ปัญหาที่ยังคงเป็นปัญหาโลกแตกที่รอสะสางอยู่ในประเทศเมียนมา ยังมีอีกเยอะมากๆ ในช่วงสองอาทิตย์ที่ผ่านมา ผมได้ไปร่วมงานสัมมนาหลายครั้งหลายเวที ก็มักจะมีคำถามที่เกิดขึ้นซ้ำซากมานาน หลังจากที่เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างหมักหมมที่ยังไม่สามารถคลี่คลายได้
หนึ่งในปัญหาที่หมักหมม คือปัญหาเศรษฐกิจของเมียนมา ซึ่งประเทศเมียนมาเคยเป็นหนึ่งในเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างรวดเร็วในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะในช่วงปี 2011 - 2016 หลังจากที่ประเทศเริ่มเปิดตัวสู่ตลาดโลก ได้มีการลงทุนจากต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และการปฏิรูปเศรษฐกิจ ที่เริ่มขึ้นภายใต้การนำของรัฐบาลพลเรือนอย่างรัฐบาล NLD แม้จะประสบความสำเร็จ แต่ความสำเร็จเหล่านี้ก็ไม่ได้กระจายไปทั่วประเทศ สู่กลุ่มประชากรอย่างเท่าเทียมกัน
นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2021 ส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศ ต้องประสบกับการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ และความไม่แน่นอนที่สูงขึ้นอีกครั้ง เพราะไม่เป็นที่สบอารมณ์ของประเทศฝากฝั่งตะวันตกนั่นเองครับ
อีกปัญหาหนึ่งคือ ความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจและสังคม แม้ประเทศเมียนมาจะมีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ เช่น น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ แร่ธาตุ และป่าไม้ แต่ประชาชนส่วนใหญ่ยังคงใช้ชีวิตในความยากจน โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบท ความไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจเป็นปัญหาที่สำคัญ ประชาชนในเขตเมืองและกลุ่มชนชั้นนำมีรายได้สูงกว่าผู้ที่อาศัยอยู่ในชนบท และกลุ่มชาติพันธุ์ที่อยู่นอกเขตปกครองหลัก
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมนี้ คือการบริหารจัดการทรัพยากรที่ไม่ดี การคอร์รัปชัน และการจัดสรรทรัพยากรที่ไม่เป็นธรรม นอกจากนี้ การลงทุนจากต่างประเทศ ที่เน้นไปยังพื้นที่ที่มีโครงสร้างพื้นฐานที่พร้อมแล้วเท่านั้น ทำให้การพัฒนาในพื้นที่ชนบทถูกละเลยไปอย่างสิ้นเชิง จึงทำให้การกระจายรายได้ ไม่สามารถทำได้อย่างทั่วถึงครับ
อีกปัญหาหนึ่งคือ ปัญหาการเข้าถึงการศึกษาและสาธารณสุข เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่สร้างความไม่เท่าเทียมทางสังคมในเมียนมา ระบบการศึกษายังคงอยู่ในสภาพที่ต้องการการปรับปรุงอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกลที่โรงเรียน หรือในรัฐต่างๆ ที่ขาดแคลนทั้งครูและอุปกรณ์การเรียน
การศึกษาที่มีคุณภาพระดับสากล ไม่เพียงแต่เป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศเท่านั้น แต่ยังเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างสังคม ให้มีความเท่าเทียมและโอกาสสำหรับทุกคน การขาดการศึกษาไม่เพียงแต่ทำให้ประชาชนขาดโอกาสในการพัฒนาตนเอง แต่ยังส่งผลให้เกิดความยากจนและการขาดโอกาสในการเข้าถึงงานที่มีรายได้ดีหรือการสร้างฐานะให้กับประชาชน แต่ต้องยอมรับว่าวันนี้ ประเทศเมียนมายังคงมีปัญหานี้ เหมือนกับประเทศด้อยพัฒนาหลายๆ ประเทศ ที่มักจะมีปัญหาเช่นนี้คล้ายกันหมดครับ
