สถาบันโพธิคยาวิชชาลัย 980 องค์กรเอกชนที่ช่วยประสานงานรัฐบาลอินเดียและรัฐบาลไทย จนสามารถเชิญพระบรมสารีริกธาตุ พระอรหันตธาตุ มาร่วมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 และให้ชาวพุทธในไทยได้สักการะบูชา ระหว่างวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ถึง 18 มีนาคม 2567 จนกลายเป็นประวัติศาสตร์ เพราะรัฐบาลอินเดียหวงแหน ไม่ยินยอมให้ใครนำออกนอกสถานที่เด็ดขาด เนื่องจากเป็นทรัพย์แผ่นเดินที่หาค่ามิได้นั้น
แต่สถาบันนี้เป็นองค์กรเอกชนที่ไม่แสวงหากำไร มี ดร.สุภชัย วีระภุชงค์ เป็นเลขาธิการ โดยมูลนิธิวีระภุชงค์ มี ดร.วินัย วีระภุชงค์ เป็นประธานให้การอุปถัมภ์ ได้ร่วมกับกรมการศาสนา และสถานทูตอินเดียประจำประเทศไทย ได้ติดต่อประสานงานอย่างไม่เหน็ดเหนื่อยเป็นเวลาหลายเดือน ในที่สุดรัฐบาลอินเดียก็ยินยอม ภายใต้เงื่อนไขการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด
เมื่อตกลงได้แล้ว รัฐบาลอินเดีย ได้ส่งเจ้าหน้าที่มาตรวจดูความเรียบร้อยล่วงหน้า ก่อนที่จะอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ มาทางเครื่องบินของทหาร เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2567
ในเที่ยวบินเดียวกันนี้สมาคมมหาโพธิ ที่มีหน้าที่รักษา พระอรหันตธาตุของพระสารีบุตรเถระ และพระโคคัลลานะเถระ ซึ่งเก็บรักษาที่สาญจิสถูปในมัธยมประเทศอินเดีย ได้เดินทางมาพร้อมกันตามที่สถาบันโพธิคยา 980 เชิญด้วย และได้อัญเชิญอย่างสมเกียรติมาประดิษฐานที่มณฑปท้องสนามหลวง ตั้งแต่ 24 กุมภาพันธ์ 2567 ถึง 3 มีนาคม 2567
การที่พระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า และอรหันตธาตุของพระสารีบุตรเถระ และพระโมคคัลลานะเถระ มาประดิษฐานในที่เดียวกัน ไม่เคยปรากฏที่ใดมาก่อน ประเทศไทยจึงเป็นประเทศแรกที่มีเหตุการณ์นี้
ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยสมเด็จพระบรมราชินี เสด็จมาถวายเครื่องสักการะบูชา ในช่วงเช้าวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2567 ด้วย
การที่พระบรมสารีริกธาตุ และพระอรหันตธาตุมาประดิษฐานให้บูชาอย่างใกล้ชิดนี้ ชาวพุทธได้มากันล้นหลามในที่สุดต้องขยายเวลาเปิดมาเป็นเวลา 7.00 น.และปิดเวลลา 21.00 น.จากเดิมเปิด 9.00 น.และปิด 20.00 น. เพื่อรองรับศรัทธาประชาชน
เมื่อถึงวันที่ 3 มีนาคม ปิดมณฑปที่สนามหลวงอัญเชิญไปเชียงใหม่ตามแผนงาน โดยเปิดให้ประชาชนบูชาที่หอคำหลวงจังหวัดเชียงใหม่ ถึงวันที่ 8 มีนาคม 2567
วันที่10 ถึง 13 มีนาคม เปิดให้ประชาชนบูชาที่วัดมหาวนาราม จังหวัดอุบลราชธานี
และวันที่ 15 ถึง 18 มีนาคม เปิดให้ประชาชนบูชาที่วัดมหาธาตุวชิรมงคล จังหวัดกระบี่
