พะย้าตะกา พญาเด็กชาย

23 พ.ย. 2567 | 00:30 น.
อัปเดตล่าสุด :23 พ.ย. 2567 | 00:40 น.

พะย้าตะกา พญาเด็กชาย คอลัมน์ Cat out of the box โดย พีรภัทร์ เกียรติภิญโญ

KEY

POINTS

  • พญาเด็กชาย เป็นเด็กหนุ่มชาวเชียงใหม่ที่มีความกล้าหาญและจงรักภักดีต่อบ้านเมือง ในยุคสมัยพระเจ้าสามฝั่งแกนแห่งสุโขทัย เขาได้รวบรวมชายฉกรรจ์ตั้งกองโจรต่อต้านกองทัพสุโขทัย โดยนำการโจมตีข้าศึกและถวายศีรษะทหารให้พระเจ้าสามฝั่งแกนจนได้รับพระราชโองการให้เป็น "พระยาเด็กชาย" หนึ่งในขุนศึกสี่หมู่ของล้านนา
  • ในยุครัตนโกสินทร์คำว่า "พญา" ค่อยๆ เปลี่ยนความหมายและลดความสำคัญลง จากที่เคยหมายถึงหัวหน้าหน่วยการปกครองในเมืองล้านนา เช่น พระยาเด็กชายราชเสนา ที่ส่งช้างเข้าร่วมกระบวนการพยุหยาตราในสมัยรัชกาลที่ 7 กลายมาเป็นตำแหน่งที่เทียบเท่ากับตำแหน่งปลัดเมืองหรือปลัดอำเภอในยุครัชกาลที่ 5 เป็นต้น

ต่อเนื่องมาจากฉบับก่อนว่าด้วยเรื่องขบวนช้างพยุหยาตราเลียบเมืองเชียงใหม่ครั้งนั้นพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๗ เสด็จเข้าเวียงโดยกระบวนช้างถึง ๘๔ เชือกนั้น ในบัญชีผู้นำส่งช้างเข้ากระบวน นอกจากประดาเจ้านายฝ่ายเหนือและบริษัทห้างร้านสำคัญแล้วยังปรากฏชื่อ พญาเด็กชาย เปนผู้ส่งช้างเข้าขบวนมา ๒ เชือก

ท่านผู้อ่านก็กรุณาชวนคุยว่าพระยา/พญาเด็กชายนี่คือใคร? เปนเด็กประเภทไหนถึงยังมีบุญญาบารมีหาญกล้าส่งช้างมาช่วยในการพยุหยาตราถึงสองเชือก ??ก็ทีนี้หากว่าเราย้อนเวลาไปในยุคสมัยพระเจ้าสามฝั่งแกนแห่งเชียงใหม่ยุคเก่า ซึ่งเก่าขนาดว่าสุโขทัยยังเรืองอำนาจ ยามนั้นพระเจ้าไสลือไทยกษัตริย์สุโขทัย ประสงค์จะเอาเมืองเชียงใหม่ไปไว้ในครอบครอง ก็ทรงเริ่มกรีฑาทัพบุกเข้ามา

ในขณะนั้น มีเด็กหนุ่มชาวเชียงใหม่ผู้หนึ่ง ชื่อว่าเพ็ชรยศ เพ็ชรยศเปนเด็กหนุ่มชาวบ้านเชิงดอยสุเทพ ออกเสียงภาษาเหนือว่า ‘เป๊กยส’ ตามสำเนียงพื้นบ้าน ครั้นเมื่อกองทัพสุโขทัยยกมาถึง เพ็ชรยศก็รวบรวมชายฉกรรจ์อายุตั้งแต่ 16 ถึง 30 ปี จัดตั้งเปนกองโจรำ ตั้งอยู่บนดอยสุเทพ เมื่อเห็นพวกกองทัพสุโขทัยออกลาดตระเวนหาหญ้าช้างให้สัตว์พาหนะ กินหรือหาเสบียงอาหาร ก็จะแต่งกองโจรออกทะลวงฆ่าฟันตัดเอาศีรษะทหารเหล่านั้น ยกหิ้วไปถวายพระเจ้าสามฝั่งแกนเปนประจำ พระเจ้าสามฝั่งแกนทรงพึงพอใจมาก โปรดปรานตรัสชมเชยว่า แม้จะเปนเด็กน้อยก็จริง แต่ก็มีความกล้าหาญและจงรักภักดีในบ้านเมืองยิ่งนัก จึงมีพระราชโองการดำรัสตรัสสั่งให้ เพ็ชรยศ เป็นที่พระยาเด็กชาย หนึ่งในตำแหน่งขุนศึกสี่หมู่แต่นั้นมา

