ซุ้มเรือนแก้ว

04 ม.ค. 2568 | 03:50 น.
อัปเดตล่าสุด :04 ม.ค. 2568 | 03:58 น.

ซุ้มเรือนแก้ว คอลัมน์ Cat out of the box โดย พีรภัทร์ เกียรติภิญโญ

KEY

POINTS

  • พระพุทธชินราช หนึ่งในพระพุทธรูปที่มีความงดงามที่สุดในประเทศไทย ได้รับการยกย่องจากผู้คนทั้งในและต่างประเทศมาอย่างยาวนาน องค์พระสง่างามสะท้อนถึงความศรัทธาของประชาชนไทยตลอดประวัติศาสตร์ ขณะเดียวกัน ซุ้มเรือนแก้วที่ประดับอยู่เบื้องหลังองค์พระยังเพิ่มความอลังการให้แก่องค์พระได้อย่างน่าทึ่ง
  • พระพุทธชินราชไม่เพียงแต่เป็นศิลปะที่งดงามและเป็นสัญลักษณ์แห่งศรัทธาเท่านั้น แต่ยังเป็นแหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์และศิลปะพุทธศิลป์ที่สำคัญของไทย ความงามขององค์พระที่สะท้อนทั้งในด้านประวัติศาสตร์ ศิลปะ และสุนทรียศาสตร์ ส่งผลให้เป็นที่นับถือและดึงดูดผู้คนจากทั่วโลกมาสักการะบูชา

พระพุทธรูปสำคัญในบ้านเมืองไทยเรา พระองค์ที่มีความงดงามจับใจเป็นที่ยอมรับของประดาสาธุชนทั้งไทยและเทศมาเป็นเวลายาวนาน พระองค์หนึ่งคงจะหนีไม่พ้นพระพุทธชินราชที่ประดิษฐานอยู่กลางเมือง พิษณุโลก

ความงามงดขององค์พระพุทธชินราชพระองค์นี้เป็นที่เลื่องลือจน เกือบจะไม่สามารถบรรยายเปนตัวอักษรได้ แต่ทว่าจากปากคำของท่านผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองหลายยุคสมัย อาจจะพอนำเสนอบทพรรณนา อันเป็นที่จับใจยกมาพอเป็นตัวอย่างได้ เช่นว่า คราวเมื่อ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ พาฝรั่งไปชมพระพุทธชินราช ทรงบันทึกว่า “...พวกฝรั่งพากันออกปากว่ายังไม่เคยเห็นของโบราณที่แห่งอื่นในเมืองไทยจับใจImpressive เหมือนพระชินราช...”

ในขณะที่คุณหลวงบริบาลบุรีภัณฑ์ (ศาสตราจารย์และคณบดีคณะโบราณคดีคนแรกของมหาวิทยาลัยศิลปากร) บันทึกว่า “....ข้าพเจ้าเคยไปราชการที่จังหวัดพิษณุโลกกับฝรั่งหลายคราว เขาเคยกล่าวแก่ข้าพเจ้าว่า พระพุทธรูปองค์นี้สวยเหลือเกิน เขาอาจนั่งดูอยู่ในวิหารนี้ได้โดยไม่เบื่อตั้ง 2-3 ชั่วโมง”

“บางคนถึงกับกล่าวว่าเขารู้สึกอิจฉาคนไทยมากที่มีพระพุทธรูปงามเช่นนี้ ฯลฯ”

“ถ้าท่านเป็นคนไทย...ความงามของพระพุทธชินราชจะปรากฎแก่ท่านในขณะที่นั่งอยู่ในวิหาร ถึงทำให้น้ำตาไหลออกมาได้โดยไม่รู้สึกตัว...”

ซุ้มเรือนแก้ว

ในขณะที่จอมปราชญ์อย่างพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ได้มีพระราชปรารภถึงความงามของพระพุทธชินราชไว้ว่า “...พระพุทธชินราช ตั้งแต่ข้าพเจ้าได้เห็นพระพุทธมานักแล้ว ไม่เคยรู้สึกว่าดูปลื้มใจจำเริญตาเท่าพระพุทธชินราชเลย...ถ้าพระพุทธชินราชยังคงอยู่ที่พิษณุโลกตราบใด เมืองพิษณุโลกจะเป็นเมืองที่ควรไปเที่ยวอยู่ตราบนั้น ถึงในเมืองพิษณุโลกจะไม่มีชิ้นอะไรเหลืออีกเลย ขอให้มีแต่พระพุทธชินราชเหลืออยู่แล้ว ยังคงจะอวดได้อยู่แล้ว ยังคงจะอวดได้อยู่เสมอว่ามีของควรดูควรชมอย่างยิ่งอย่างหนึ่งในเมืองเหนือหรือจะว่าในเมืองไทยทั้งหมดก็ว่าได้...”

