“Easy e-Receipt” ช้อปกระจุก เงินไม่กระจาย

25 ม.ค. 2567 | 06:00 น.
อัปเดตล่าสุด :25 ม.ค. 2567 | 06:13 น.

“Easy e-Receipt” ช้อปกระจุก เงินไม่กระจาย บทบรรณาธิการ

ผ่านมาเกินครึ่งทาง สำหรับมาตรการ “Easy e-Receipt” มาตรการช้อปลดหย่อนภาษี ที่รัฐบาลส่งออกมา หวังกระตุ้นให้คนไทยออกมาจับจ่ายใช้สอย ทำให้เกิดเงินสะพัดหมุนเวียนในระบบ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 ถึง 15 กุมภาพันธ์ 2567 ด้วยเงื่อนไขง่ายๆ คือ เมื่อซื้อสินค้าและบริการสามารถนำไปหักลดหย่อนภาษีเงินได้ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 5 หมื่นบาท

ดังนั้นไม่ว่าคุณจะช้อปปิ้งอาหารการกิน ของใช้ในบ้าน เครื่องใช้ไฟฟ้า โทรศัพท์มือถือ หรือจะช้อปปิ้งออนไลน์ ก็สามารถใช้ได้ ขอเพียงผู้ประกอบการสามารถออกใบกำกับภาษีในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice) พร้อมระบุเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร ของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการได้เท่านั้น

งานนี้บอกได้เลยว่า หลายคนมีเฮ! เพราะจะใช้โอกาสนี้ ช้อปปิ้งเต็มที่ ทั้งเสื้อผ้า ของกิน ของใช้ ของตกแต่งบ้าน ซื้อของชิ้นใหญ่ เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับตนเอง ทันทีที่คิกออฟมาตรการ 7 วันแรก ก็เหมือนช่วงฮันนีมูน พีเรียด เพราะผู้คนแห่ช้อปปิ้งสนองนโยบายรัฐกันกระหนํ่า ตัวเลขเป้าหมายที่รัฐบาลวางไว้ว่าจะเกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นถึง 7 หมื่นล้านบาท และ GDP เพิ่มขึ้น 0.18% น่าจะเป็นดังคาด

 

แต่หลังจากนั้นเริ่มเห็นสัญญาณ เพราะเม็ดเงินที่เกิดขึ้นนั้นยังกระจุกตัวอยู่ในเมือง และผู้บริโภคบางกลุ่ม พร้อมกับเสียงบ่นเล็กๆ ว่าหาร้านค้าที่เข้าร่วมยาก, มีร้านค้าเข้าร่วมน้อย, หลายร้านไม่สะดวกออกใบกำกับภาษีแบบอิเล็กทรอนิกส์ ฯลฯ

หลายเหตุผลทำให้เงินไม่กระจายในวงกว้าง เพราะข้อจำกัดเรื่องร้านค้าที่เข้าร่วมน้อย ขณะที่ห้างร้าน ทั้งขนาดใหญ่ กลาง เล็ก รวมไปถึงโรงแรม ร้านอาหาร ต่างไม่เข้าร่วมรายการ ด้วยข้อจำกัดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นขั้นตอนการเข้าร่วม ระยะเวลาในการเข้าร่วมที่กะทันหัน รวมถึงเงินที่ต้องจ่ายเพิ่มในการลงทุนระบบ เพราะรายได้ที่ได้รับจากการเข้าร่วม 45 วัน อาจจะไม่คุ้มค่ากับรายจ่ายที่เพิ่มขึ้น ผู้ประกอบการจึงกระจุกตัว มีเพียงรายใหญ่ระดับบิ๊กๆ ที่เข้าร่วมแตกต่างกับโมเดล “คนละครึ่ง” ที่ใช้กันสนั่นเมือง

 

แม้กรมสรรพากร จะแก้ปัญหาโดยเปิดเส้นทางลัด ให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี หรือผู้ประกอบการในพื้นที่ต่างจังหวัด ที่ต้องการเข้าร่วมโครงการ Easy e-Receipt แต่ไม่มีระบบรองรับเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ ก็สามารถขอเข้าร่วมโครงการได้ โดยกรมสรรพากรมี e-Tax Invoice by e-mail และ e-Tax Invoice by Time Stamp ซึ่งร้านค้าที่อยู่ในระบบจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (Vat) มีแค่มือถือ หรือแท็บเล็ตเครื่องเดียวก็สามารถทำได้เลย ใช้เวลาในการดำเนินการประมาณ 3-7 วัน แต่ก็ยังไม่ได้รับการตอบรับเท่าที่ควร

ผ่านมาครึ่งทาง แม้ตัวเลขเงินสะพัดจากโครงการ Easy e-Receipt จะยังไม่ออกมา ซึ่งก็ยากจะประเมินว่าเข้าเป้า หรือพลาดเป้า แต่ก็มีเสียงเรียกร้องให้ขยายระยะเวลาโครงการออกไปอีก เพื่อให้เกิดการใช้จ่ายอีกระลอก งานนี้หากรัฐบาลอยากให้เม็ดเงินสะพัดได้ตามเป้า จะขยายระยะเวลาออกไปอีกนิดก็น่าจะดี

ดีกว่าไม่ทำอะไรเลย