สะเปาคำ ยี่เป็ง และตักบาตรเที่ยงคืน

14 ธ.ค. 2567 | 06:20 น.
อัปเดตล่าสุด :14 ธ.ค. 2567 | 06:55 น.

สะเปาคำ ยี่เป็ง และตักบาตรเที่ยงคืน คอลัมน์ Cat out of the box โดย พีรภัทร์ เกียรติภิญโญ

KEY

POINTS

  • เทศกาลยี่เป็งในลำปางสะท้อนถึงการบูชาและการรำลึกถึงบุญคุณผ่านการจุดโคมผางประทีปและการลอยสะเปาคำ หรือเรือสำเภาทองคำ ที่มีความเชื่อว่าเป็นการส่งบุญให้แก่ผู้ล่วงลับ และแสดงถึงความสามัคคีของชาวล้านนา
  • การตักบาตรเที่ยงคืนเป็นประเพณีที่มีความหมายลึกซึ้งในชุมชนพุทธศาสนา แต่ก็มีคำถามเกี่ยวกับความเหมาะสมตามหลักพระวินัย โดยการปฏิบัติตามพิธีกรรมนี้อาจต้องปรับวิธีการเพื่อให้สอดคล้องกับหลักธรรม

สำหรับฉบับนี้ด้วยว่าท่านผู้อ่านกรุณาทักถามมาชวนคุยเกี่ยวกับเรื่องต่างๆในฉบับก่อนประกอบกันหลายเรื่อง เรื่องแรกก็ได้แก่ เรื่องของเจ้าสำเภาคำ เจ้าหญิงคนเก่งแห่งนครลำปาง

ซึ่งท่านเห็นว่าต้องออกเสียงเป็นคำเมืองเสียให้ถูกต้องว่าสะเปาคำ จึงจะได้อรรถรสกลิ่นอายเมืองเหนือโบราณก้าวออกมาจากตัวอักษรทักทายคุณผู้อ่าน ก็ขออนุญาตขอบน้ำใจ ท่านผู้อ่านซึ่งมีคุณในฐานะกัลยาณมิตรมา ณ โอกาสนี้

 

สะเปาคำ ยี่เป็ง และตักบาตรเที่ยงคืน

 

มาเมืองเหนือเวลานี้ จะสิ้นปีก็ใกล้กับเทศกาลลอยกระทงของภาคกลาง ซึ่งของภาคกลางที่ว่าวันเพ็ญเดือน 12 น้ำนองเต็มตลิ่งนั้น แต่เดิมทีทางล้านนาไม่ได้ทำการลอยกระทงกันหรอก แต่ว่าทำการจุดผางประทีปไฟโคม บูชาคุณของโพธิสัตว์แม่กาเผือก ผู้ซึ่ง ตามตำนานแล้วเปนผู้ให้กำเนิดพระพุทธเจ้าห้าพระองค์ การบูชานี้กระทำขึ้น ในรูปแบบต่างๆทั้งการจุดแล้วปล่อยลอยขึ้นฟ้าแบบที่เรียกว่าโคมยี่เป็ง (ซึ่งก็อีกนั่นแหละ ยี่เป็งก็คือวันเพ็ญเดือนยี่หรือวันเพ็ญเดือนสองนับตามคติล้านนา)

โดยจะใช้เส้นด้ายสั้นเป็นเกลียวแล้วทำกางออกขาสามขาเป็นรูปตีนกา วางลงบนถ้วยภาชนะดินเผาแล้วจึงหล่อน้ำมัน แล้วติดไฟวางตามสถานที่ต่างๆในลักษณะการบูชาไฟเกิดเป็นแสงสว่างมลังเมลืองสวยงามยิ่งนัก

 

สะเปาคำ ยี่เป็ง และตักบาตรเที่ยงคืน

 