ซึ่งหากเราจะทดลองถอดรหัสเพื่ออธิบายถึงปรากฎตการความซาบซึ้งในความงดงามของพระปฏิมาพระพุทธชินราชองค์นี้ ก็อาจพบคุณค่าที่แทรกอยู่ในงานพุทธศิลป์ชั้นยอดนี้ อยู่อย่างน้อยสัก 3 ประการ คือ คุณค่าทางประวัติศาสตร์ คุณค่าทางศิลปะ และคุณค่าทางสุนทรียศาสตร์ที่ส่งผลถึงจิตใจภายในของผู้สักการะบูชา และเป็นที่น่าเชื่อว่าความงดงามทางสุนทรียศาสตร์นี่เองที่ยังความศรัทธาปสาทะให้เกิดขึ้นในหมู่

พุทธศาสนิกชนโดยเฉพาะท้าวพระยามหากษัตริย์ในอดีตที่ท่านมีความประทับใจตราตรึงถึงกับมีพระราชศรัทธาอุทิศถวายสิ่งสำคัญในพระองค์เปนพุทธบูชาแด่องค์พระพุทธชินราช

ในสมัยกรุงศรีอยุธยา หลังชนะศึกที่เมืองหงสาวดี สมเด็จพระนเรศวรเปนเจ้า เสด็จพระราชดำเนินมานมัสการพระพุทธชินราช และทรงเปลื้องเครื่องต้น (เครื่องทรงฉลองพระองค์) ถวายเป็นสักการะบูชา ต่อมาในรัชกาล สมเด็จพระเอกาทศรถ เมื่อเสร็จศึกมอญเขมร ได้เสด็จพระราชดำเนินขึ้นไปนมัสการพระพุทธชินราช และรับสั่งให้นำทองนพคุณ เครื่องราชูปโภคมาแผ่เป็นทองแผ่นปิดพระพุทธชินราช

ซุ้มเรือนแก้ว

ลุถึงสมัยรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งยังทรงพระผนวชเป็นพระวชิรญาณภิกขุ เสด็จพระราชดำเนินประพาสหัวเมืองเหนือ ได้ทรงพระราชอุทิศกำไลข้อพระกรหยกสวมถวายที่นิ้วพระหัตถ์พระพุทธชินราชเป็นพระพุทธรูปบูชา

ส่วนพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น “ได้ถวายเครื่องบรรณาการแลต้นไม้ทองเงินแล้วถวายสังวาล...แลได้ถวายแพรคาดสะพักพระบาทสมเด็จฯ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งพระอัยยิกาเธอ กรมหลวงวรเสรฐสุดา ประทานที่ได้ใช้อยู่เสมอเปนเครื่องบูชา”

ครั้นพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วย สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีเลียบมณฑลฝ่ายเหนือและมณฑลพายัพได้เสด็จพระราชดำเนินถึงวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ เมืองพิษณุโลก ทรงสักการะพระพุทธชินราช ก็ทรงเปลื้อง เครื่องราชอิสริยาภรณ์ อันเป็นโบราณมงคลนพรัตนราชวราภรณ์ถวายคล้องที่นิ้วพระหัตถ์พระพุทธชินราช ส่วนสมเด็จพระบรมราชินีถวายผ้าทรงสะพักครุยกรองทอง

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี้พันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินไปยังวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ราชวรวิหาร เพื่อทรงสักการะบูชาพระพุทธชินราช ในการนี้พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรฯ ทรงเปลื้องเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นโบราณมงคลนพรัตนราชวราภรณ์ ถวายคล้องที่นิ้วพระหัตถ์พระพุทธชินราช สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงเปลื้องผ้าทรงสะพักถวายพระพุทธชินราช เป็นพุทธบูชา

ซุ้มเรือนแก้ว

จนเมื่อปลายรัชกาล พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะดำรงพระอิสริยยศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ในการถวายสังวาลนพรัตนราชวราภรณ์แด่พระพุทธชินราช

ตำนานเมืองพิษณุโลกกล่าวไว้ว่าพระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกมหาราชแห่งเมือง เชียงแสน เสด็จมาตีเมืองสองแควได้ราวก่อนปีพุทธศักราช ๑๕๐๐ จึงได้สร้าง เมืองขึ้นมาใหม่ มีนามว่าเมืองพิษณุโลก

