วัฏจักรอุบาทว์ : การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรม อำนาจนิยมและระบบการศึกษาชนิดควบคุม

16 มิ.ย. 2566 | 08:00 น.
อัปเดตล่าสุด :16 มิ.ย. 2566 | 08:07 น.

คอลัมน์ เศรษฐศาสตร์นอกขนบ : วัฏจักรอุบาทว์ : การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรม อำนาจนิยมและระบบการศึกษาชนิดควบคุม โดย สุวิทย์ สรรพวิทยศิริ มูลนิธิ สวค.

ศตวรรษที่ 21 เศรษฐกิจโลกแข่งขันกันดุเดือดยิ่ง นวัตกรรมจึงเป็นปัจจัยหลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจสู่ความเจริญเติบโต ทว่าบางประเทศกลับเริ่มเห็นแนวโน้มน่าห่วง จากระบบปกครองกับระบบการศึกษาชนิดควบคุมเข้าขั้นฉุดรั้งความคิดสร้างสรรค์อันเป็นเครื่องมือสำคัญสู่นวัตกรรม ก่อผลกระทบระยะยาวต่อการเติบโตเศรษฐกิจ บทความนี้มุ่งสร้างความเข้าใจวัฏจักรอันตรายนี้ถึงระดับสาเหตุ

 

วัฏจักรอุบาทว์ : การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรม อำนาจนิยมและระบบการศึกษาชนิดควบคุม

 

การก่อรูประบบปกครองชนิดควบคุม

ระบบปกครองชนิดควบคุม คือโครงสร้างอำนาจที่ขีดวงจำเพาะผู้นำคนเดียวหรือเครือข่ายเล็กๆ ประชาชนในโครงสร้างนี้ถูกจำกัดสิทธิ เสรีภาพการเมือง ใช้ชีวิตใต้ภาวะควบคุมเข้มงวด โครงสร้างนี้มุ่งความสำคัญที่พิธีการ ยิ่งว่ากรรมวิธีเพื่อผลิตผลลัพธ์ใหม่ที่แตกต่าง เผยแพร่คุณค่าแบบสั่งการ ภาวะควบคุมนี้เมื่อขยายผลสู่ระบบการศึกษา ย่อมกลายเป็นเครื่องมือสำคัญที่จำกัดความคิดสร้างสรรค์ของคนรุ่นหลัง

 

ภาวะควบคุมในระบบการศึกษา

เมื่อภาวะควบคุมเข้าสู่ระบบการศึกษา โครงสร้างอำนาจในสถานศึกษาจะเป็นทิศทางจากบนลงล่างเต็มรูป มีผลยับยั้งความคิดสร้างสรรค์และกระบวนการคิดด้วยวิจารณญาณ นักเรียนจำต้องปฏิบัติตาม จดจำ หลาบจำ ทั้งมุ่งทักษะสะสมข้อมูล แทนที่จะเข้าใจข้อมูลและปรับใช้อย่างสมสมัย ด้วยเหตุดังนี้กระบวนการส่งเสริมสำนึกด้านสร้างสรรค์ที่สร้างผลิตผลเศรษฐกิจจึงถูกคุมกำเนิดอย่างเป็นระบบ

ผลกระทบต่อความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรม

ภาวะยับยั้งความคิดสร้างสรรค์ในระบบการศึกษา หมายถึงกำลังคนในประเทศย่อมสูญเสียทักษะและกระบวนการคิดเพื่อนวัตกรรม ทั้งที่นวัตกรรมคือกระดูกสันหลังของเศรษฐกิจที่กำลังรุ่งเรืองในโลกปัจจุบัน ประเทศที่ขาดนวัตกรรม อุตสาหกรรมย่อมติดกับดัก เดินหน้าต่อไปไม่ได้ ฉุดรั้งผลิตภาพให้ลดลง เมื่อความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมถูกฉุดรั้งย่อมสะเทือนถึงวิสัยทัศน์ธุรกิจ อันเป็นปัจจัยสำคัญเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสร้างงาน โดยเฉพาะงานที่สร้างคุณค่าเพื่อต่อยอดเศรษฐกิจให้พัฒนายั่งยืน

 