พอถึงเทศกาลยี่เป็งแล้วช่วงเช้า ชาวล้านนาจะเข้าวัด ใส่บาตร ฟังเทศน์ ทานขันข้าวบรรพบุรุษที่ล่วงลับ ปล่อยโคมควัน ตกช่วงกลางคืน จะเข้าวัดอีกครั้ง เพื่อนำผางประทีปไปจุด แล้วกลับมาจุดตามบริเวณต่าง ๆ ในบ้าน เพื่อบูชาพระเจ้าห้าพระองค์และรำลึกถึงบุญคุณของสิ่งต่าง ๆ รอบตัว มีการเล่นดอกไม้ไฟบนฝั่งแม่น้ำหรือที่บ้าน แล้วปล่อยโคมลอย ถือเป็นประเพณีสนุกสนานรื่นเริงของชาวล้านนา ต่อมาจึงได้มีการนำวัฒนธรรมการลอยกระทงผนวกเข้าไปในประเพณียี่เป็งด้วย

ส่วนกรณีเรื่องสำเภาคำนั้น ก็เป็นประเพณีดั้งเดิมอีกเช่นกันที่ชาวล้านนาจะทำการสร้างเรือสำเภาทองคำจำลอง บรรจุข้าวของล่องไปในแม่น้ำ ตามตำนานเมืองลำพูน กล่าวถึงการลอยสะเปาทางน้ำในสมัยหริภุญไชยไว้ว่า คราวหนึ่งได้เกิดอหิวาตกโรคระบาดขึ้นในเมือง ผู้คนล้มตายเป็นจำนวนมาก คนเป็นจึงพากันอพยพหนีออกจากหริภุญไชยไปอยู่ที่เมืองหงสาวดี เมื่อโรคห่าอหิวาต์ได้สงบลงแล้ว จึงพากันเดินทางกลับคืนเมือง แต่ทว่าเกิดมีหลายคนไม่ได้กลับด้วยเนื่องจากมีครอบครัวใหม่อยู่ทางหงสา ผู้ที่กลับมาแล้วเมื่อเกิดคิดถึงญาติพี่น้องที่นั้น ในช่วงเดือนยี่เป็ง จึงได้จัดดอกไม้ธูปเทียนเครื่องสักการะ พร้อมทั้งเครื่องอุปโภคบริโภคใส่ลงใน “สะเปา” ลอยลงน้ำแม่ปิง น้ำแม่กวง เพื่อระลึกถึงกันโดยหวังใจว่าสำเภาคำจะล่องไปถึงหงสาวดี

การตีความเรื่องการลอยสะเปานี้ อีกนัยยะหนึ่งถือ เปนการทำบุญบริจาคทาน อุทิศส่วนกุศลแก่ผู้ล่วงลับ และแก่ตนเองในภายภาคหน้า โดยชาวบ้านช่วยกันทำสะเปารูปเรือลำใหญ่ วางบนแพไม้ไผ่ และนำสะตวง พร้อมด้วยข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ทั้งหม้อ ไห เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม เครื่องอุปโภคบริโภคใส่ลงไปในสะเปา ในช่วงหัวค่ำของวันยี่เป็ง จึงพาแห่ด้วยฆ้องกลองจากวัดไปลอยที่แม่น้ำ เมื่อสะเปาลอยไปได้ระยะหนึ่ง จะมีคนยากจนคอยดักรอสะเปากลางแม่น้ำ เพื่อนำเอาของอุปโภคต่างๆมาใช้อุปโภคและบริโภค เป็นประเพณีที่สวยงามและทรงคุณค่าอย่างมาก

 

สะเปาคำ ยี่เป็ง และตักบาตรเที่ยงคืน

 

ข้างการล่องสะเปาของฝ่ายชาวลำปางไม่ปรากฏหลักฐานเด่นชัดนักว่ามีมาตั้งแต่สมัยใด แต่ปรากฏในสมัยเจ้าบุญวาทย์วงษ์มานิต เจ้าผู้ครองนครองค์สุดท้าย ได้แต่งตกแต่งทำดาสะเปาหลวงที่หน้าคุ้ม สร้างเป็นรูปเรือแบบเรือสำเภา มีเสากระโดง มีโคมร้อย เป็นโคมราวเล็กๆ ก่อนจะแห่สะเปา เจ้าบุญยวาทย์ฯ จะกระทำพิธีสระเกล้าดำหัวลงในสะเปาก่อน หลังจากนั้นข้าราชบริพารและชาวเมืองนำสะเปาน้อย ตามแห่เป็นขบวนจากคุ้มหลวงลงที่ท่าน้ำ ชื่อท่าช้างเผือก (หลังจวนผู้ว่าราชการจังหวัดบัดนี้) ราษฏรฝั่งแขวงเวียงเหนือต่างก็ถือสะเปาน้อย ร่วมลอยพร้อมกันสองฝั่งแม่น้ำ กล่าวกันว่าพ่อเจ้าท่านโปรดประเพณีล่องสะเปา ตั้งชื่อพระธิดา ๒ องค์ว่า เจ้าหญิงสะเปาแก้ว และเจ้าหญิงสะเปาคำ เมื่อเสร็จพิธีแล้วเรือสะเปามาเกยตื้นที่เด่นสะเปา ที่ท่าน้ำแม่วัง จังหวัดลำปาง จึงได้ชื่อหมู่บ้านว่าบ้านสะเปาสืบมาจนถึงปัจจุบัน