เมื่อสร้างเมืองเรียบร้อยแล้ว จึงมีพระราชศรัทธาสร้างวัดประจำเมืองขึ้น คือวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ และได้หล่อ “พระพุทธรูป ๓ องค์ ได้แก่ พระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์ และพระศรีศาสดา” มีขนาดลดหลั่นกันลงมา ส่วนช่างหล่อนั้นได้ช่างฝีมือดีมาจากเมืองศรีสัชนาลัยสวรรคโลก และสุโขทัยมาหลายคน ชื่อ บาอินทร์, บาพรหม, บาพิษณุ, บาราชสังข์, บาราชกุศล แล้วจึงให้ประชุมช่างผู้ชำนาญกับช่างชาวเชียงแสน ให้ช่วยกันปั้นหุ่นพระพุทธรูปทั้ง ๓ องค์ มีสัณฐานทรวดทรงคล้ายคลึงกัน จึงอาราธนาพระอุบาลี และพระศิริมานนท์ วัดเขาสมอแครงเป็นประธานฝ่ายสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์มหามงคลทำสัจจะกิริยาธิษฐานชุมนุมเทพยดา พราหมณ์ทำพิธีตามพราหมณศาสตร์

ครั้นถึงวันพฤหัสบดีขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๔ ปีเถาะสัปตศก จุลศักราช ๓๑๗ ตรงกับพุทธศักราช ๑๔๙๘ ได้

เททองหล่อพระพุทธรูปทั้งองค์ ด้วยเนื้อทองสำริด เมื่อแกะพิมพ์ออกเกิดเป็นเหตุอัศจรรย์ขึ้น คือพระพุทธชินสีห์และพระศรีศาสดา มีน้ำทองแล่นตลอดถึงกัน เป็นการสำเร็จเพียงแค่ ๒ องค์แต่พระพุทธชินราชนั้นหล่อครั้งแรกน้ำทองไม่เดินแล่นสมบูรณ์ ต้องปั้นหุ่นขึ้นมาใหม่ และหล่อใหม่ถึง ๓ ครั้งก็ไม่สำเร็จพระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกไม่ละเลิกความพยายามทรงตั้งสัตยาธิษฐานและ ขอให้พระนางประทุมราชเทวีอธิษฐานร่วมด้วย จึงให้จัดหุ่นพระพุทธรูปใหม่ ตามตำนานเล่าว่า เกิดมีซีปะขาวคนหนึ่งเข้าช่วยปั้นหุ่นทำการแข็งขันทั้งกลางวันกลางคืนไม่พูดจากับใคร จนหุ่นสำเร็จงดงาม

ซุ้มเรือนแก้ว

กระทั่งเมื่อวันพฤหัสบดีขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๖ ปีมะเส็งนพศก จุลศักราช ๓๑๙ มีดำรัสสั่งให้อาราธนาชุมนุมพระสงฆ์และพราหมณ์ ทำการมงคลพิธีเหมือนครั้งก่อน การหล่อครั้งนี้ทองแล่นเต็มสมบูรณ์ ชีปะขาวที่มาช่วยก็เดินออกจากที่นั้นไป ออกทางประตูเมืองด้านทิศเหนือไปถึงตำบลหนึ่งก็หายไป ตำบลนั้นจึงมีชื่อว่า ‘บ้านชีปะขาวหาย’ มาจนทุกวันนี้

เมื่อทำการขัดแต่งองค์พระพุทธรูปชักเงาอย่างทองสำริด ไม่ได้ปิดทอง เส้นรอบนอกพระวรกายอ่อนช้อย พระขนงโก่ง พระเกตุมาลาเป็นเปลวเพลิง พระหัตถ์มีปลายนิ้วทั้งสี่เสมอกันซึ่งเป็นลักษณะพิเศษเรียกว่า ทีฒงฺคุลี แล้วจึงอัญเชิญพระพุทธรูปทั้ง ๓ องค์เข้าประดิษฐานไว้ในสถานที่ ๓ แห่ง คือ พระพุทธชินราช ประดิษฐานในพระวิหารใหญ่ทิศตะวันตกของพระมหาธาตุ ผินพระพักตร์สู่แม่น้ำ, พระพุทธชินสีห์ อยู่ทิศเหนือพระศรีศาสดา อยู่ทิศใต้

