KEY
POINTS
5-6 ปีมานี้ สถานศึกษาต่างๆทั้งของรัฐของเอกชนพยายามกันมาก ที่จะปลุกปั้นเยาวชนให้เป็น “เจ้าของกิจการ” แทนที่จะผลิต “แรงงาน” ไปตอบสนองความต้องการของธุรกิจต่างๆอย่างที่เคยเป็นมาในทศวรรษก่อนๆ โดยบางทีก็รู้บ้างไม่รู้บ้างว่าการณ์ อันเรียกว่าประกอบกิจการคืออะไร?
หรือบ้างที่ก็ถูกวิจารณ์ว่าที่รู้ก็ไม่ลึกซึ้งเพราะไม่เคยเป็นผู้ประกอบการมาก่อน เป็นแต่นักวิชาการสังเกตสังกาแวดวงธุรกิจและวิเคราะห์นั่นนี่ เอามาทำการเรียนการสอน55 ไปถึงความเห็นชนิดที่ว่า ที่จริงควรต้องให้ระดับเจ้าของมหาวิทยาลัยมาเป็นคนสอนเองทั้งหลักสูตร เพราะนั่นล่ะเจ้าของกิจการตัวจริง555
ข้างฝ่ายนักประกอบการ (Venture) ก็พอกัน องค์ความรู้จากประสบการณ์/บาดแผลตัวเองมีเยอะด้วยผ่านศึกการค้ามามาก แต่ทว่าตนเองก็ไม่ยอมแพร่งพราย trade secrets เหล่านี้ออกไปบอกใคร (ทั้งยังได้รับการคุ้มครองตามกฏหมายว่าเปนทรัพย์สินทางปัญญา) จึงทำให้รายวิชา “พ่อค้า ” หรือ entrepreneurial (s) ดูจะเป็นเรื่องลึกลับอยู่มาก ซึ่งพอถึงอีจุดคำว่าลึกลับนี้ก็ตรง concept (ความคิดรวบยอด) คอลัมน์นี้พอดีที่จะต้องมีหน้าที่ตีแผ่ เปิดกล่องใส่แมวให้มันโดดแผล็ว out of the box ออกมาโชว์ตัว!
การณ์ อันคำว่าประกอบการนั้นถ้าเติม (ณ์ ) เข้าไปเป็นประกอบการณ์ มันน่าจะควรบ่งนิยามความหมายที่กว้างกว่าเดิม, ใหญ่กว่าเดิม, ลึกซึ้งกว่าเดิม ซึ่งมีลักษณะบ่งไปอย่างว่าแค่ธุรกิจ = กิจการ ( Business ) เพราะคำว่าการณ์ นั้นหมายถึง เหตุ/เค้า กว้างกว่าอย่างว่าปรากฏการณ์_อุบัติการณ์ incidence
ไม่เชื่อลองเทียบคำว่าธุรกิจโดยใส่การเข้าไปแทนจะได้คำว่า ธุรการ_ว๊าย_ เล็กจัง 55
การยั่วล้อต่อขนบธรรมเนียมของไวยากรณ์เช่นนี้ อาจดูคล้ายว่านักเขียนละเมิดศีลของวัฒนธรรมศาสตร์อักษร แต่นี่เองคือตัวอย่างในการริเริ่มอะไรใหม่ๆ ซึ่งอาจจะใช้ได้ หรืออาจจะล้มเหลว ซึ่งการเป็นผู้ประกอบการณ์ ทางงานเขียนควรต้องเป็นอย่างนี้มากกว่าการเป็นแรงงานนักเขียนตามกรอบซึ่งผู้ประกอบการราชบัณฑิตกำหนดขีดให้ผิดถูกเป็นของตายตัว จนจะกลายเป็นว่าไม่มีอะไรใหม่ๆเกิดขึ้นบ้างในโลก
คำว่า Entrepreneurials จึงควรปรากฏขึ้นในโลกอักษร เพื่อให้บอกความหมายถึงสิ่งละอันพันละน้อยบนวิถีประกอบการณ์ หรือเส้นทางของผู้ประกอบการ (ณ์ ) อย่างคำว่า materials กันบ้าง โดยมีลักษณะเปนคำนาม มากกว่าคำคุณศัพท์ (adjective)
สัปดาห์นี้เจอหนังสือดีเล่มหนึ่งเป็นของสำนัก MONOCLE ในอังกฤษ (และสวิส) ตัวหนังสือนี้เขาให้ชื่อว่า“THE MONOCLE BOOK of ENTREPRENEUR : How to run your own business & find a better quality of life” ซึ่งช่างตรงเผงกับศัพท์ประดิษฐ์ใหม่ว่า ประกอบการณ์ เนื่องจากเดิมทีการประกอบการที่มีการเรียนการสอนกันนั้น เน้นไปแต่ในเรื่องทำเงินทำกำไร ROI - Return On Investment ไม่ค่อยยอมจะขยายให้ลึกลงไปหรือกว้างออกไปจากนี้
โมโนเคิล เล่มนี้ได้จุดประกายให้เห็นว่า “ลึกๆ” แล้วคนเราคิดอะไรถึงอยากจะเป็นผู้ประกอบการ? และ เหตุไรจึงมีคนอยากเลือกวิถีทางเดินนี้ แล้วถ้าประกอบการแล้วมันไม่รวยจะทำอย่างไร?- นี่มันบั่นทอนหัวใจ(ความตั้งใจ) ของคนเลือกทางเดินรึเปล่า ?
