ปี 2566 ล่าสุด ภาคการส่งออกของไทยที่เป็นรายได้หลักของประเทศ ยังมีสัดส่วนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP มากที่สุด( 65%) เจาะลึกลงไป คู่ค้าอันดับ 1 ของไทยคือ จีน ที่มีสัดส่วนกว่า 18% ของการค้าไทยกับโลก (ไม่นับรวมอาเซียน)
โดยการค้าไทย-จีนปี 2566 มีมูลค่า 3.64 ล้านล้านบาท ไทยส่งออกไปจีน 1.17 ล้านล้านบาท และนำเข้า 2.47 ล้านล้านบาท ส่งผลไทยขาดดุลการค้าจีนกว่า 1.29 ล้านล้านบาท สูงสุดเป็นประวัติการณ์
โดยสินค้าที่ไทยนำเข้าจากจีนในกลุ่ม 10 อันดับแรก ที่มีส่วนทำให้ไทยขาดดุลการค้าจีน เช่น เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์, เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน, รถยนต์โดยสาร และรถบรรทุก และผลิตภัณฑ์ทำจากพลาสติก เป็นต้น
นอกจากนี้ การค้าออนไลน์ ที่เป็นการค้ายุคใหม่ สั่งซื้อได้แค่ปลายนิ้ว จัดส่งสินค้าได้รวดเร็วทันใจ ยังเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของคนไทยมากขึ้นทวีคูณ โดยสินค้าส่วนใหญ่ที่นำเข้ามาขายในช่องทางออนไลน์ ก็เป็นสินค้าจากจีนอย่างที่ทุกคนทราบกันดี เพราะจีนถือเป็นโรงงานของโลก ผลิตสินค้าคราวละมาก ๆ (แมส) ทำให้มีต้นทุนที่ตํ่า ส่งผลให้มีสินค้าจากแดนมังกรทะลักเข้ามาขายในไทยทั้ง ออฟไลน์ และ ออนไลน์มากขึ้นทุกขณะ ลามกระทบอุตสาหกรรมภาคการผลิตในไทยอย่างหนักหน่วงในเวลานี้มากกว่า 30 กลุ่ม
ล่าสุดภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือ กกร.ออกมาแสดงความกังวลกับสินค้าราคาถูกที่เข้ามาทุ่มตลาดในประเทศราคาตํ่า โดยเข้ามาใช้ประโยชน์จาก Free Trade Zone เพื่อขายสินค้าในประเทศ รวมถึงยังมีการลักลอบนำเข้าโดยสำแดงข้อมูลเท็จ เพื่อเลี่ยงภาษี ณ ด่านศุลกากร ส่งผลต่อยอดขายสินค้าของผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะ SMEs ไม่สามารถแข่งขันด้านราคาได้จากมีต้นทุนที่สูงกว่า
จึงเสนอให้ภาครัฐพิจารณาทบทวนข้อยกเว้นการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ VAT สำหรับการซื้อสินค้าออนไลน์ (จากทั่วโลก) ไม่เกิน 1,500 บาท เพื่อให้เกิดความยุติธรรม กับผู้ประกอบการในประเทศที่ต้องเสียภาษี VAT ตั้งแต่บาทแรกของสินค้าที่ผลิตและจำหน่าย และขอให้มีการทบทวนนโยบาย และเงื่อนไขในการใช้สิทธิประโยชน์ใน Free Trade Zone
เรื่องไม่เสีย VAT และการใช้ช่องโหว่ของ Free Trade Zone ขายสินค้าในไทยนี้ เป็นเรื่องที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของภาครัฐ ต้องพิจารณาทบทวนเร่งด่วน รวมถึงการเพิ่มความเข้มงวดตรวจจับสินค้าที่สำแดงเท็จผ่านด่านศุลกากร คุมเข้มสินค้าลักลอบนำเข้าตามแนวชายแดน การเร่งออกมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมให้ครอบคลุมและบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง
แต่ทั้งนี้ควรมุ่งไปที่การจัดระเบียบสินค้านำเข้าจากทั่วโลก ไม่ใช่มุ่งเฉพาะเจาะจงไปที่สินค้าจีน เพราะความจริงอีกด้าน จีนเป็นตลาดนำเข้าสินค้าไทยรายใหญ่ โดยสินค้าไทยที่พึ่งพาตลาดจีนเป็นหลัก เช่น ผลไม้สด (สินค้าใหญ่สุดคือ ทุเรียน ที่จะเริ่มออกสู่ตลาดปลายเดือนกุมภาพันธุ์ถึงพฤษภาคม ปี 66 ไทยส่งออกทุเรียนไปจีน 1.37 แสนล้านบาท) นอกจากนี้มียางพาราและผลิตภัณฑ์ยาง ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เป็นต้น
ดังนั้น ในการใช้มาตรการใดๆ ของไทย ต้องใช้เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้ประกอบการในประเทศโดยไม่เลือกปฏิบัติว่า คู่ค้า หรือ สินค้า จะมาจากประเทศใด ขณะเดียวกันต้องมีความระมัดระวังในมิติระหว่างประเทศ ต้องไม่ให้เสียความสัมพันธ์ เพราะหากไทยใช้มาตรการเจาะจงไปที่จีน และทำให้เขามองว่า ไทยทำการค้าที่ไม่เป็นธรรม อาจนำมาซึ่งมาตรการตอบโต้ทางการค้า ทำให้ไทยได้ไม่คุ้มเสีย