สามเป็นเรือคู่ชักหัวเรือเรียวเชิดตามหลักการแอร์โร่ Dynamic คล้ายกับเรือเอกไชยของกรุงศรีอยุธยาเรือนี้ปิดทองทั้งลำเช่นกันทำหน้าที่บรรทุกเครื่องฆ้องกลองศาสตราวุธและทำหน้าที่ชักลากยามจำเป็น

รูปที่สี่เป็นเรือรูปโขนนรสิงห์ ตัวเป็นสิงห์หัวเป็นคนปิดทองทั้งลำทำหน้าที่บรรทุกฆ้อง

รูปที่ห้า เรือหัวนกการเวก ซึ่งฝรั่งบันทึกไว้ว่าเปนเรือหัวนกแก้ว-parrot คู่กับเรือโขนกินรี

รูปสุดท้ายเรือพระที่นั่ง สุริยันจันทรา ซึ่งแต่ไหนแต่ใดมาพม่าถือเป็นตราสัญลักษณ์มงคลของกษัตริย์ตราสุริยันถูกแสดงออกด้วยนกยูง ส่วนตราจันทราเปนรูปกระต่ายมีติดอยู่ทั่วไปในโบราณสถานจนกระทั่งบัดนี้

ส่วนสีไข่นกการเวกเปนอย่างไร ก็ขอขอบคุณ คณะลูกศิษย์ของด็อกเตอร์ยิ่งศักดิ์ฯ ผู้ชำนาญการด้านการผลิตและปรุงอาหาร ได้ลงรูปของซุปสาคูเลียนอย่างไข่นกการเวกเอาไว้พอดีสีของเขาฟ้าอมเขียวสดใสสวยได้ใจนกสวรรค์

เปนอันจบเรื่องนกและรถเรือการเวกแต่เพียงเท่านี้