KEY
POINTS
ที่เชิงสะพานนวรัฐ ฝั่งน้ำปิงเมืองเชียงใหม่ ในบริเวณที่เรียกว่าท่าแพนั้น ยังมีวัดสำคัญอยู่วัดหนึ่ง ชื่อว่าวัดอุปคุต ซึ่งผู้ไปสักการะเยี่ยมชมจะพบว่า วิหารพระอุปคุตที่ตั้งสง่างาม อยู่ในบริเวณวัดนั้นจารึกชื่อท่านผู้สร้างเป็นมหาเศรษฐีในนครเชียงใหม่ยุคปลายศตวรรษก่อนกันทั้งนั้น ยังความสงสัยให้กับเยาวชนผู้ข้องทั้งหลายว่าชะรอยนี่หรือกระมังคือเบาะแสตามคำเล่าลือที่ว่าหากได้ทำบุญกับพระอุปคุตเถระแล้ว อุปสรรคขัดขวางทางการค้านานาประการจะสูญหายมลายสิ้นไปสร้างตัวได้กลายเป็นเศรษฐีมหาเศรษฐี
มาถึงจุดนี้ก็ต้องค้นหาเอาตำนานของพระอุปคุตเถระมาเล่าสู่ท่านฟัง พระอุปคุต หรือ พระอุปคุปต์ เถระผู้นี้ ท่านเป็นพระเถระนอกยุคสมัยขององค์พระสมมาสัมพุทธเจ้าสมณโคดม กล่าวคือ เรื่องราวของท่านถือกำเนิดขึ้นมาภายหลังพระพุทธเจ้าปรินิพพาน ภาษาบาลีเรียกท่านว่า พระอุปคุต ส่วนสันสกฤต เรียก อุปคุปต์
ซึ่งทั้งสองภาษาต่างก็นับถือกันว่า ท่านเป็นผู้มีฤทธิ์มากและเข้านิโรธสมาบัติโดยเนรมิตปราสาทแก้ว (ซึ่งน่าเชื่อว่ามีลักษณะอย่างบับเบิ้ลสุญญากาศ) จำศีลอยู่ใต้น้ำลึก หรือ บางตำราว่า อยู่ในสะดือทะเล
เมื่อกำเนิดพุทธศักราชได้สัก 234 ปี พระเจ้าอโศกมหาราชท่านครองบัลลังก์เป็นใหญ่อยู่แถวแว่นแคว้นแดนอินเดียท่านได้พบกับพระอุปคุตและพระอุปคุตนี้ท่านเป็นผู้มีความสามารถด้านการเทศนาสั่งสอนด้วย ท่านได้นำพระเจ้าอโศกมหาราชเสด็จไปทอดพระเนตรสักการะปูชนียสถานต่างๆ และช่วยขจัดอุปสรรคในการทำพิธีการทางศาสนาต่างๆแก่พระเจ้าอโศก
โดยท่านพระอุปคุตเถระนี้ ท่านเปนผู้ได้รับคำพยากรณ์จากพระพุทธองค์ว่าร้อยปีหลังปรินิพพาน จะมีพระอุปคุปต์ถือกำเนิดเป็นบุตรของพ่อค้าน้ำหอมในเมืองมธุรา (มิถิรา) พระอุปคุตจะเป็นผู้กระทำพุทธกิจแทนพระพุทธองค์ เมื่ออุปคุปต์บวชจะเป็นอาจารย์ที่ทำให้ศิษย์จำนวนมากบรรลุอรหัตผล
ครั้นถึงกำหนดเวลา ก็ปรากฏว่ามีพ่อค้าน้ำหอมผู้หนึ่ง สัญญากับพระผู้ใหญ่ศาณกวาสิณ (เปนลูกศิษย์พระอานนท์อีกที) ว่า หากตนมีบุตรชายจะให้บวช แต่เวลาล่วงไปพ่อค้าน้ำหอมก็เพิกเฉยจนมีบุตรชายคนที่สามชื่อว่าอุปคุปต์ พระศาณกวาสิณผู้ใหญ่นั้น ทราบโดยนัยว่าอุปคุปต์คือผู้ที่พระพุทธเจ้าพยากรณ์ไว้จึงไปทวงสัญญา เรื่องว่าจะขอลูกบวช
พ่อค้าน้ำหอมผู้บิดา ก็พลิกเกมส์กำหนดเงื่อนไขใหม่ว่า หากอุปคุปต์ เป็นเด็กเกิดมาไร้ค่าไม่ทำให้ตนมีกำไรก็จะให้บวชหรอกพญามาร ผู้ซึ่งอีท่าไหนก็ไม่รู้ แกไปรู้เห็นการเจรจาระหว่างพ่อกับพระดังนั้นก็ไม่อยากให้มีพระดีเกิดขึ้นในโลก จึงบันดาลให้เกิดกลิ่นเหม็นฉม ตลบอบอวลขึ้นในเมืองมธุรา ทั้งท่านบิดาและอุปคุปต์จึงขายน้ำหอมได้กำไรมาก เป็นอันว่าไม่ได้บวช สมใจพญามาร!
