รับมือความท้าทายเศรษฐกิจไทยปี 2568

20 พ.ย. 2567 | 05:05 น.
อัปเดตล่าสุด :20 พ.ย. 2567 | 05:10 น.

รับมือความท้าทายเศรษฐกิจไทยปี 2568 : บทบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 4046

การเดินทางของเศรษฐกิจไทยในปี 2567 กำลังจะผ่านพ้นไปอีกปี ท่ามกลางความผันผวนและความท้าทายมากมาย แม้ตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจในไตรมาส 3 จะปรับตัวดีขึ้นที่ร้อยละ 3.0 จากร้อยละ 2.2 ในไตรมาสก่อนหน้า และคาดการณ์ว่า ทั้งปี 2567 จะเติบโตที่ร้อยละ 2.6 แต่ยังมีความเปราะบางที่ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด

หากมองไปในปี 2568 สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวในกรอบร้อยละ 2.3-3.3 หรือ มีค่ากลางที่ร้อยละ 2.8 ซึ่งแม้จะเป็นทิศทางที่ดีขึ้น แต่ก็ยังถือว่าอยู่ในระดับตํ่า

ความท้าทายสำคัญที่รออยู่เบื้องหน้า เริ่มจากปัจจัยภายนอกที่ยังคงมีความไม่แน่นอนสูง โดยเฉพาะทิศทางเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัว ทั้งสหรัฐอเมริกา ที่คาดว่าจะขยายตัวเพียงร้อยละ 2.2 ลดลงจากร้อยละ 2.6 ในปี 2567 และ จีนที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 4.5 ชะลอลงจากร้อยละ 4.7 สถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังคงยืดเยื้อทั้งในตะวันออกกลางและสงครามรัสเซีย-ยูเครน รวมถึงความเสี่ยงจากการยกระดับมาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ที่อาจทวีความรุนแรงมากขึ้น

ส่วนปัจจัยภายในประเทศ ความท้าทายสำคัญคือ การแก้ปัญหาหนี้สินครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูงถึงร้อยละ 89.6 ต่อ GDP คุณภาพสินเชื่อที่มีแนวโน้มด้อยลง โดยเฉพาะในกลุ่ม SMEs ที่มีสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) สูงถึงร้อยละ 7.6 รวมถึงความผันผวนในภาคเกษตรทั้งด้านผลผลิตและราคาสินค้าเกษตรที่สำคัญ

อย่างไรก็ตาม การที่รัฐบาลได้วางกรอบนโยบาย และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องตลอดปี 2568 นับเป็นสัญญาณที่ดี โดยเฉพาะการเตรียมแพ็คเกจกระตุ้นเศรษฐกิจรายปี ที่จะเริ่มตั้งแต่ช่วงปีใหม่ต่อเนื่องไปตลอดทั้งปี ควบคู่ไปกับมาตรการของสถาบันการเงินของรัฐ

แต่สิ่งที่สำคัญไปกว่าการอัดฉีดเม็ดเงิน คือ การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้แข็งแกร่งและยั่งยืน โดยควรให้ความสำคัญกับการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคการผลิตและบริการ การพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยี การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตร และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

ในด้านการส่งออก ซึ่งเป็นเครื่องยนต์สำคัญของเศรษฐกิจไทย จำเป็นต้องเร่งปรับตัวรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของห่วงโซ่การผลิตโลก เน้นการผลิตสินค้าที่มีมูลค่าสูงและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงการขยายตลาดใหม่ๆ โดยเฉพาะในภูมิภาคตะวันออกกลาง เอเชียใต้ และอาเซียน

ขณะที่การท่องเที่ยวซึ่งกำลังฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง จำเป็นต้องยกระดับคุณภาพการบริการและพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวคุณภาพ เช่นเดียวกับภาคการเกษตร ต้องเร่งปรับตัวรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการผลิต รวมถึงการแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม

ที่สำคัญ การแก้ปัญหาหนี้สินครัวเรือน และหนี้ SMEs ต้องดำเนินการอย่างจริงจังและต่อเนื่อง โดยเฉพาะการปรับโครงสร้างหนี้ควบคู่ไปกับการเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน เพื่อให้ประชาชนและผู้ประกอบการสามารถลุกขึ้นยืนได้ด้วยตัวเอง 

การเดินหน้าสู่ปี 2568 อาจไม่ใช่เส้นทางที่ราบรื่น แต่หากมีการวางรากฐานที่แข็งแกร่ง การปรับตัวที่ทันท่วงที ความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน และ ประชาชน ในการขับเคลื่อนและปฏิรูปเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างมีคุณภาพและยั่งยืน จะเป็นปีแห่งการเปลี่ยนผ่านที่สำคัญของเศรษฐกิจไทย

หน้า 6 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4,046 วันที่ 21 - 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567