เรื่องที่สองก็ว่าด้วยเรื่อง “การใส่บาตรพระอุปคุตเวลาเที่ยงคืน ข้าวของที่จะใส่บาตรน่าจะเป็นอะไรจึงจะไม่ขัดกับพระวินัยบัญญัติ” เพราะเวลานี้กระแสของอาจารย์เบียร์คนตื่นธรรมหลั่งไหลมาสู่หูตาของพุทธศาสนิกชนกึกก้องไปหมดว่าทำอะไรแล้วถูก ทำอะไรแล้วผิด ประดาคณะสงฆ์ก็ไม่ได้มีการรวมการณ์เฉพาะกิจให้เปนเอกเทศมาอรรถาธิบาย เป็นแต่เพียงพระสงฆ์ด่านหน้าออกมาชี้ซ้ายบ้าง ชี้ขวาบ้าง ถามธรรมะคืออะไร? ให้มึนงงกันไปหมดว่า ไอ้อะไรที่ทำนั้น ทำอย่างไงถึงจะถูก?!? ทั้งนี้ก็อาจเป็นด้วยเรื่องหลักความเชื่อว่าความจริงมีอยู่เพียงสิ่งเดียวซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ความจริงที่ยิ่งกว่าความจริงมันก็ยังมีอยู่อีก ระบบความคิดเรื่องของหนึ่งต่อหนึ่งนี้ไม่น่าจะเหมาะนักที่จะมีอยู่ในพหุสังคมอันหลากหลาย

 

สะเปาคำ ยี่เป็ง และตักบาตรเที่ยงคืน

 

ควรได้ทำความเข้าใจกัน ว่าผู้คนมีหลายหมู่หลายเหล่า ประดาความคิดความเชื่อความนับถือมีแต่แตกต่างกันออกไป ควรทำความเข้าใจกันในลักษณะ ‘มันเป็นอย่างนี้’ ในสัดส่วนที่มากกว่า ‘มันต้องเป็นอย่างนั้น’

ซึ่งอธิบายมากไปแต่กระเดี๋ยวไม่ถูกใจแกจะเอากระโถนมาเขวี้ยงเข้า หรือถ้าหากแกถูกใจ อีกฝ่ายก็อาจจะปีนเสาประท้วงให้วุ่นวายกันไปทั้งหมด55

การตักบาตรเที่ยงคืนนั้น ในเรื่องของเวลาการตักบาตรก็ดูจะขัดกับหลักคำสอนซึ่งถือกันมาว่าสว่างขนาดมองลายมือตัวเองเห็นแล้วจึงจะเหมาะ แต่คนก็ยังนิยมการตักบาตรเที่ยงคืนซึ่งโดยส่วนมากก็มองที่เจตนาหรือประโยชน์ที่ได้รับเป็นหลัก ซึ่งการจะอนุรักษ์พิธีกรรมนี้ให้คงอยู่นั้น อาจจะเป็นการปรับโดยจัดลำดับขั้นตอนพิธีการ เช่นว่า ให้เริ่มต้นงานตอนเที่ยงคืน มีการละเล่นการแสดง การรักษาศีลฟังเทศน์ฟังธรรมไปก่อน จนเมื่อตอนใกล้รุ่งสางจึงเริ่มการตักบาตร ก็จะเป็นเวลาที่เหมาะสมและไม่ขัดกับหลักธรรมวินัย