ทำให้มีนามพระยาเด็กชายปรากฏในทำเนียบข้าราชการของล้านนาไทยในโบราณสมัยว่า ตำแหน่งหัวศึก ๔  หมู่ คือ พระยาแสนหลวง, พระยาสามล้าน, พระยาจ่าบ้าน, พระยาเด็กชาย

ต่อมาเมื่อถึงยุครัตนโกสินทร์ นิยามความหมายของพระยา/พญาในเมืองเหนือ คล้ายจะค่อยๆลดความสำคัญลง พอๆกับที่เจ้าหลวงกลายเปนตำแหน่งของเจ้าผู้ครองนครแต่ในนาม ข้าราชการชั้นพระยาจากเมืองใต้(สยาม) มีลำดับศักดิ์สูงพอหน้ากัน คำว่าพญาของทางเหนือ ซึ่งในอดีตตามคำกล่าวบังคมทูลของเจ้ามหาพรหมสุรธาดาเจ้าหลวงเมืองน่าน ซึ่งมีอาวุโสพรรษากาลสูงกว่าเจ้าเมืองทั้งหลายในสายพายัพ (หมายเหตุ- ยามเมื่อประดาผู้หลักผู้ใหญ่เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทก็จะมีแบบธรรมเนียมอยู่ว่าท่านผู้ใดที่มีอาวุโสสูงที่สุดในหมู่ ก็ให้ผู้นั้นเป็นหลักในการกราบบังคมทูลพระกรุณา โดยอาจเรียกท่านผู้นั้นว่าอธิบดี ซึ่งแปลว่าผู้เป็นใหญ่ผู้เป็นอาวุโส ยามเสด็จออกมหาสมาคมแล้วประดาทูตานุทูตจากประเทศต่างๆเข้าเฝ้าถวายพระพรก็จะคัดเลือกกันเองว่าทูตผู้ใดมีอาวุโสสูงที่สุดในที่ประชุมทำหน้าที่เป็นอธิบดี เรียกว่าอธิบดีทูต โดยนับความอาวุโสจากการเข้าประจำการในประเทศไทย ท่านใดอยู่มานานที่สุดท่านนั้นเป็นอธิบดี)

ต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่เจ็ดว่าหัวเมืองในล้านนาแท้แล้วมีมากถึง ๕๗ เมือง [ซึ่งรวมไปถึงแต่ไม่จำกัดอยู่เพียง เชียงราย พะเยา เมืองฝาง เมืองหาง เมืองสาด ชะวาด น้อย ยาง เมืองมัน เมืองตวน เมืองปุ เมืองเรง เมืองกก เมืองพู เมืองเพียง เชียงตุง เมืองกาย สามท้าว เมืองม้า ท่าล่อ เมืองวะ เชียงขาน บ้านยู้ เมืองหลวย เมืองยอง เมืองสิง เมืองนอ เมืองหลวง ภูคา ภูคะทาง เชียงชี เชียงของ เทิง เมืองล่อ น่าน แพร่ ละคร.. ]

คำว่าพญาเลยกลายเปนหัวหน้าของหน่วยการปกครองเดิมที่มีลักษณะเปนเมือง(ขนาดเล็ก)เสียมาก จนเมื่อเข้าสู่ระบบรัตนโกสินทร์ถึงยุครัชกาลที่ ๕ แล้ว พญาจึงมีลักษณะเทียบเท่ากับปลัดเมืองหรือปลัดอำเภอเท่านั้น แต่ถ้าเมืองนั้นเล็กไปกว่าปกติ ก็เท่ากับว่าพญาเปนผู้สูงกว่ากำนัน/พ่อแคว่น อยู่สักหน่อย