หนังสือเขาค่อนข้างแพงมี 200 หน้าราคาเล่มละ 1,600 บาท หารแล้วตกราคาหน้าละ 8 บาทก็กลั้นใจซื้อมาศึกษา บางส่วนเห็นว่ามีประโยชน์ก็เอามาผสมผเสกับเหตุที่ประสบมา รวมใหม่ให้เป็นงานบันดาลใจบริการคุณผู้อ่าน
ถึงบรรทัดนี้ขออนุญาตคุณผู้อ่านแวะพักเพื่ออนุสรณ์คำนึงถึงท่านผู้ใหญ่คนสำคัญในบ้านเมือง ผู้ซึ่งเฝ้าทำงานเล็กๆที่มีความหมายยิ่งใหญ่ ด้วยคำว่า โมโนเคิลนี้พูดถึงทีไร ใจต้องกระหวัดไปคิดถึงท่าน คือ หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี ผู้อำนวยการโครงการหลวง และประธานมูลนิธิโครงการหลวงผู้ล่วงลับไปในชันษา 100 ปีเศษ
ด้วยว่ากิตติคุณและเส้นทางชีวิตของท่านภี เสียสละมามาก และโลดโผน เสี่ยงตายก็หลายคราว เมื่อครั้งสงครามโลกบุก ท่านอาสาเข้าไปเปนทหารในกองทัพอังกฤษ ยอมไปอยู่เหล่าที่สนับสนุนการช่วยรบตกเปนที่ดูแคลนในสายตาคนอังกฤษแท้ๆ แต่ต่อมาสัมพันธมิตรให้ท่านฝึกเปนสายลับ ก็การปฏิบัติหน้าที่ในขบวนการเสรีไทยยุคนั้น ท่านต้องลักลอบหนียี่ปุ่นข้ามน้ำข้ามทะเลเข้ามาปฏิบัติการลับทาง สุราษฯ หลบตัวอยู่ตามบ้านเจ้าหน้าที่ฝ่ายบ้านเมืองไทยที่รักชาติ ตั้งใจปฏิญาณทำหน้าที่เพื่อปลดแอกชาติไม่หวังรับผลตอบแทนหรือรางวัลสินจ้างเกียรติยศใด แม้ถูกจับติดคุกก็ต้องแกล้งไม่แสดงตัว เข้ากรุงเทพแล้วแม้เดินสวนกับพระมารดาตัวเองในตลาดก็ทักไม่ได้_จะเสียลับ รับหาเชื่อมโยงเครือข่ายของสัมพันธมิตรในประเทศไทยโดยเสี่ยงภัยนานับประการ
เสร็จสงครามก็ติดยศร้อยเอกอังกฤษ มาถวายงานสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตั้งแต่ครั้งรัชกาลที่แปด ข้างพี่สาวท่าน ซึ่งก็ถูกคอมมิวนิสต์ยิงใส่ ฮ. ต้องสิ้นชีพพิตักษัยไปในราชการ ตัวท่านคราวไปทำงานบริษัทฝรั่ง ก็หนุน ม.ร.ว. ถนัดศรีฯ คุณชายยอดนักชิมให้เปิดคอลัมน์เชลล์ชวนชิมจนโด่งดังเรื่อยมา
จนเมื่อเข้ามาถวายงาน ร. 9 เต็มตัว ท่านต้องดีลกับหน่วยงานพิเศษของอเมริกา หาทางแก้ปัญหาฝิ่นชาวเขา เดินเท้าลัดเลาะบนป่าสันดอยทุรกันดารมาตลอด ท่านมีสุขภาพเเข็งแรง เเล่นเรือใบข้ามอ่าว อดทนตรากตรำต่อสถานการณ์แหลมคมทุกประการ เข้ากับชาวบ้านชาวเขาบนดอยได้ดียิ่ง แต่ใครเลยจะรู้ว่าท่านชายมีสายพระเนตรข้างเดียว จะอ่านอะไรใส่แว่นเดี่ยว_โมโนเคิลเอา ด้วยท่านสูญเสียการมองเห็นไประหว่างการฝึกทหารในอินเดีย
