KEY
POINTS
การเลือกตั้งสหรัฐอเมริกาที่เสร็จสิ้นไปแล้ว ทำให้โดนัลด์ ทรัมป์ผู้สมัครจากพรรคริพับลิกันได้รับชัยชนะเหนือนางกมลา เทวี แฮร์ริส ผู้สมัครจากพรรคเดโมแครต จึงทำให้ทรัมป์กลับมาอีกครั้งเป็นรอบที่สอง หลายฝ่ายต่างจับตามอง ประเทศเมียนมาเป็นอีกหนึ่งประเทศ ที่ต้องจับตาดูว่าการกลับมาครั้งนี้ของโดนัลด์ ทรัมป์นั้นอาจจะส่งผลสู่ประเทศเมียนมาไม่มากก็น้อย เพราะนโยบายในการแซงชั่นของชาติตะวันตกต่อประเทศเมียนมา ต้องยอมรับว่าเป็นหัวหอกของการนำในการแทรกแซงในยุคนี้ ซึ่งผลของการแทรกแซงหรือแซงชั่น ทำให้ประเทศเมียนมามีปัญหาที่หนักหนาสาหัสมาก เพื่อนๆหลายท่านที่เจอหน้าผม มักจะถามเป็นเสียงเดียวกันว่า “สถานการณ์ในเมียนมาเป็นไงบ้าง?” ซึ่งผมเองบางครั้งการพบเจอเพื่อนๆ ก็ไม่ค่อยเต็มใจที่จะเอาเรื่องนี้ขึ้นมาบนโต๊ะมากนัก เพราะผมอยากให้การพบเจอกัน เป็นเวลาที่มีความสุข หรือเวลาแห่งการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนมากกว่าครับ
มาเข้าเรื่องของการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาในครั้งนี้กันนะครับ แต่ต้องขอย้อนกลับไปในการเลือกตั้งครั้งปี 2020 สักเล็กน้อยก่อน เพราะในครั้งนั้นไม่เพียงแต่จะส่งผลกระทบต่อการเมืองภายในสหรัฐฯ แต่ยังมีผลสะท้อนถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศเมียนมาเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง จากการเปลี่ยนแปลงในทิศทางการเมืองของสหรัฐฯ เพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเมียนมา โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงการปกครองที่เกิดขึ้นในปี 2021 ได้พลิกผันประวัติศาสตร์การเมืองของประเทศ และสร้างความตึงเครียดในความสัมพันธ์ระหว่างเมียนมาและโลกตะวันตก อย่างที่เราๆได้ทราบกันนั่นแหละครับ
ในครั้งนั้นชัยชนะของการเลือกตั้ง โจไบเดนผู้สมัครจากพรรคเดโมแครตได้ชนะการเลือกตั้งเข้ามาบริหารประเทศ หลังจากที่โจ ไบเดนเข้ามาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีในต้นปี 2021 สหรัฐฯได้เผชิญกับสถานการณ์ที่ยากลำบากในประเทศเมียนมา เมื่อกองทัพเมียนมาได้ทำการยึดอำนาจจากรัฐบาลพรรค NLD ที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งนำโดยท่านดอร์ ออง ซาน ซูจี สถานการณ์ดังกล่าวทำให้รัฐบาลเมียนมา ถูกวิจารณ์อย่างหนักจากประชาคมโลก และส่งผลให้สหรัฐอเมริกาได้ดำเนินการแทรกแซงหรือคว่ำบาตรรัฐบาลเมียนมา และกลุ่มธุรกิจที่สนับสนุนกองทัพในทันที ทำให้เกิดปัญหาทางด้านเศรษฐกิจและการค้า-การลงทุนจากต่างประเทศของประเทศเมียนมาอย่างรุนแรงและต่อเนื่องมาจนถึงวันนี้
นอกจากการคว่ำบาตรแล้ว ยังได้มีการเรียกร้องให้รัฐบาลเมียนมา ได้ส่งมอบประชาธิปไตยให้แก่ประชาชนชาวเมียนมา ด้วยการให้กลับมาใช้สิทธิเลือกตั้งอีกครั้ง ทั้งนี้การกระทำของสหรัฐฯ ไม่เพียงแต่สะท้อนถึงการสนับสนุนประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน แต่ยังเป็นสัญญาณว่าประเทศในโลกตะวันตก เขาไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงการปกครองครั้งนี้
จะเห็นว่าผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง มีความรุนแรงต่อการเมืองในเมียนมาอย่างยิ่ง เพราะผลของการเลือกตั้งก่อนหน้านั้น ไม่ได้รับการยอมรับจากรัฐบาลที่มาจากรัฏฐาธิปัตย์ ผู้นำทางการเมืองหลายคนได้ถูกจับกุมหรือจำกัดสิทธิ ทำให้เกิดการประท้วงและการต่อต้านอย่างมากจากประชาชน รวมถึงการตั้งกลุ่มต่อต้านที่เรียกว่า "National Unity Government" (NUG) ซึ่งเป็นรัฐบาลเงาที่ไม่ยอมรับการปกครองของรัฐบาล ต้องยอมรับว่ากลุ่มนี้เขาก็ได้รับการสนับสนุนจากบางส่วนของประชาชนและประชาคมโลก แต่ก็ยังไม่สามารถมีอำนาจในการควบคุมสถานการณ์ในประเทศได้อย่างเต็มที่