พระศาณกวาสิณเห็นเล่ห์พญามารดังนั้น ก็ยังคงใจเย็นใช้วิธีสอนหัด ให้อุปคุปต์ฝึกจิตหัดใจ ค้าขายด้วยคุณธรรม จนในที่สุดจิตเป็นกุศลทั้งหมด จนสามารถแสดงธรรรมแก่นางโสเภณีวาสวทัตตา ทำให้นางวาสวทัตตาบรรลุโสดาบันได้ส่วนตัวท่านอุปคุตเองก็บรรลุอนาคามีผลจากข้อธรรมของตนเองเสียอีกทีหนึ่ง ซ้อนในซ้อนเข้าไปอีก
พอถึงจุดนี้ พระศาณกวาสิณผู้อาจารย์จึงค่อยบันดาลให้อุปคุปต์อนาคามีและบิดาค้าขายไม่ได้กำไร (แต่ก็ไม่ขาดทุน)ท่านบิดาผู้ค้าน้ำหอมจึงจนใจให้พระอุปคุปต์ออกบวชในพุทธศาสนา ทีนี้ว่าอันพระพุทธทำนาย ของพระบรมศาสดานั้นแท้จริงแล้วยังมีขมวดไว้อีกปมหนึ่ง กล่าวคือท่านว่า ‘พระอุปคุปต์จะทำให้ภิกษุจำนวนมากบรรรลุอรหัตผล เช่นเดียวกับ อดีตชาติที่เคยเกิดเป็นพญาวานรที่ภูเขาอุรุมณฑ์ พญาวานรได้ช่วยให้ฤๅษี ๕๐๐ ตนบรรลุธรรมเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า’
ก็ชะรอยอีกว่าท่านพญามารแกรู้คำพยากรณ์นี้เข้าก็คงไม่แฮปปี้ ภาษาปัจจุบันนี้ก็คงว่า พญามารแก-‘ไม่โอเค’
เมื่อพระอุปคุปต์แสดงธรรมในเมืองมธุรา พญามารก็ขัดขวางด้วยการให้ฝนตกเป็นไข่มุกด์ในวันที่ ๑ ยั่วใจคนฟังธรรมให้ยินดีในของสวย ยั่วให้ฝนตกเป็นทองในวันที่ ๒ เพื่อคนยินดีในโลภะของมีค่า และบันดาลงานมโหรีฟ้อนรำของเหล่านางอัปสรสวยๆงามๆในวันที่ ๓ ให้หลงใหลในกิเลสกามา
ทว่าการณ์อันพระอุปคุตแสดงพระธรรมเทศนาตลอดสามวันนี้ ก็หาไม่ได้มีผู้ใดหวั่นไหว พญามารจึงงัดไม้ตายนำพวงมาลัยดอกไม้หอมสวมที่คอพระอุปคุปต์หวังใจให้ท่านเคลิ้มไปกับกลิ่นรส อันตนเองเคยชำนาญทำช่ำชองมาแต่สมัยอยู่กับพ่อ จะได้หันหลังกลับมาสู่ทางฆราวาส
พระอุปคุปต์ไหวทันเลยเอาบ้าง หันไปหยิบเอาซากงูสวมหัวมารเปนมงกุฏ หมาเน่าเอาคล้องคอเปนสังวาลย์ และซากคนเหน็บหูมาร เปนเครื่องประดับทัดหู พญามารเหม็นฉมยมบูดสะอิดสะเอียน แก้ออกไม่ได้ วิ่งไปหาทั้งพระอินทร์ พระพรหม พระยม หมอยา ก็ทุกคนว่าช่วยไม่ไหวๆ ในที่สุดต้องยอมแพ้ไปหาพระอุปคุปต์แก้ถอด
การเทศนาธรรมของพระอุปคุปต์คราวนั้น ทำให้มีผู้บวซในพระพุทธศาสนาจำนวนมาก และพระภิกษุเหล่านี้บรรลุอรหันต์ถึง ๑๘,๐๐๐ รูป ตามคำพระพุทธทำนาย มาถึงจุดนี้ก็จะทำให้มาถึงจุดนี้ก็จะทำให้เห็นชัดว่า พระอุปคุปต์กับพญามารนั้นมีความสัมพันธ์เชิงปฏิปักษ์กันอยู่โดยพญามารมักเป็นฝ่ายแพ้ทางอยู่ร่ำไป