อย่างไรก็ดีองค์ประกอบทางศิลปะอย่างหนึ่งที่ไม่สามารถปฏิเสธได้เลยว่าเป็นเครื่องเชิดชูความงดงามขององค์พระให้มีความอลังการสวยสง่าขึ้นอีกหนึ่งขั้นเป็นขั้นที่สูงขึ้นไปนั้นก็คือเรือนแก้ว_ซุ้มเรือนแก้ว ที่ประดับอยู่เบื้องหลังพระปฏิมา

ซึ่งตามตำนานว่าได้ดำเนินการจัดสร้างขึ้นในภายหลัง ในสมัยกรุงศรีอยุธยา และเป็นการแกะสลักจากไม้เนื้อแข็ง ปิดทอง แกะสลักเป็นรูปมกร (ลำตัวคล้ายมังกร มีงวงคล้ายช้าง) อยู่ตรงปลายซุ้ม และตัวเหรา (คล้ายจระเข้) อยู่ตรงกลาง และมีเทพอสุราคอยปกป้ององค์พระอยู่ 2 องค์

ซุ้มเรือนแก้วนี้คืออะไร?

คำว่าเรือนแก้ว มีที่มาจาก “รัตนฆระ” รัตนะ แปลว่า แก้วอันประเสริฐ ส่วน ฆระ แปลว่า เรือน

หลังการตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ หรือตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เองของพระสมณโคดมนั้น พระอินทร์ได้เนรมิตซุ้มเรือนแก้วถวายในสัปดาห์ที่ ๔ นัยยะว่าเป็นสถานที่สำหรับนัยยะว่าเป็นสถานที่สำหรับเสด็จประทับเพื่อเสวยวิมุตติสุข

บางตำรากล่าวว่า ซุ้มเรือนแก้วไม่ใช่เครื่องประดับตกแต่ง หากแต่หมายถึง พระรัศมีประภาฆณฑล หรือแสงสว่างรอบกายของพระพุทธเจ้า อันถือว่าเป็น 1 ใน 32 ของมหาปุริส ลักษณะ_ลักษณะของมหาบุรุษของท่าน ในพระไตรปิฎกกล่าวว่ารัศมีของพระพุทธเจ้านั้นแผ่ออกไปรอบ พระวรกายถึง 1 วา ประกอบด้วยสี 6 สี คือ นีละ สีเขียวเหมือนดอกอัญชัน, ปีตะ สีเหลืองเหมือนหรดาลทอง, โลหิตะ สีแดงเหมือนตะวันอ่อน,โอทตะ สีขาวเหมือนแผ่นเงิน, มัญเชฐ สีแดงเหมือนดอกหงอนไก่, ประภัสสร สีเหลือบเลื่อมพรายเหมือนแก้วผลึก พระรัศมีหรือประภามณฑลของพระพุทธเจ้าในนั้นนั้นมีความ ‘โอภาส’ ขนาดผู้ใดได้พบเห็นถึงขั้นกับมีความปลื้มปีติเป็นล้นพ้น ถึงขนาดทำให้ใจปลื้มปริ่มปืติถึงขั้นดวงตาเห็นธรรมได้เลยทีเดียว

คำกล่าวนี้ไม่น่าเกินจริงเพราะยามเมื่อได้ยลความงามของซุ้มเรือนแก้วพระพุทธชินราช ความปิติอิ่มเอิบใจ ซาบซึ้งก็บังเกิดขึ้นแก่ผู้ชมในทันที ซุ้มเรือนแก้วของพระพุทธชินราช ปรากฏ ตัวทักทอ (ทัก-กะ-ทอ) คาบแก้วที่บริเวณพระชานุทั้งสองข้าง ทักทอมีรูปลักษณ์คล้ายกับนาคมีขามีงวง และภายในปากของตัวทักทอมีลูกแก้ว บางที่แลคล้ายกับคชสีห์ (ผสมกันระหว่างราชสีห์กับคชสาร) แต่มีลักษณะที่เล็กกว่า ขนบนหัวกระดกตั้งและมีเครา การที่ศิลปินนำตัวทักทอคาบแก้วซึ่งเป็นสัตว์หิมพานต์มาเป็นส่วนประกอบหนึ่งของซุ้มเรือนแก้วพระพุทธชินราช นอกจากเป็นการสร้างขึ้นเพื่อประดับตกแต่งให้องค์พระพุทธชินราชงดงามแล้ว ยังเป็นการสะท้อนตำนานการทำหน้าที่ของตัวละครสัตว์วิเศษที่ทำหน้าที่อุปถัมภ์ค้ำชูพระพุทธศาสนาน้อมถวายแก้วหรือดวงอัญมณีที่มีค่าเพื่อเป็นพุทธบูชาแด่องค์สมเด็จพระพุทธองค์

(ต่อตอน 2)