รูปนี้ท่านแต่งตัวมินิมอล ภาษาไทยต้องว่าท่านนอกราชการ (ไม่มีบ่า) แต่แท้จริงแล้วนั้นท่าน ‘รับ’ ราชการเต็มตัว ติดแต่ปกคอใบเทศทองแล้วฉลองพระองค์แบบมินิมัล คาดสายสะพายจุลจอมเกล้าชั้นหนึ่ง ท่านก็ทรงแค่ดาราเพชรติดอก ตรารัตนาภรณ์ชั้นทองคำฝังเพชร ส่วนที่ห้อยพระศอ รอบคอท่านอยู่นั้นไม่ใช่สร้อยสังวาลย์อะไร เป็นแว่นตาเลนส์เดียวที่เรียกว่าโมโนเคิลนี้เอง
ชีวิตโลดโผนและปรัชญาการประกอบการณ์ของท่านภีฯ ท่านผู้สนใจสามารถศึกษาต่อได้เองจาก ‘หนังสือชีวิตชั้นๆ’ และ ‘ชีวิตเสี่ยงๆ’ ซึ่งเป็นอัตชีวประวัติของท่าน ส่วนการณ์ อันคนเราคิดจะเป็นผู้ประกอบการนั้น ลึกๆลงไปแล้ว อาจไม่ใช่เรื่องเงินทองอย่างเดียวก็ได้ คนเก่งสมัยนี้รับจ้างแรงงานได้เงินเดือน 300,000 - 400,000 บาท มีถมเถ แต่ผู้ประกอบการ (ผปก.) รายเล็กๆ ที่มีหัวใจสู้กับความเสี่ยง/ความไม่แน่นอน ( Ad-venture) อาจมีรายได้บางเดือน 10,000 บาท บางเดือน 100,000 บาท หรือบางเดือนขาดทุนมาก ก็ยังมีอยู่ถมไป ทั้งที่ทั้งสองคนก็เก่งเหมือนๆกัน เป็นเพื่อนกันมาแต่เล็กและสำเร็จปริญญาจากสถาบัน/สาขาเดียวกัน เริ่มงานเป็นลูกจ้างพร้อมๆกันมาก่อน ที่เป็นดังนี้นิตยสาร Monocle เชื่อว่าเป็นเพราะคนหลังนี้เขาเลือกวิถีชีวิตของการที่ยอมแบกรับความไม่แน่นอนต่างๆ แลกกับความเป็นอิสรภาพในการดำเนินชีวิตต่างหาก! จริงอยู่ว่าทุกสิ่งไม่มีอะไรฟรี-มีราคาต้องจ่าย
แต่ วิธีจ่ายนั่นเองที่น่าสนใจตัว Monocle เองระบุปรัชญาของเขาไว้ว่าตั้งใจจะนำส่ง …healthy dose of quality experience to an international audiences จึงรวบรวมประสบการณ์คุณภาพจากผู้ประกอบการ(ณ์) รอบโลกมาใส่ไว้ในหนังสือนี้
บางจุดที่น่าสนใจมากๆ เช่น เมื่ออ่านของเขาแล้วมันชวนให้คิดต่อวิเคราะห์ต่อถึงความแตกต่างระหว่างคำว่า Owner, Innovator, Collaborator, Dealer และ Creator - ใช่เลยไอ้ที่ว่าคุณจะเป็นผปก.นั้น คุณคิดจะเป็นคนไหนใน 5 คนนี้ -โปรดเลือก!