ปัญหาด้านสาธารณสุขก็เช่นเดียวกัน ประเทศเมียนมายังคงเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนบริการทางการแพทย์ที่มีคุณภาพ ประชาชนในพื้นที่ห่างไกลมักจะต้องเดินทางไกลเพื่อเข้าถึงการรักษาโรคที่ซับซ้อน นอกจากนี้ การขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์และอุปกรณ์การแพทย์ ยังทำให้การรักษาในหลายกรณีเป็นไปอย่างจำกัด ปัญหานี้เราจะเห็นได้ชัดเจน ในช่วงที่เกิดโรคร้าย COVID-19 ระบาดหนัก จนทำให้ประเทศเมียนมาประสบปัญหาอย่างหนักหน่วงมากกว่าประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ นั่นแหละครับ
ปัญหาสุดท้ายที่ผมอยากจะกล่าวถึงในวันนี้ คือปัญหาการจ้างงานและแรงงาน ตลาดแรงงานในเมียนมายังขาดความหลากหลาย อีกทั้งยังมีความยืดหยุ่นต่ำ การจ้างงานในภาคเกษตรกรรมยังคงเป็นสัดส่วนใหญ่ของการจ้างงานทั้งหมดในประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบท แต่การผลิตที่ใช้แรงงานมากเหล่านี้มักมีรายได้ต่ำ และไม่มีสวัสดิการที่เพียงพอ การเข้าถึงงานในภาคอุตสาหกรรมและบริการ ซึ่งเป็นภาคที่มีโอกาสในการเติบโตสูง มักถูกจำกัดเฉพาะกลุ่มประชากรในเขตเมือง และพื้นที่ที่มีโครงสร้างพื้นฐานที่ดี ปัญหานี้ยังสะท้อนถึงความไม่เท่าเทียมในการเข้าถึงโอกาสทางเศรษฐกิจ
นอกจากนี้ แรงงานเมียนมาจำนวนมาก หากต้องการความเจริญก้าวหน้า หรือมีรายได้ที่ดีในการสร้างฐานะของตนเอง ต้องออกไปทำงานในต่างประเทศเท่านั้น จึงจะสามารถทำให้ตนเองประสบความสำเร็จได้ โดยเฉพาะในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ประเทศไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์ เพื่อหาเงินส่งกลับบ้าน เนื่องจากขาดโอกาสในการทำงานในประเทศ การที่แรงงานต้องอพยพไปทำงานต่างประเทศนี้ ไม่เพียงแต่สร้างปัญหาในการขาดแรงงานภายในประเทศ แต่ยังนำไปสู่ปัญหาด้านสิทธิมนุษยชน และปัญหาอาชญากรรมทางด้านสังคมในต่างประเทศ ที่รัฐบาลเมียนมาไม่สามารถยื่นมือเข้าไปช่วยได้
แนวทางการแก้ไขและการพัฒนาในอนาคต การแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมในเมียนมา เป็นเรื่องที่ซับซ้อนและต้องใช้เวลา แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้ การฟื้นฟูเศรษฐกิจและการสร้างสังคมที่เท่าเทียม ต้องเริ่มจากการปฏิรูปในหลายด้าน พร้อมทั้งความร่วมมือจากชาวเมียนมา ทั้งภายในและภายนอกประเทศ และจะต้องมีความสมัครสมานสามัคคีกัน
ดังนั้น “สันติภาพ” จึงเป็นปัจจัยที่สำคัญอย่างยิ่ง ในการสร้างความมั่นคงทางเศรษกิจและสังคมของประเทศ ที่ชาวเมียนมาจะต้องเข้าใจอย่างลึกซึ้ง อย่าสร้างความแตกแยกในประเทศเมียนมา และหันกลับมามองประเทศเพื่อนบ้านเช่นประเทศไทย ในอดีตประเทศไทยก็เคยมีความคิดแตกแยกมาก่อน แต่ต่อมาประเทศไทยเรามีผู้นำ ที่ชื่อว่า พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ที่ออกคำสั่งนโยบาย 66/2523 ซึ่งคำสั่งนี้ได้วางแนวปฏิบัติสำหรับเจ้าหน้าที่ปฏิบัติต่อผู้มีแนวคิดต่อต้านรัฐบาลหรือผู้หลงผิดที่เข้ามอบตัว โดยไม่มีการดำเนินคดีย้อนหลัง ยกเว้นบางคนที่มีคดีอาญาร้ายแรงเท่านั้น
รวมทั้งช่วยเหลือให้ใช้ชีวิตใหม่ร่วมกันต่อไปในสังคมอย่างเหมาะสม ทำให้มีผู้ที่เคยคิดต่อต้านรัฐบาล เข้ามอบตัวและร่วมพัฒนาประเทศ ความสงบสุขจึงเกิดขึ้นในประเทศไทยอีกครั้ง ผมเชื่อว่านี่เป็นนโยบายที่ชาญฉลาดและประสบความสำเร็จยิ่ง หากประเทศเมียนมาจะนำมาใช้บ้าง เราก็คงไม่สงวนสิทธิแน่นอนครับ