อาศัยอยู่อย่างถูกต้องตามกฏหมายในไทยของชาวเมียนมา

25 ก.พ. 2567 | 21:05 น.

อาศัยอยู่อย่างถูกต้องตามกฏหมายในไทยของชาวเมียนมา คอลัมน์ เมียงมอง เมียนมา โดยกริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

ในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาเป็นวันตรุษจีน ซึ่งเป็นวันมงคลของพวกเราชาวเชื้อสายจีนทั่วโลก ชาวจีนต่างมีการเฉลิมฉลองวันตรุษจีนกันถ้วนหน้า แต่ชาวเมียนมาเชื้อสายจีนที่อาศัยอยู่ในประเทศ คงจะไม่ค่อยจะสบายใจกันนัก กับการได้รับทราบข่าวการประกาศเกณฑ์ทหารของรัฐบาล ที่จะต้องให้ประชาชนที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป โดยถ้าเป็นเพศชายก็อายุถึง 35 ปี เพศหญิงอายุถึง 27 ปี จะต้องถูกเกณฑ์ไปเป็นทหารทุกคน โดยไม่มีข้อยกเว้น ซึ่งโดยส่วนตัวผมคิดว่า รัฐบาลไม่น่าจะทำได้ เพราะถ้าหากเรามาพินิจพิเคราะห์กันให้ลึกๆ แล้ว ผมคิดว่าการเกณฑ์ทหารน่าจะไม่ได้เป็นเช่นนั้นทั้งหมดแน่นอนครับ

จากข้อมูลทางด้านสถิติประชากร ที่ท่านกรรมการสภาธุรกิจไทย-เมียนมา ดร.โชคชัย เอี่ยมฤทธิไกร ผู้อำนวยการกลุ่มธุรกิจออนไลน์ของบริษัท บีอีซี-เทโร เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด(มหาชน) ท่านได้กรุณานำข้อมูลดังกล่าวของประเทศเมียนมา มาให้พวกเราคณะกรรมการสภาฯดู จะเห็นว่า ประชากรของเมียนมาตามที่ประกาศอย่างเป็นทางการ มีอยู่ 55.02 ล้านคน คนที่อยู่ในช่วงที่จะได้เข้ารับการเกณฑ์ทหาร ที่มีอายุระหว่าง 18-35 ปี มีทั้งหมดประมาณ 28.2% หรือประมาณ 15.5 ล้านคน ซึ่งรวมกับทหารเดิมที่เขามีอยู่แล้ว รวมทั้งหมดจะมีมากถึง 16 ล้านกว่าคน ซึ่งเยอะมาก

แต่หากเรามาดูข้อมูลของปี 2023 จากเว็บไซต์ Global Fire Power ประเทศที่มีทหารประจำการมากที่สุด 5 อันดับแรกของโลก คือ 1. ประเทศจีน 2,00,000 คน 2. อินเดีย 1,450,000 คน 3. สหรัฐอเมริกา 1,390,000 คน 4. เกาหลีเหนือ 1,200,000 คน 5. รัสเซีย 830,900 คน ในขณะที่ประเทศไทยเรา มีประชากรทั้งหมดเกือบ 70 ล้านคน แต่มีทหารประจำการเป็นอันดับที่ 16 ของโลก มีเพียง 350,000 คนเท่านั้น ดังนั้นประเทศเมียนมาเป็นประเทศที่ไม่ได้ใหญ่มาก อีกทั้งความสงบเรียบร้อยภายในประเทศเมียนมาในวันนี้ ยังไม่ถึงขั้นที่จะเรียกว่า “สงคราม” ได้ เพราะเป็นเพียงการสู้รบระหว่างทหารรัฐบาลกับกองกำลังชนชาติพันธุ์เท่านั้น ดังนั้นการที่จะระดมประชาชนมากถึง 15 ล้านคนมาเข้าป็นทหารทั้งหมด ผมคิดว่าคงยังไม่ถึงเวลานั้นหรอกครับ 

อีกประการหนึ่งในความคิดของผม หากเรียกเกณฑ์ทหารตามที่เป็นข่าวที่ออกมา ในสถานการณ์ปัจจุบันนี้ รัฐบาลเมียนมาไม่ได้เป็นประเทศที่มีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศมากพอที่จะเลี้ยงดูทหารได้มากขนาดนั้น แม้จะไม่ต้องจ่ายค่าเงินเดือนให้ทหารเกณฑ์เหล่านั้น แต่ทหารก็เป็นมนุษย์ที่จะต้องทานข้าวกันทุกคน เอาแค่งบประมาณค่าอาหารของกำลังพลแต่ละเดือน แค่คิดก็เหนื่อยแล้วครับ

ส่วนที่เรียกระดมทหารเกณฑ์ที่ประกาศออกมา จะออกมาในรูปแบบไหนละ? ในความคิดของผม ผมคิดว่าคงจะต้องเป็นการเกณฑ์ทหารแบบคัดเลือก กล่าวคือคัดเลือกเอาคนที่พร้อมที่จะเป็นทหาร และจะต้องเป็นคนที่มีแนวคิดมาทางฝั่งรัฐบาลเท่านั้น เพราะถ้าหากไปรับเอาฝั่งตรงข้ามเข้ามาเป็นทหาร ปากกระบอกปืนหันไปทางไหน ก็คงไม่ต้องเดาก็พอจะมองออกครับ อันตรายต่อความมั่นคงอย่างยิ่งครับ 