ส่วนอีกแนวทางหนึ่งถ้ายืนยันจะใส่ให้ได้ตามตำนาน ก็มาดูของที่จะใส่บาตรไม่ให้มันเกิดผิดวินัย กล่าวคือ มาดูเรื่องกาลิก 4 ประเภทของอาหาร 4 อย่างกัน อาหารประเภทยาวกาลิกได้แก่พวกข้าว เนื้อปลา พระรับมาแล้วเก็บไว้ได้เช้าถึงเที่ยง อาหารประเภทยามกาลิกได้แก่น้ำผลไม้น้ำปานะเก็บไว้ได้1วันกับ1 คืน ถ้าจะตักบาตรตอนเที่ยงคืน ซึ่งเป็นยามวิกาลอาหาร 2 ประเภทนี้ ไม่น่าจะเหมาะสม

 

สะเปาคำ ยี่เป็ง และตักบาตรเที่ยงคืน

 

แต่ถ้าใส่อาหารประเภทสัตตาหกาลิกได้แก่อาหารประเภทเนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำอ้อย ซึ่งท่านว่าสามารถเก็บไว้ได้ 7 วัน และ อาหารประเภทยาวชีวิก ได้แก่ พวกยาต่างๆซึ่งสามารถเก็บไว้ได้ตลอด โดยกาลิก 2 ประเภทหลังนี้ท่านว่าสามารถรับได้ตลอดเวลา นั่นหมายความว่าควรจะสามารถนำมาใส่บาตรได้ในตอนเที่ยงคืนหรือเครื่องอุปโภคต่างๆรวมถึงดอกไม้ธูปเทียนก็สามารถที่จะทำมาใส่บาตรเที่ยงคืนได้เช่นกัน สิ่งสำคัญคือการทำให้คนต่างๆทั้งผู้ร่วมงานและผู้รับรู้ให้เข้าใจให้เหมาะควรเกี่ยวกับพิธีการตักบาตรเที่ยงคืน เมื่อเข้าใจแล้วปัญหาก็จะไม่เกิดขึ้นและยังสามารถรักษาพิธีกรรมการตักบาตรเที่ยงคืนให้ยังคงอยู่สืบไปได้

เรื่องที่สามท่านขอให้ ขยายความเรื่องการที่พระอุปคุตท่านสามารถบรรลุธรรมแบบซ้อนในซ้อนอันนี้ ก็เรื่องมี

อยู่ว่าสาวใช้ของนางคณิกา_วาสวทัตตา ได้ไปซื้อน้ำหอมจากท่านอุปคุตเมื่อครั้งยังเป็นพ่อค้า กลับมาก็เพ้อพร่ำรำพันถึงรูปโฉมโนมพรรณ ความใจดี มีเสน่ห์ ของพ่อค้าหนุ่มให้นายหญิงฟัง

จนนายหญิงทนไม่ไหว สั่งให้ไปบอกพ่อค้าน้ำหอมว่าปกติแล้วราคาค่าตัวของนางต้องไม่ต่ำกว่า 500 กหาปณะ แต่สำหรับนายวาณิชอุปคุตผู้นี้ ยินดีให้เสพสุขฟรี ขอให้รีบมา เมื่อข่าวรู้ถึงหูนายวาณิชอุปคุต เขาฝากบอกสาวใช้ว่า “ยังไม่ถึงเวลาไปพบ”

 

สะเปาคำ ยี่เป็ง และตักบาตรเที่ยงคืน

 

ต่อมา นางวาสวทัตตา กำลังให้บริการบุตรนายช่างผู้หนึ่งอยู่ในโรงโสเภณีนคร สาวใช้มาแจ้งว่า มีพ่อค้ารายหนึ่งจับม้าป่าได้ถึง 500 ตัว มีความปรารถนาที่จะเสพสุขกับนางในคืนนั้น นางวาสวทัตตาเกิดความโลก ชั่งน้ำหนักแล้วเห็นว่าคงได้รับค่าตัวจากพ่อค้าม้าในราคาที่แพงกว่าบุตรนายช่าง นางกับพ่อค้าม้าจึงช่วยกันฆ่าบุตรนายช่าง โดยเอาศพไปหมกในกองขยะ

ต่อมาญาติผู้ตายได้มาฟ้องคดีต่อพระราชา พระราชาพิจารณาชำระความสั่งลงโทษ ให้ราชมัล นำนางวาสวทัตตา ไปตัดมือ ตัดเท้า ตัดหู ตัดจมูก แล้วนำไปทิ้งไว้แถวป่าช้าใกล้เชิงตะกอน จังหวะนี้ เมื่อนายวาณิชอุปคุตทราบข่าว จึงเดินทางไปพบนางที่สุสานแห่งนั้น โดยที่นางเองก็รู้สึกอับอายที่อยู่ในสภาพร่างกายจมกองเลือดหาความน่าพิสมัยมิได้ จึงถามออกไปว่า “ก่อนนี้เมื่อรูปโฉมเรายังงามล้ำค่า เราประสงค์จะพบท่านไฉนท่านจึงไม่มาพบเรา?”