เบาะแสของพระยา/พญาเด็กชาย คนสุดท้าย ซึ่งน่าเชื่อว่าเปนเจ้าของช้างทั้งสองเชือกที่ส่งมาเข้าถวายงานในกระบวนเสด็จนี้ น่าจะได้แก่ พญาเด็กชายราชเสนา (เสือ) ในยุคของ เจ้าอินทวโรรสสุริยวงศ์ เจ้าหลวงเชียงใหม่องค์ที่ 8_องค์ก่อนเจ้าแก้วนวรัฐเจ้าหลวงองค์สุดท้าย ท่านพญาเด็กชายรับราชการทำหน้าที่ด้านการคลังของเจ้าอินทวโรรสสุริยวงศ์ บ้านอยู่บริเวณข้างวัดหัวข่วง ต้นถนนพระปกเกล้า

ซึ่งเชื่อว่าเปนพื้นที่ที่เจ้าหลวงมอบให้อยู่อาศัย บันทึกของล้านนาประเทศระบุว่า ‘เป็นบ้านไม้สักใหญ่ใต้ถุนสูงเป็นที่อาศัยของช้างหลายเชือก ระเบียงหน้าบ้านแกะสลักลวดลายสวยงาม’ ภริยาของพญาเด็กชายชื่อว่า เจ้าแม่อุสา สืบสายมาจากเจ้าฟ้าเมืองต่วน ชาวเมืองทั่วไปให้เกียรติเรียกบุตรหลานของพญาเด็กชาย และ เจ้าแม่อุสาด้วยคำนำหน้าว่า “เจ้า” เช่นเดียวกับเจ้าสายนครเชียงใหม่

พญาเด็กชายมีบุตรธิดา กับเจ้าแม่อุสา ๔ คนต่อมาเจ้าแม่อุสาเสียชีวิตลง พญาเด็กชายจึงได้สมรสใหม่กับแม่ก๋องแก้ว ชาวเมืองลำพูนมีบุตรธิดา อีก๓ คน และจากไปในราวปี เปลี่ยนแปลงการปกครอง

ส่วนท่านที่กรุณาถามไถ่มาว่าในการเสด็จเลียบมณฑลพายัพครั้งนั้น เมื่อเข้าถึงเวียงนครเชียงใหม่แล้วเหตุใดจึงไม่มีเจ้าหลวงเมืองแพร่มาร่วมรับเสด็จด้วย อันนี้ก็เปนด้วยว่าเมืองแพร่นั้นถูกถอนสภาพความเปนประเทศราชไปแล้วตั้งแต่คราวยุครัชกาลที่ ๕

ด้วยว่าในขณะนั้นเกิดเหตุกบฏเงี้ยวเมืองแพร่ซึ่งนำโดยกลุ่มไทใหญ่ในเขตจังหวัดลำปาง-แพร่วางแผนกันยึดอำนาจการปกครอง มีหัวหน้าชื่อพะกาหม่อง*และสล่าโปชัย ซึ่งมีถิ่นพำนักทำการค้าขุดหาพลอยต่างๆอยู่ในเขตเมืองแพร่ ด้านเมืองลอง เด่นชัย การกบฏครั้งนี้เริ่มต้นจากการก่อจราจลก่อนมีการตัดสายโทรเลขสื่อสาร บุกเข้าปล้นสถานีตำรวจ เปิดคุกให้นักโทษต่างๆได้ออกมาเป็นอิสระแล้วเข้าปล้นตลาด ปล้นท้องพระคลังหลวง

ข้าหลวงจากสยามซึ่งส่งไปดูแลเมืองแพร่คือพระยาไชยบูรณ์ถูกฝ่ายกบฎจับได้ โดนตัดคอฆ่าทิ้ง รัฐบาลกลางกว่าได้ข่าวก็เกือบสายไป จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าให้เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีซึ่งเป็นขุนพลแก้วชำนาญศึก สูงด้วยคุณวุฒิและวัยวุฒิ ดำเนินการต่างพระเนตรพระกรรณ เปนแม่ทัพปราบกบฏ

ครั้นเมื่อกองทัพหลวงเดินทางถึงที่เกิดเหตุก็ประกาศกฎอัยการศึก ออกประกาศตามตัวเจ้าหลวงเมืองแพร่ในเวลานั้นคือเจ้าพิริยะเทพวงศ์เนื่องจาก พบเบาะแสบางอย่างว่าเจ้านายฝ่ายบริหารเมืองแพร่ให้การสนับสนุนกบฏเกี๊ยวไทใหญ่ ทั้งเจ้าหลวงได้หายตัวไปหามีผู้ใดพบเห็นไม่

