เศรษฐกิจดิจิทัลพลังขับเคลื่อนสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนของอาเซียน

22 พ.ย. 2566 | 06:39 น.
อัพเดตล่าสุด :22 พ.ย. 2566 | 06:42 น.

เศรษฐกิจดิจิทัลพลังขับเคลื่อนสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนของอาเซียน : คอลัมน์เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ โดย ผศ.ดร.สินีนาฏ เสริมชีพ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,942 หน้า 5 วันที่ 23 - 25 พฤศจิกายน 2566

ในปัจจุบัน เทคโนโลยีดิจิทัลมีความสำคัญต่อทุกภาคส่วนของระบบเศรษฐกิจ ทั้งในส่วนของการผลิต การให้บริการ และการบริโภค รวมถึงการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ

การขยายตัวของเศรษฐกิจในปัจจุบันจึงต้องอาศัยเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญ และเศรษฐกิจดิจิทัลได้เข้ามามีบทบาทในการขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียน ทั้งในส่วนของการเกิดขึ้นของอุตสาหกรรมใหม่เกี่ยวกับธุรกิจดิจิทัล และการเสริมประสิทธิภาพให้แก่อุตสาหกรรมที่มีอยู่เดิม

 

พัฒนาการทางด้านศรษฐกิจดิจิทัลของอาเซียนในช่วงที่ผ่านมา สามารถพิจารณาได้จากข้อมูลจากรายงานเศรษฐกิจดิจิทัลเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (e-Conomy SEA Report) ซึ่งจัดทำโดย Google, Temasek และ Bain & Company ที่ครอบคลุม 6 ประเทศสมาชิกอาเซียน ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม

ในช่วงปี 2019-2022 พบว่า จำนวนผู้ใช้อินเตอร์เน็ตในอาเซียนเพิ่มขึ้นจาก 360 ล้านคน ในปี 2019 มาอยู่ที่ 460 ล้านคนในปี 2022 และขนาดเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งวัดจากมูลค่าสินค้า (Gross Merchandise Value: GMV) และครอบคลุม 4 อุตสาหกรรมดิจิทัลที่สำคัญ คือ อีคอมเมิร์ซ การท่องเที่ยวออนไลน์ ซึ่งเกี่ยวกับการจองตั๋วเครื่องบินออนไลน์ การจองที่พักออนไลน์, การขนส่งและบริการส่งอาหารออนไลน์​ และ สื่อออนไลน์ มีมูลค่ารวมขยายตัวจาก 1 แสนล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2019 มาอยู่ที่ 2 แสนล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐในปี 2022

 

และมีการคาดการณ์ว่าในปี 2025 มูลค่าสินค้ารวมจะเพิ่มขึ้นเป็น 3.3 แสนล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ

อีกหนึ่งอุตสาหกรรมในเศรษฐกิจดิจิทัลที่มีความสำคัญคือ บริการด้านการเงินดิจิทัล ซึ่งประกอบด้วยบริการ 4 กลุ่ม คือ การลงทุน การประกันภัย การชำระเงิน และการให้สินเชื่อ ซึ่งเป็นสัดส่วนที่ใหญ่ที่สุดในบริการด้านการเงินดิจิทัล 

ในส่วนของอีคอมเมิร์ซ อาเซียนเป็นหนึ่งในระบบเศรษฐกิจที่มีตลาดดิจิทัลโตเร็ว และยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง คาดว่าในปี 2023 อาเซียนจะมีอัตราการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตสูงถึง 70-80% ของประชากร และมีสัดส่วนผู้บริโภคที่ซื้อสินค้าผ่านทางอินเตอร์เน็ตเท่ากับ 50-60%

เมื่อคำนวณขนาดตลาดโดยพิจารณาจากมูลค่าสินค้า (GMV) พบว่า มีมูลค่าสูงถึง 2.18 แสนล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเพียงประมาณครึ่งหนึ่งของมูลค่าดังกล่าวที่เป็นรายได้ของธุรกิจ

ในปัจจุบัน ธุรกิจอีคอมเมิร์ซมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และถึงจุดที่ธุรกิจต้องหันมาพัฒนาให้ผลประกอบการทั้งในรูปรายได้และผลกำไรเติบโตมากขึ้น เนื่องจากปัจจัยเหล่านี้เป็นส่วนที่จะทำให้ธุรกิจสามารถอยู่รอดและเติบโตอย่างยั่งยืนต่อไปได้

ผู้ประกอบการด้านอีคอมเมิร์ซ จึงเน้นด้านการเพิ่มประสิทธิภาพในการประกอบธุรกิจ เน้นการใช้เทคโนโลยีในการเพิ่มประสิทธิภาพ

สำหรับบริการด้านการเงินดิจิทัล พบว่า ผู้บริโภคในอาเซียนใช้บริการด้านการเงินดิจิทัลเพิ่มขึ้น และพฤติกรรมที่เปลี่ยนมาใช้บริการการเงินผ่านช่องทางออนไลน์นั้น เกิดขึ้นแบบถาวร ซึ่งจะทำให้บริการด้านการเงินดิจิทัลเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง

ในช่วงปี 2021-2023 การให้สินเชื่อผ่านช่องทางออนไลน์มีการเติบโตสูงสุดเท่ากับ 46% รองลงมาคือ การลงทุนผ่าน ช่องทางออนไลน์ ที่ขยายตัว 31% ส่วนการชำระเงินทางช่องทางออนไลน์มีมูลค่าสูงถึง 50% ของการชำระเงินทั้งหมด แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มการใช้เงินสดที่ลดลง

โดยสาเหตุหนึ่ง ที่ทำให้การชำระทางออนไลน์สูงขึ้นคือ การที่ร้านค้าพยายามลดต้นทุนโดยจูงใจให้คนใช้การโอนจากบัญชีสู่บัญชี (Account-to-account: A2A) หรือ การจ่ายเงินผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัล (e-Payment wallet) ซึ่งการจ่ายในรูป แบบดังกล่าวมีต้นทุนที่ถูกลง

ในส่วนของการให้สินเชื่อผ่านช่องทางออนไลน์ ทำให้คนกลุ่มที่ไม่สามารถเข้าถึงระบบธนาคาร รวมถึงธุรกิจขนาดเล็กสามารถขอรับสินเชื่อผ่านช่องทางออนไลน์ได้มากขึ้น สามารถใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ในการระดมทุนจากนักลงทุนจากทั่วโลกได้ 

เศรษฐกิจดิจิทัลพลังขับเคลื่อนสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนของอาเซียน

 

เศรษฐกิจดิจิทัลมีบทบาทสำคัญต่อการเติบโตของเศรษฐกิจอาเซียน โดยหากต้องการให้มีการเติบโตอย่างยั่งยืน จำเป็นต้องมีแนวทางในการลดช่องว่างทางดิจิทัล (Digital divide)ด้วย เพื่อให้ทุกภาคส่วนของระบบเศรษฐกิจสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลได้อย่างเท่าเทียม ให้ทุกคนสามารถมีส่วนร่วม และใช้ประโยชน์จากเศรษฐกิจดิจิทัลได้

โดยปัจจัยที่จะทำให้มุ่งสู่เศรษฐกิจดิจิทัลที่ยั่งยืนได้คือ

(1) ธุรกิจมีผลประกอบการที่เติบโต เพื่อเป็นรากฐานในการขยายตัวและเพื่อการพัฒนาต่อไป

(2) การคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล ตามแนวทางESG (Environment, Social and Governance)

(3) ความเท่าเทียมทางดิจิทัล (Digital inclusion) ซึ่งความเชื่อมโยง (Connectivity) เป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้คนในพื้นที่ต่างๆ เข้าถึงช่องทางออนไลน์ได้

และ (4) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับข้อมูล

ในระดับประเทศ รัฐบาลของประเทศสมาชิกอาเซียนต่างมุ่งเน้นในการพัฒนาระบบนิเวศน์ด้านดิจิทัล เพื่อให้การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล ในระดับภูมิภาคอาเซียน ตระหนักถึงความสำคัญของเศรษฐกิจดิจิทัล และมีความพยายามในการพัฒนาให้เกิดการตกลงด้านเศรษฐกิจดิจิทัล

โดยเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2023 อาเซียนได้เริ่มเจรจาตามกรอบความตกลงเศรษฐกิจดิจิทัลอาเซียน (Digital Economy Framework Agreement: DEFA) ซึ่งเป็นกรอบความตกลงด้านเศรษฐกิจดิจิทัลระดับภูมิภาคกรอบแรกของโลก

โดย DEFA มีเป้าหมายเพื่อสร้างระบบนิเวศน์ทางดิจิทัลที่ยั่งยืนและครอบคลุม ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาและการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลในอาเซียน และคาดว่าจะเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัลของอาเซียน เป็น 2 ล้านล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2030

ทั้งนี้ มีการคาดการณ์ว่าจะเจรจาแล้วเสร็จภายในปี 2025 ในกรอบความตกลงเศรษฐกิจดิจิทัลอาเซียนจะมี 9 องค์ประกอบหลักของความตกลงคือ (1) การค้าดิจิทัล (2) อีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดน (3) ความปลอดภัยทางไซเบอร์ (4) ดิจิทัลไอดี

(5) การชำระเงินดิจิทัล (6) การเคลื่อนย้ายข้อมูลข้ามพรมแดน (7) การเคลื่อนย้ายผู้มีทักษะด้านดิจิทัลและความร่วมมือ (8) นโยบายการแข่งขัน และ (9) ความร่วมมืออื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

กล่าวโดยสรุปคือ เศรษฐกิจดิจิทัลเป็นปัจจัยที่สำคัญต่อการเติบโตอย่างยั่งยืนของอาเซียน อย่างไรก็ตาม การพัฒนาของเศรษฐกิจดิจิทัลต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ และภาคประชาสังคม