คนไทยล้านนาจึงมีความเชื่อถือว่า อุปคุตนั้นเป็นผู้มีฤทธิ์ปราบมารและเบิกอุปสรรคต่างๆให้คลี่คลาย เวลาจะทำพิธีการอะไรเช่นงานปอยต่างๆ ก็จะทำการอัญเชิญรูปพระอุปคุตนำหน้า เพื่อว่าการพิธีต่างๆจะราบรื่นเหมือนอย่างที่ท่านเคยจัดการผ่านมา ในเชิงเปรียบเทียบแล้วคล้ายกับผู้นับถือพราหมณ์อัญเชิญพระพิฆเนศนำขบวนในการพิธีต่างๆเพื่อขจัดอุปสรรคทำนองเดียวกัน
ทางพม่านั้นถึงกับสร้างวิหารพระอุปคุตอยู่กลางน้ำ ที่มีชื่อเสียงมากคือที่เยเล้พญา ทางไปเมืองสิเรียม ผู้คนพากันไปสักการะมากจะต้องนั่งเรือกอนโดล่าสองหางข้ามฟากฝ่ากระแสน้ำเชี่ยวเข้าไป ซึ่งก็อีกนั่นแหละเมื่อไปถึงวิหารพระอุปคุตกลางน้ำแล้วก็พบบริษัทห้างร้านใหญ่ใหญ่ของไทยจารึกชื่อเป็นผู้ให้การสนับสนุนก่อสร้างติดเครื่อง
ปรับอากาศกันอีกหลายเจ้า!
ย้อนกลับมาที่เมืองเชียงใหม่ตามตำนานว่ามีพ่อค้าแม่ค้าเข็ญใจอยู่คู่หนึ่ง มีอาชีพหลักคือทำนาทำสวนอยู่นอกเมือง พอถึงฤดูกาลของป่า พอสามารถเก็บของป่าได้ถึงปริมาณก็จะนำข้ามน้ำเข้ามาเร่ขายในเวียง สู้อุตส่าห์อดทนฝึกฝนวิริยะอุตสาหะแต่ฐานะก็ไม่ได้กระเตื้องขึ้นสักทีหนี้สินต่างๆก็พอกพูน (โดยเฉพาะหนี้ค่าปุ๋ยค่ายาที่กู้สหกรณ์มา ดอกเบี้ยก็มโหฬาร ปุ๋ยยาก็คุณภาพย่ำแย่ 55)
คืนนั้นอากาศเริ่มหนาวสองผัวเมียเดินทางข้ามน้ำปิง ถึงฝั่งท่าแพแล้วชะลอแต่งตัวเก็บข้าวของอยู่ พลันก็แลไปเห็นสามเณรรูปหนึ่งยืนอยู่ใต้ต้นไม้มีผิวพรรณวรรณะผ่องใสคล้ายมีฉัพพรรณรังสีเปล่งออกเคลือบคลุมตัว ผัวเมียชาวนาก็ให้บังเกิดความศรัทธาขึ้นจับในใจ แต่ไม่รู้จะทำอย่างไรเพื่อฉลองศรัทธาแห่งตน
คิดได้ว่า คงมีแต่ของป่าผลหมากรากไม้ที่หาได้กะจะนำไปขายในเวียงนั่นแล ควรเจียดของทำกำไรเข้าถวาย คิดดังนี้จึงประกอบทานกิจการกุศลถวายของแด่เณร ซึ่งก็เณรคงไม่รู้จะรับอย่างไร ก็เปิดบาตรรับ เพราะนับเปนช่วงเวลาวิกาล ก่อนงานใส่บาตรปกติ จากนั้นจึงแยกมาพักรอจนกระทั่งประตูเมืองเปิดเมื่อย่ำรุ่งจึงเดินทางเข้าเวียง ออกเร่ขายสินค้าตามปกติ