ก่อนจะปราบการจลาจลได้เบ็ดเสร็จราบคาบและตั้งศาลอาญาศึกขึ้นชำระคดี ได้ผลต่อมาว่า

เจ้าหลวงพิริยเทพวงศ์ เจ้าผู้ครองนครแพร่ เสด็จลี้หนีไปอยู่กับเจ้านครหลวงพระบางในความอารักขาของฝรั่งเศส จึงถูกปลดออกจากการเปนเจ้าผู้ครองนครแพร่ ถอดเครื่องราชอิสริยาภรณ์พร้อมทั้งยกเลิกสถานะการเป็นประเทศราชของเมืองแพร่ (เปนเมืองที่สองในประวัติศาสตร์ ต่อจากเวียงจันทน์)

พระมหาเทวีเจ้าแม่บัวไหล ถูกถอดเครื่องราชอิสริยาภรณ์และถูกกักบริเวณที่กรุงเทพ

พระไชยสงคราม ราชบุตรเขยเจ้าหลวงแพร่ ต้องโทษจำคุก

เจ้าน้อยไชยลังกา อนุชาเจ้าหลวงแพร่ ต้องโทษจำคุก ๓ ปี

เจ้าน้อยพุ่ม ต้องโทษจำคุก ๕ ปื

เจ้าน้อยสวน ถูกปลดจากตำแหน่งผู้พิพากษา จำคุก ๓ ปี

เจ้าราชบุตร (ร.ต.อ. เจ้าน้อยยอดฟ้า ณ น่าน) พระราชบุตรเขยเจ้าหลวงแพร่ เปนโอรสพระเจ้าน่านสุริยพงษ์ผริตเดช ผู้ภักดี บุญที่พระบิดามีความชอบในการปราบกบฎ สยามจึงถนอมน้ำใจพระเจ้าน่าน ลดยศลงมาเปนที่เจ้าราชดนัย ให้ทำราชการปราบเสี้ยนหนามล้างผิด แล้วย้ายไปอยู่เมืองน่านกับพระบิดา และให้ชดใช้ค่าเสียหาย

เจ้าบุรีรัตน์ น้องเขยเจ้าหลวงแพร่ ถูกภาคทัณฑ์และงดสิทธิสำหรับเจ้านายประเทศราช

เจ้าวิไชยราชา (เจ้าหนานขัติย์) เจ้าวังซ้าย(เจ้าหนานมหาจักร) เจ้าสุริยะ (เจ้าน้อยมหาอินทร์)ถูกภาคทัณฑ์

ทั้งนี้ในขณะที่ข้าหลวงสยามเข้าจับกุมและสอบสวนก็มีเจ้านายและขุนนางเมืองแพร่บางคนชิงฆ่าตัวตายก่อน คือ เจ้าหญิงเวียงชื่นพระธิดาเจ้าหลวงและเจ้าราชวงศ์(น้อยบุญศรี) พระสวามี ดื่มยาพิษฆ่าตัวตายในคุ้ม ส่วนพระยาชนะผูกคอตายในคุกที่คุมขัง

อีทีนี้เพื่อให้เกิดความเปนธรรมกับพะกาหม่องผู้ที่ถูกบันทึกว่าเปนหัวหน้ากบฏ ก็จะถือโอกาสเล่าถึงความเป็นมาของพะกาหม่องสักนิด ตามที่ได้เรียนแล้วว่าพวกเงี๊ยวนั้นเป็นคำที่ค่อนข้างจะโลน แต่ไม่ได้ถึงกับหยาบในการคนเผ่าอื่นเรียกชาวไท(ย)ใหญ่

พะกา_หม่อง เปนชาวไทยใหญ่ซึ่งตามแบบธรรมเนียมของชาติพันธ์นี้แล้วเขาก็มีการ จัดลำดับทางสังคมเอาไว้ เปนชั้นๆ โดยอ้างอิงเอากับการพระพุทธศาสนาพะกา นี้เปนคำนำหน้าของผู้ที่มีจิตศรัทธาในศาสนาสร้างพระพุทธรูป ประกอบการสร้างวัดสร้างกุฎิเสนาสนะ เอาไว้ในพระศาสนาแล้วไซร้ ชาวบ้านยกให้เป็น พะกา ย่อมาจากคำว่า พะย้าตะกา (พะย้า_พระพุทธ / ตะก่า_ ทายก)