ท่านอุปคุตหนุ่มตอบว่า “เมื่อเรือนร่างของนางยังถูกห่อหุ้มด้วยอาภรณ์อันวิจิตรผู้ประสงค์ออกจากวัฏสงสารก็ไม่ควรไปพบนางในขณะนั้น แต่ ณ บัดนี้ ข้าฯได้เห็นสภาพที่แท้จริงของนาง ได้เห็นโครงกระดูกอันน่าโสโครก ที่คลุกเคล้าไปด้วยความทุกข์โศก สมควรที่ข้าฯและนาง (คนนี้นั้น) ควรก้าวข้ามให้พ้นนาวาแห่งตัณหานี้”

 

สะเปาคำ ยี่เป็ง และตักบาตรเที่ยงคืน

 

ด้วยคำกล่าวสอนการพิจารณาสภาวะต่างๆตามความเป็นจริงนี้เอง นอกจากจะส่งผลให้ นางวาสวทัตตา ละสักกายยะทิฐฏิได้ บรรลุธรรมขั้นโสดาบันแล้ว นายวาณิชอุปคุต ผู้กล่าวคำเทศนา ได้ล้อมใจพิจารณาโดยละเอียดแจ่มแจ้ง ก็สำเร็จเป็นพระอนาคามี (ทั้งที่ยังไม่ได้บวช) ด้วยเช่นกัน เกิดเป็นเหตุซ้อนกันของผู้บรรลุธรรมในจังหวะเวลาพอดีกันทั้งสองท่านเลย

ส่วนเรื่องเหรียญพระอุปคุตทรงยืน ที่สวยงาม ประกอบภาพครั้งฉบับก่อนนั้น สร้างโดยคณะสงฆ์ผู้อุปัฏฐาก พ่อท่านผอม ถาวโร แห่งเมืองนครศรีธรรมราช ได้ นำเหรียญเข้าพิธีคืนวัน “เพ็ญพุธ” ณ วัดอุปคุต จ.เชียงใหม่ ขอบารมีต่อองค์พระอุปคุตเป็นปฐมฤกษ์เบิกความสิริมงคล ท่านผู้ร่วมอธิษฐานจิต มีหลวงปู่วิกรม วัดพระธาตุจอมกิตติ,  หลวงพ่อไพบูลย์ สุมังคโล, หลวงปู่โอภาส โอภาโส วัดจองคำ จ.ลำปาง (สวดบูชาพระอุปคุตเป็นภาษา มคธ) , หลวงปู่ครูบาเสน เขมจาโร วัดผาปังหลวง จ.ลำปาง, หลวงปู่สังข์ วัดป่าอาจารย์ตื้อ, หลวงปู่ประสิทธิ์ ฉันทาคโม, ครูบาคำตั๋น วัดย่าปาย, หลวงพ่อสมศรี อัตตสิริ วัดป่าผาน้อย วังสะพุง, หลวงปู่สนั่น จิณณธัมโม, หลวงปู่เจริญ วัดป่าพระธาตุเขาน้อย จ. ราชบุรี, หลวงปู่แปลง สุนทโร วัดป่าอุดมสมพร, หลวงปู่สนธิ์ วัดพุทธบูชา, หลวงปู่เหลี่ยม วัดภูตูมวนาราม วังสะพุง, หลวงปู่วงศ์ วัดป่าแก้วเจริญธรรม อ.วานรนิวาส, หลวงพ่อพัลลภ วัดราชผาติการาม, หลวงปู่ไม อินทรสิริ วัดป่าเขาภูหลวง อ.วังน้ำเขียว โดย พ่อท่านผอม ถาวโร เมตตาอธิษฐานจิตปิดท้าย