ผู้ที่เกี่ยวข้องและชาวพุทธ สรรเสริญว่า งานนี้เป็นความสำเร็จอย่างเยี่ยม ดังที่ มาริษ เสงี่ยมพงษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ และอดีตเอกอัครราชทูตได้เขียนแสดงความเห็นสรุปว่าเป็นความสำเร็จของสถาบันโพธิคยา 980 ที่มีคุณอ๊อด สุภชัย เป็นผู้นำที่เข้มแข็ง
นายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน เห็นความสำคัญ ในเรื่องนี้จึงมอบของขวัญและ Message ผ่านคุณอ๊อด ขอบคุณที่ทำให้คนไทยมีความสุขทั้งประเทศพร้อมทั้งให้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง รัฐบาลพร้อมที่จะสนับสนุน
ความสำเร็จดังกล่าวองค์กรนานาชาติต้องการลงนาม MOU ด้วยหลายองค์กร โดยเฉพาะในช่วงที่นายกรัฐมนตรีเศรษฐาจะเยือนอินเดีย และพบกับนายกรัฐมนตรีอินเดีย นาย Modi การทั้งหมดนี้ยืนยันแนวคิด "ธรรมวิชัย สู่ศตวรรษแห่งธรรม"
"กำเนิดสถาบันโพธิคยา"
สถาบันโพธิคยา 980 นั้น เป็นองค์กรเอกชน ตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ.2550 โดยคณะบุคคลที่ไปอุปสมบทที่พุทธคยา เพื่อถวายพระราชกุศล ในงานมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษาของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
บุคคลที่มีชื่อเสียงในการอุปสมบทครั้งนั้นเช่น ชัช ชลวร อดีตประธานศาลรัฐธรรมนูญ สุภชัย วีระภุชงค์ รองประธานกรรมการ บริษัทไทยนครพัฒนา จำกัด(ผู้ผลิตยาประจำบ้าน เช่นทิฟฟี่) นายเกษม มูลจันทร์ อดีตรองอธิบดีกรมควบคุมประพฤติ เป็นต้น
เมื่อครบกำหนด ต่างก็ลาสิกขา แต่เพื่อเป็นทีระลึกและตอบแทนคุณพระพุทธศาสนา จึงมีมติตั้งสถาบันโพธิคยา 980 เพื่อส่งเสริมการศึกษาพระพุทธศาสนาขึ้น โดยมี (อดีต) สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ (สมศักดิ์) เจ้าคณะใหญ่หนกลาง กรรมการมหาเถรสมาคมและเจ้าอาวาสวัดพิชยญาติการาม เป็นประธานที่ปรึกษา และพระธรรมโพธิวงศ์ หัวหน้าพระธรรมทูตไทยอินเดีย เนปาล เจ้าอาวาสวัดไทยพุทธคยาเป็นที่ปรึกษา
โครงการแรกนำพระสงฆ์ 31 องค์ไปศึกษาและปฏิบัติธรรมเชิงลึกที่อินเดีย ระหว่างวันที่ 4 สิงหาคม ถึง 10 พฤศจิกายน 2552 และจัดแบบเดียวกันติดต่อกันทุกปีถึงรุ่นที่ 6 พ.ศ.2557
โครงการที่ 2 จัดธรรมยาตรา 5 แผ่นดิน คือนำพระสงฆ์ ญาติธรรม เยือน เมียนมา สปป ลาว เวียตนาม กัมพูชา และไทย ระหว่างวันที่14 ถึง31 ตุลาคม 2562
และโครงการที่ 3 คือการอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ และพระอรหันตธาตุจากอินเดีย เพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาศมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ วันที่ 28 กรกฎาคม 2567 และส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างอินเดีย และไทย นับเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรม" ธรรมยาตราจากมหานทีคงคา สู่ลุ่มน้ำโขง" ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2567 ถึง 18 มีนาคม 2567