นำมาซึ่งการปะทะกันระหว่างกองทัพและกลุ่มต่อต้าน ซึ่งทำให้เกิดความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง และมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวาง เราคงไม่ต้องกล่าวถึงว่าเกิดจากกลุ่มใดเป็นผู้กระทำหรือผู้ถูกกระทำ สถานการณ์นี้ทำให้ประเทศเมียนมาหลุดออกจากเส้นทางการพัฒนาประเทศ ที่กำลังเริ่มต้นขึ้นก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ทั้งในด้านเศรษฐกิจ การค้า-การลงทุนและสังคม ซึ่งก่อนจะเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 ผมก็เห็นการเริ่มเข้าสู่โหมดของการพัฒนาประเทศ และโครงการต่างๆนั้น จะสร้างความมั่งคั่งให้แก่ประเทศเมียนมาอย่างมั่นคงสถาพรในอนาคต
การเปลี่ยนแปลงการปกครองครั้งนี้ ส่งผลรุนแรงต่อเศรษฐกิจของประเทศ จากการแทรกแซงจากนานาชาติ นำโดยสหรัฐฯและสหภาพยุโรป ทำให้ประเทศเมียนมาถูกตัดขาดจากการเข้าถึงตลาดต่างประเทศ และการลงทุนจากต่างชาติ ซึ่งเป็นแหล่งรายได้สำคัญของประเทศ นอกจากนี้การหยุดชะงักของภาคการผลิตและการบริการ ทำให้เศรษฐกิจของประเทศเมียนมา ยังประสบกับภาวะถดถอยที่รุนแรง ธุรกิจขนาดใหญ่หลายแห่งที่มีการลงทุนจากต่างประเทศ ต้องหยุดชะงักหรือออกจากประเทศ ในขณะที่การค้าภายในประเทศ ก็ได้รับผลกระทบจากความไม่มั่นคงทางการเมืองและความกังวลของนักลงทุน จะเห็นได้จากอัตราการเติบโตของ GDP ลดลงอย่างมาก จากเดิมที่เคยมีการคาดการณ์ว่าจะเติบโตที่ 6-7% ต่อปีก่อนการรัฐประหาร แต่ในปี 2021 การเติบโตของเศรษฐกิจเมียนมาถูกคาดการณ์ว่าจะติดลบมากถึง 18% ซึ่งเป็นการหดตัวที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
หลังจากผลของการเลือกตั้งที่ผ่านมา สหรัฐโดยการนำของโดนัลด์ ทรัมป์จากพรรคริพับลิกัน เราอาจจะมองได้ทั้งสองมุม ไม่ว่าจะเป็นบวกหรือเป็นลบ ย่อมส่งผลต่อประเทศเมียนมาได้ทั้งสองทิศทาง ดังนั้นจึงต้องจับตามองหลังจากการเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการของโดนัลทรัมป์ในต้นปีหน้า นักวิเคราะห์ทางการเมืองทั้งในประเทศเมียนมาและจากต่างประเทศ ต่างให้ความเห็นที่แตกต่างกัน แต่ในส่วนตัวผมคิดว่า โดนัลด์ ทรัมป์ เป็นคนที่ค่อนข้างจะเดาใจยาก ดังนั้นผมขอมองแบบกลางๆตามสไตล์ของผมเองนะครับ ผิดถูกท่านก็ใช้วิจารณญาณเอาเองก็แล้วกันนะครับ
ผมมองว่าที่โดนัลด์ ทรัมป์มักจะพูดว่า “อเมริกาต้องมาก่อน”นั้น อาจจะส่งผลให้เกิดการจัดการกับกลุ่มผู้อพยพอย่างไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ทั้งในสหรัฐเองและประเทศที่อยู่ใต้อาณัติทั้งหลายแหล่ นั่นคงมีผลต่อเมียนมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ครับ ต่อมาที่สำคัญคือการจัดการต่อการขยายอิทธิพลของจีนในภูมิภาคนี้ โดยเฉพาะการขยายตัวของโครงการ BRI หรือที่เรียกในช่วงแรกว่า One Belt One Road ซึ่งเราก็ทราบกันดีว่า วันนี้ประเทศเมียนมาได้มีการทุ่มสุดตัวเพื่อต้อนรับการมาของจีน ดังนั้นถ้ามีการเข้ามาแทรกแซงของสหรัฐฯ ในช่วงที่อยู่ในอำนาจการปกครองของโดนัลด์ ทรัมป์ ก็อดไม่ได้ที่จะน่าเป็นห่วงสำหรับประเทศเมียนมาครับ
เรื่องสุดท้ายคือการสนับสนุนของสหรัฐต่อชนชาติพันธุ์ ซึ่งผมมองว่า อาจจะมีการลดการสนับสนุนลง เพื่อให้เปิดช่องรูอากาศให้รัฐบาลเมียนมาได้หายใจ เพื่อจะได้มีการเลือกตั้งเกิดขึ้น ซึ่งหากเป็นไปตามที่ผมคาดหมาย ผมเชื่อว่าน่าจะเป็นหนทางสว่างสำหรับประเทศเมียนมาจริงๆ แต่อย่างไรก็ตาม ทุกอย่างที่คาดหมายก็ต้องขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ เท่านั้นครับ