ส่วนคนสร้างวัด ได้ชื่อ ว่า จอง นำหน้าเปรียบเสมือนเปนบรรดาศักดิ์ เพราะคำว่าจองนี้แปลว่าวัด ก็ได้กุฏิก็ได้ ที่เราได้ยินกันว่าวัดจองคำในสมัยนี้ก็แปลว่าวัดทองหรือวัดที่มีกุฎิทองนั่นเอง ผู้ที่สร้างทั้งพระทั้งวัดก็จะได้รับความนับถือว่าเปน_จองพะย้าตะก่า

พะก่าหม่องเองเปนคนลักษณะนี้ มีคำขนานนำหน้า บ่งลักษณะคนใหญ่ใจบุญ ส่วนคำว่าเจ้าจางอันนี้แปลว่าพระภิกษุ ส่วนเจ้าส่างแปลว่า เณร ที่ทางเมืองเหนือโดยเฉพาะแม่ฮ่องสอนยังมีวัฒนธรรมการบวชนาคที่แห่นาคเณรกันอย่างงดงามอลังการ จำลองการเสด็จออกมหาภิเนษกรมของเจ้าชายสิทธัตถะโดยการนั่งม้ากัณฑกะ ซึ่งเรียกว่างานปอยส่างลอง ปอยก็คืองานพิธี ส่วนคำว่า ส่างลอง ก็คือ นาคเณร เพราะคำว่าส่างหรือเจ้าส่างอันนี้ก็แปลว่าเณร หรือเจ้าเณร [เพื่อเปนการสืบสานเผยแผ่ ศิลปวัฒนธรรมล้านนา ขอเชิญภาพประกอบสวยงามฝีมือ พงษ์พันธ์ รวนนันทชัย ชุด Lanna Ancient Warrior มาประกอบ]

 

พะย้าตะกา พญาเด็กชาย

พะย้าตะกา พญาเด็กชาย

พะย้าตะกา พญาเด็กชาย

 

ผู้คนไทใหญ่ที่บวชแล้วถือว่า มีคุณวุฒิ ได้เรียนหนังสือศึกษาพระธรรมพอสึกออกมาจากการเปนเณรใช้คำว่าส่างนำหน้า เช่น พ่อส่างกะนะ ส่างตรงกับคำว่าน้อยของฝ่ายล้านนาที่เรียกกันว่า น้อยราชบุตร น้อยไชยา น้อยแสนคำแก้ว แต่ถ้าเปนพระแล้วสึกออกมาเรียกหนาน มาจากคำว่าขนาน ตรงกับภาษาไทยภาคกลางว่าทิด

แทรกไว้ณบรรทัดนี้ว่าคำว่าแลว ไทยใหญ่แปลว่าดาบ ฉะนั้นที่พูดกันว่าดาบแลว ซึ่งเปนศิลปะของดาบประเภทหนึ่งนั้นก็คือดาบไทยใหญ่ ส่วนคำว่าส่วนคำว่านายฮ้อย อันนี้แปลว่าผู้มั่งคั่งด้วยทรัพย์สินหากจะคล้ายคำว่านายหัวหรือพ่อเลี้ยง โดยไม่จำเป็นโดยจะต้องประกอบอาชีพค้าวัวควายหรือสัตว์ต่าง

ส่วนในเพลงของจรัลมโนเพชรที่ร้องว่า เส่เลเมา อันนี้มีคำไทยใหญ่ออกเสียงคล้ายกันแปลว่า ไอ้เสือเอาวา ซึ่งเปนคำโห่ร้องเรียกกำลังเวลาบุก ใกล้เคียงกับคำว่า “สู้โว้ย” , “เอาโว้ย” สมัยนี้

กลับมากล่าวถึงที่กรณีพะกาหม่อง ผู้ซึ่งมีน้ำอดน้ำทนทำงานขุดเหมืองอยู่ ที่บ่อแก้ว เด่นชัย มีมือขวาอยู่คนคือสล่าจาย (ชาย/ไชย) เก่งทางเจียระไนพลอย ดังได้เรียนแล้วว่า สล่า นี้แปลว่าช่าง_ช่างมีฝีมือ มีมือซ้ายอยู่คนเปนจอง ชื่อ จองแข่

(ต่อฉบับหน้า)