แต่ครั้งนี้เกิดเหตุแปลกประหลาด จากเดิมเคยต้องเร่ขายอยู่นานหลายวันกว่าของจะหมดครั้งนี้เดินไม่ทันเหนื่อยสินค้าก็ขายหมดเกลี้ยงทำกำไรได้ส่วนหนึ่ง แถมได้กลับบ้านไวขึ้นต้นทุนค่าใช้จ่ายการใช้ชีวิตในเมืองก็ลดลง ครั้นแล้วปฏิบัติเช่นนี้เป็นระยะแม้ว่าจะไม่พบสามเณรนั้นอีก การเก็บหอมรอมริบขยันหมั่นเพียรก็ส่งผลให้มีฐานะมั่นคงขึ้นเป็นลำดับหนี้ก็ทยอยสูญ ทรัพย์สินกับเพิ่มพูนขึ้นมามหาศาล ผัวเมียก็ยินดีคอยประกอบการกุศลอยู่เนืองๆ
จนเมื่อวันหนึ่งได้พบกับพระอริยะผู้ใหญ่ซึ่งได้รับอาราธนามารับทาน จึงได้ทราบคำเฉลยว่า เหตุที่สองผัวเมียจากยากไร้กลับมีฐานะฟุ้งเฟื่องเรืองขึ้นได้เป็นเพราะได้ใส่บาตรกับพระอุปคุต สองผัวเมียก็แปลกใจว่าไปใส่ที่ไหนเมื่อไหร่? พระอาริยะผู้ใหญ่หัวเราะนิดหนึ่งจึงเฉลยว่าก็ใส่เมื่อตอนเที่ยงคืนที่บริเวณท่าแพหน้าประตูเวียง สองผัวเมียก็ยังเถียงว่าใส่บาตรครั้นเป็นเณรน้อยจะเปนพระอุปคุตอย่างไรได้
ท่านจึงให้คำตอบโดยกระจ่างว่าตามพุทธทำนายนั้นพระพุทธเจ้าทรงทำนายว่าพระอุปคุตจะเป็นพระอนุพุทธ ปฏิบัติหน้าที่แทนพระพุทธองค์ ซึ่งปกติแล้วจะทรงเล็งญาณในเวลาสงบสงัดก่อนเช้ามืด ว่ามีผู้ใดอยู่ในข่ายที่จะโปรดได้ แล้วจึงวางแผนเสด็จออกโปรดในยามเช้า
กิจอันนี้นี้พระอุปคุตก็สืบทอดปฏิบัติต่อมา ตัวพระอุปคุตเองนั้นท่านจำศีลอยู่ในนิโรธสมาบัติใต้น้ำลึก ทุกวันเพ็ญน้ำขึ้น จึงจะออกจากวิมานแก้วมาโปรดชาวโลก แต่สำคัญว่าท่านมิได้มาทุกวันเพ็ญหรอก ท่านจะมาแต่เฉพาะวันเพ็ญที่ตรงกับวันพุธเท่านั้น_ตรงกับภาษาเมืองว่าวันเป็งปุ๊ด_เพ็ญพุธ
ส่วนทีนี้ว่า ที่ตัวท่านจำแลงรูปกายออกมาเป็นเณรยืนอยู่ใต้ต้นไม้ ให้ใส่บาตร ก็อาจจะเป็นด้วยว่า การณ์อันท่านเคยเป็นแม่ทัพธรรมผู้ใหญ่มีสามเณรในปกครองมาก เมื่อท่านสำแดงปาฏิหาริย์การใส่บาตรเณรแล้วบังเกิดอานิสงส์ให้ผู้คนที่ใส่มีความจำเริญรุ่งเรืองขึ้น ครั้นต่อไปภายหน้าเจอเณรที่ใดพุทธศาสนิกชนนั้นไซร้ก็คงคิดอยากจะอุดหนุนจุนเจือเณรบ้างนอกจากจะใส่แต่บาตรพระ ด้วยคิดไปว่าใส่บาตรพระได้บุญมากกว่าใส่บาตรเณร
ประดาผู้คนทั้งหลายเมื่อได้ทราบอรรถกถาธรรมข้อนี้ก็จึงพร้อมใจกันสร้างวัดอุปคุตขึ้นในบริเวณที่สองผัวเมียได้พบกับสามเณรเรืองเดชผู้พระอุปคุตจำแลง เกิดเป็นที่ประดิษฐานรูปพระอุปคุตต่อมาจนบัดนี้