จากการประกาศครั้งนี้ สิ่งที่ตามมาคือคนที่ไม่อยากจะเข้ารับราชการทหาร เริ่มมีแววในการหลบหนีออกนอกประเทศ หรือคนประเภทนี้ถ้ามีที่อยู่ในต่างประเทศ ก็คงไม่อยากเดินทางกลับไปแน่ เพราะเขาคงยังไม่ว่างพอที่จะอยากเข้าไปรับใช้ชาติ เท่าที่ผมสัมผัสมา ก็มีคนที่ติดต่อมาสอบถามผม เรื่องของการเข้ามาอาศัยยังประเทศไทย มีวิธีไหนบ้างที่สามารถอยู่ได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ผมก็ตอบไปว่า ปัจจุบันนี้มีวิธีการเข้าเมืองและสามารถอาศัยอยู่อย่างถูกต้องตามกฎหมายด้วยกันไม่กี่วิธีครับ นี่ไม่ได้เป็นการชี้โพรงให้กระรอกนะครับ เพราะผมเชื่อว่าเขาก็คิดเองเป็นครับ

วิธีที่หนึ่ง คือการเข้ามาแล้วไปขออาศัยอยู่แบบการใช้ชีวิตบั้นปลายที่ประเทศไทย (Retirement Visa) แต่เงื่อนไขนี้ผู้ที่จะขอวีซ่าดังกล่าวได้ ต้องมีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป และมีเงินฝากประจำอย่างน้อย 800,000 บาท ก็สามารถขอ Visa แบบเกษียณอายุได้ ซึ่งปัจจุบันนี้ ก็มีคนเมียนมาใช้วิธีนี้เข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศเยอะครับ วิธีที่สอง คือ การขอวีซ่าการทำงานในประเทศไทย ซึ่งก็วิธีนี้ก็มีทั้งหมดหลายวิธี เช่น ขอแบบ Work permit, แบบ MOU, แบบบัตรสีชมพูหรือ Pink Card

แบบสุดท้ายคือ แบบแรงงานตามฤดูกาล ซึ่งในปัจจุบันนี้ทางการเมียนมาก็เริ่มที่จะระงับการออกใบอนุญาตใหม่แล้วครับ ส่วนอีกวิธีหนึ่ง คือการเข้ามาโดยใช้ วีซ่านักเรียน( Student Visa)เข้ามา ซึ่งก็สามารถหาสถานการศึกษาที่จะเข้ามาเรียนหนังสือได้เกือบทุกแห่งที่มีการเรียน-การสอนแบบอินเตอร์ หรือถ้าเป็นสถานการศึกษาทั่วๆไป นักศึกษาก็จะต้องเรียนในระบบทั่วไป ที่สำคัญนักเรียนเมียนมาจะต้องมีความรู้ด้านภาษาไทยจึงจะเข้าเรียนได้ ซึ่งต้องบอกว่า ถ้าเป็นเด็กในรัฐฉานที่เป็นชนชาติพันธุ์ไทยใหญ่หรือชาวไต ก็จะมีบางส่วนที่สามารถใช้ภาษาไทยได้คล่องแคล่วมาก ภาษาไทยไม่ได้เป็นปัญหาสำหรับเขาเลยครับ

ในขณะที่ในฝั่งของสถาบันการศึกษาของไทยเรา วันนี้ปัญหาเด็กไม่เพียงพอกับการเปิดเรียนก็มีให้เห็นอยู่เยอะ  เหตุผลเพราะจำนวนเด็กในช่วงอายุ 17-25 ปีในยุคนี้ ลดน้อยถอยลงอย่างมาก หลายๆ สถาบันต้องเปิดรับนักเรียน-นักศึกษาจากต่างประเทศ มาทดแทนจำนวนนักศึกษาไทยที่ลดลง นี่ก็อาจจะเป็นโอกาสของความอยู่รอดของสถาบันการศึกษาก็ได้ครับ 

สิ่งเหล่านี้เมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา ผมได้นำเข้าที่ประชุมของสภาธุรกิจไทย-เมียนมา เพื่อดำเนินการจัดสัมมนาและแมทชิ่งให้แก่ผู้ปกครองชาวเมียนมา ที่กำลังมองหาสถาบันการศึกษาให้บุตร-หลาน ซึ่งเราจะดำเนินการในวันที่ 29 มีนาคมนี้ หากท่านสนใจที่จะมาเปิดบูธประชาสัมพันธ์โรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยของท่าน ก็ลองติดต่อมาที่สภาธุรกิจไทย-เมียนมาได้นะครับ แล้วผมจะให้เจ้าหน้าที่แจ้งกลับไปยังท่าน เพราะสถานที่จัดมีพื้นที่จำกัดครับ