ทีนี้เพื่อมิให้เสียอรรถรสของท่านผู้อยากได้ไปซื้ออ่านเอง ก็จะหยิบเกร็ดบางส่วนออก มาประสมกับประสบการณ์ เป็นหัวเรื่อง เรียงบ้างไม่เรียงบ้าง ตามสไตล์ของคอลัมน์เพื่อนำเสนอความประทับใจมายังท่านผู้อ่าน ต้นไม้ออกดอกช้าฉันใด - การประกอบการเป็นไปฉันนั้น โมโนเคิลเสนอว่า ผปก. ต้องมี good ideas + solid vision ซึ่งหมายว่าคนเราจะประกอบการต้องไม่ใช่แค่เห็นโอกาสทำเงินเท่านั้น vision (วิสัยทัศน์) ต้อง solid - แข็ง, แทง, คม, ทน อันจะกล่าวต่อไป
solid vision อันนี้แหละจะนำไปสู่ long-term commitment ของ ผปก. ด้วยว่าการก่อสร้างสร้างกิจการนั้นต้องใช้เวลา ทำๆหยุดๆอาจจะได้ แต่ทำๆเลิกๆ_ไม่ได้เลย ซึ่งเหตุที่ทำให้เลิกนี้นั้น เป็นเพราะ vision ไม่ solid, commitment เลยต่ำ เมื่อมี solid vision แล้วมี commitment แล้วที่เหลือคือการลงทุนในเวลา (invest in time) -ให้เวลาสำหรับต้นไม้ธุรกิจนี้เติบโต
“ทำการค้าอย่าบ่นว่าไม่มีทุน ขึ้นอยู่กับตัวเราจะสร้างความเชื่อถือให้เขาได้แค่ไหน”
คำสำคัญประโยคนี้ ท่านผู้หญิง ชนัตถ์ ปิยะอุย ปธ.กก. เครือดุสิตธานีผู้ล่วงลับ กรุณาฝากทิ้งไว้ก่อนท่านลับเลือนหาย ในวันที่ลุยสร้างดุสิตธานีหัวมุมถนนสีลม สตางค์ท่านมีน้อยมากแทบจะติดก้นถุงของงบประมาณ (budget) ก่อสร้าง แต่ด้วย “การประมาณการที่ละเอียด, แผนการที่ตรงความจริงมากที่สุด” —> สุดท้ายท่านจึงสามารถระดมทุนจาก ผู้ถือหุ้นกลุ่มใหม่ๆ กว่า 100 ท่าน ซึ่งมาปรากฏตัวพร้อมๆ กันในวันเปิดโรงแรมได้สำเร็จ ซึ่งเป็นเรื่องใหม่มากในยุคสมัยนั้นที่ตลาดหลักทรัพย์ยังไม่เป็นที่รู้จัก
กรณีแบบนี้ Monocle วิเคราะห์โดยลึกซึ้งว่า การระดมทุนในธุรกิจย่อมต้องมาจากองค์ประกอบหลายอย่าง ได้แก่ 1.Pitch book ที่โดดเด่น (ซึ่งถ้าวิเคราะห์จากกรณีท่านผู้หญิงแล้ว = แผนการที่ตรงตามความจริงมากที่สุด)
2.Investor <— ซึ่งเกิดจากการมี “relationship for years” บ่งความหมายว่าคนเรานั้นต้องรู้จักรักษาเครดิตมีนิสัยใจคอที่ดีซื่อตรงมาเป็นนิสัยจึงจะหาทุนมาประกอบการได้ 3.Portfolio of mentors <— นักประกอบการมือใหม่ มีใครแบ็คอัพบ้างต้องบอกนักลงทุนให้ได้ทราบเพื่อสร้างความวางใจ
นักลงทุนเขาลงทุนเพราะ ROI เท่านั้นหรือ?
Monocle บอกเลยว่าเปล่า จากบทวิเคราะห์นั้น เขามั่นใจว่านักลงทุนต่างๆนั้นท่านเอาทุนลงด้วยเพราะเหตุผลอีกหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นที่ด้วยว่า กิจการนั้นสร้างแรงกระเพื่อมให้สังคม_มีSocial impact , กิจการนั้นมีความรับผิดชอบต่อสังคม_Social responsibility, กิจการนั้นส่งมอบความเชื่อมโยงที่ดีให้ได้_synergy และแม้กระทั่ง กิจการนั้นพานักลงทุนไปสู่ชุมชนเป้าหมาย_engage to the preferred community ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่นักลงทุนใช้พิจารณาควักกระเป๋าจ่ายเงินลงหุ้น
ผู้ประกอบการต้องมีลักษณะเป็นนักเคลื่อนไหวทางธุรกิจในทางสังคมนั้น เรามีนักเคลื่อนไหว/นักกิจกรรมทางสังคม -social activist มามากแล้ว นิยมทำการเช่น เคลื่อนไหวให้ล้มล้างมาตรานั้นนี้ของข้อกฎหมาย Monocle เสนอว่า ผปก. ต้อง active อย่างเขาบ้าง (become a business activist) ต้องเป็นคนชอบกระโดดเข้าหาพาตัวเข้าใส่ กิจกรรมทางธุรกิจต่างๆ มีอะไรเปิดใหม่, มีอะไรล้มหาย มีงานสัมมนาอะไร มีกิจกรรมอะไรกำลังจะเปิด- ต้องเป็นผู้มีลักษณะชื่นชอบทางนี้ จึงจะเข้าเค้าการเลือกวิถีชีวิตการประกอบการ
(ต่อตอน 2)