ส่วนกรณีงานศิลปะฝ่ายพระอุปคุตนั้นประดาศิลปินผู้ใหญ่สร้างพระอุปคุตโดยมั่นใจในข้อที่ว่าท่านมีลักษณะเป็นโพธิสัตว์สภาวะแม้จะบรรลุอรหันตธรรมแต่ก็ยั้งตนเองชะลออยู่ หลีกเร้น ไปจำศีลอยู่ในสะดือทะเล รอวันเวลาที่จะเปลี่ยนพระพุทธพุทธศักราชพระศรีอาริยะ เมตไตรเสด็จมาจึงจะหมดภาระเข้าที่พระอรหันต์สู่แดนนฤพาน
ดังนั้นท่านจึงมักประทับอยู่บนฐานที่ประดับ ไปด้วยกุ้งหอยปูปลาซึ่งเป็นบริวารของพระสมุทรบ่งบอกการประทับอยู่ใต้น้ำ ส่วนศีรษะของท่านมักมีใบบัวคลุมอยู่เหมือนกับหมวก บ่งบอกว่าท่านอยู่ใต้น้ำอีกเช่นกันและมักแสดงกิริยานั่งจกบาตร แต่หันศีรษะเพ่งมองขึ้นไปเบื้องบน (ต่างกับกรณีพระสิวลีซึ่งท่านจกบาตรแต่ไม่หันศีรษะ) พระอุปคุตแหงนศีรษะมองพระอาทิตย์ นัยหนึ่งคือตรวจว่าตรงศีรษะจะเลยเวลาฉันเพลเอา อีกนัยหนึ่งคือสะกดพระอาทิตย์ไว้มิให้เคลื่อนที่ เพราะเพิ่งจะรับนิมนต์ไปปราบมาร ยังไม่ทันได้ฉันเพลเลย พอๆกับ เสร็จกิจปราบมารแล้ว ยังไม่ทันได้ฉันเพล แล้วแต่ศิลปินจะตีความ ประเพณีเก่าเก่าในการอาราธนาพระอุปคุตนั้นชาวเมืองเหนือนิยมจะหาทางไปงมก้อนหินใหญ่ใต้น้ำลึกขึ้นมาให้ได้สักก้อนนึงแล้วจึงวางไว้ที่หน้ารูปพระ เป็นเครื่องแสดงถึงการมาถึงของท่านก่อนวันงาน
ซึ่งเบาะแสล่าสุดมีว่าทางเมืองเถิน เมืองลี้ที่เป็นเมืองเก่ามีวัดเวียงสร้างแต่สมัยยุคพระเจ้าอโศกมหาราชอยู่ยังมีศิลปะการวางหินหน้าพระแทนการถึงของพระอุปคุตอยู่ทุกวันนี้
ส่วนวันเพ็ญพุธในปีพุทธศักราช 2558 นั้นตรงกับคืนวันที่ 11 ต่อ 12 พ.ค. กับ 4 ต่อ 5 พ.ย. เหมาะนักที่ท่านทั้งหลายจะร่วมประเพณีตักบาตรเที่ยงคืนกันที่ตามพระอารามต่างๆ ในเมืองเหนือ เพราะเขาจัดกันยิ่งใหญ่สวยงาม ผู้คนล้นหลามคึกคัก และเผื่อว่าเผอิญได้เจอท่านแปลงมาตามตำนานอยู่บ้าง โดยเฉพาะสำหรับท่านที่นิยมและมีศรัทธาจริงจังมั่นคง
พระอุปคุปต์เป็นพระวิปัสนาจารย์ผู้มีชื่อเสียงแห่งแห่งนภัติกอาราม
ณ เขาอุรุมณฑ์ พระเจ้าอโศกได้ยินกิตติศัพท์ของพระอุปคุปต์ จึงปรารถนาจะไปสักการะ พระอุปคุปต์พร้อมพระอรหันตสาวกเดินทางมาหาพระเจ้าอโศกที่เมืองปาฏลีบุตร พระอุปคุปต์พาพระเจ้าอโศกจาริกไปสักการะสถานที่สำคัญในพระพุทธประวัติ