ศักยภาพการแข่งขันและผลิตภาพที่ลดลง

ผลจากภาวะขาดแคลนนวัตกรรม ส่งผลให้ศักยภาพแข่งขันในตลาดโลกลดลงตาม เศรษฐกิจจำต้องที่พึ่งพาอย่างหนักต่ออุตสาหกรรมดั้งเดิมที่ยังอาศัยเทคโนโลยีเก่า ผลิตภาพแรงงานลดลงเนื่องจากขาดทักษะที่จำเป็นต่อห่วงโซ่อุปทานเศรษฐกิจโลกต้นทุนเพิ่มสูงที่ผันผวนรวดเร็ว ก่อเกิดผลลัพธ์ศักยภาพการแข่งขันในตลาดนานาชาติต่ำเตี้ย ไม่อาจคว้าส่วนแบ่งความมั่งคั่งจากระบบเศรษฐกิจโลก ปลายทางคือเศรษฐกิจไม่เติบโต

ภาวะไม่เท่าเทียมและกระจายรายไม่เป็นธรรม

เมื่อเศรษฐกิจถลำถึงภาวะไม่เติบโต สินทรัพย์ก็ตาม รายได้ที่สร้างขึ้นใหม่ก็ตาม ต่อปีย่อมเพิ่มเพียงเล็กน้อย การกระจายรายได้ย่อมไม่เท่าเทียมเป็นเงาตามตัว ทว่าเครือข่ายที่แข็งแกร่งทั้งสามารถยึดโยงอำนาจนิยมไว้ได้ย่อมได้เปรียบ เครือข่ายกลุ่มเล็กๆ นี้สามารถควบคุมสัดส่วนขนาดใหญ่ของทรัพย์สินและรายได้ที่สร้างขึ้น ขณะที่ประชากรทั่วไปกำลังดิ้นรนในวังวนระบบปกครองชนิดควบคุม/อำนาจนิยม สภาพขาดเสรีภาพการเมืองย่อมจำกัดทางเลือกไม่ให้ประชากรพัฒนาระบบผูกขาดนี้ ควบคุมให้คดโกงรายเล็กรายน้อยอย่างโปร่งใสเเละเป็นธรรม เมื่อนั้นระดับความยากจนย่อมเพิ่มขึ้น ภาวะรายได้ไม่เท่าเทียมกลายเป็นปัญหาใหญ่ในสังคม ขยายวงเป็นความไม่สงบก่อปัญหาความมั่นคงในท้ายที่สุด

คืนสู่จุดเริ่มต้น: วัฏจักรอุบาทว์

ภาวะไม่เท่าเทียมด้านเศรษฐกิจภาวะสังคมไม่สงบเมื่ออุบัติขึ้นแล้ว ระบบปกครองชนิดควบคุมมักตอบโต้ด้วยกลไกควบคุมที่เข้มงวดยิ่งขึ้นเพื่อพิทักษ์อำนาจของเครือข่าย ยิ่งก่อแรงกดดันหนักขึ้นต่อผู้ปฏิบัติทุกระดับในระบบการศึกษา วงจรนี้วนซ้ำจนเป็นวัฏจักร ระบบปกครองดังนี้ยิ่งออกห่างความต้องการและปรารถนาของประชากร ทั้งเศรษฐกิจก็ก่อความทุกข์ยากหนักข้อ

มรรควิถีหลุดพ้นวัฏจักร (Breaking the cycle)

เพื่อทำลายและหลบหนีออกจากวัฏจักรอุบาทว์ดังกล่าว จำต้องมีการดำเนินการหลายด้าน เริ่มที่ปฏิรูประบบการศึกษามุ่งส่งเสริมวิธีคิดประกอบวิจารณญาณ ความคิดสร้างสรรค์มุ่งนวัตกรรม ยิ่งกว่านั้นต้องปฏิรูปการเมืองให้บรรลุประชาธิปไตยที่เป็นฉันทามติประชาชน เพื่อสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยเศรษฐกิจให้เจริญเติบโต

กล่าวคือภาวะควบคุมในระบบปกครอง/อำนาจนิยมและในระบบการศึกษาก่อผลลดทอนความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรม และการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ

ทางทุบทำลายเพื่อออกจากวัฏจักรอันตรายนี้จำเป็นยิ่งสำหรับประเทศที่ต้องการเจริญเติบโตในเศรษฐกิจโลกที่แข่งขันกันดุเดือด เริ่มที่ปฏิรูปการศึกษาและการเมือง จึงสามารถกรุยทางอนาคตให้ยั่งยืนเป็นธรรม