ALL ต้องจับตา... น่าห่วง หาเงินใช้หนี้

05 พ.ค. 2566 | 05:00 น.
อัปเดตล่าสุด :23 ก.ค. 2566 | 12:08 น.

ALL ต้องจับตา... น่าห่วง หาเงินใช้หนี้ คอลัมน์เมาธ์ทุกอำเภอ โดย...เจ๊เมาธ์

*** ล่าสุดราคาหุ้นของ ALL หรือ บมจ. บมจ.ออลล์ อินสไปร์ ดีเวลลอปเม้นท์ มีราคาหุ้นหน้ากระดานอยู่ที่ 0.13 บาท ปรับลงมาจากราคาในตอนที่เจ๊เมาธ์เคยบอกว่า ควรจะต้องอยู่ให้ห่างหลังจากที่ ALL แก้เกมการผิดนัดชำระหนี้ดอกเบี้ยหุ้นกู้ในวันที่ 3 ม.ค. 66 ด้วยการ “ตัดแขนเพื่อรักษาชีวิต” ด้วยการขายสินทรัพย์บางส่วน เพื่อนำเงินมาใช้หนี้ ซึ่งท้ายที่สุดมันก็ไม่ต่างจากคนไม่มีแขน ที่จะทำมาหากินอะไรก็ยุ่งยากไปทุกอย่าง

โดยสถานะปัจจุบัน ALL มีเงินกู้ระยะยาวจากสถาบันการเงิน มีเงินกู้ยืมบุคคลภายนอก และหุ้นกู้ที่ถึงกำหนดชำระภายใน 1 ปี รวม 4,369 ล้านบาท มีภาระผูกพันใน 1 ปี ที่จะต้องจ่ายชำระค่าซื้อที่ดิน เพื่อใช้เป็นที่ตั้งโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อขายในอนาคต จำนวน 1,597 ล้านบาท ขณะที่มีเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด 5 ล้านบาท และกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน 188 ล้านบาท ทำให้เกิดข้อกังขาว่า จะหาเงินที่ไหนมาใช้หนี้เหล่านี้ได้ทัน

ล่าสุดตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ได้มีหนังสือลงวันที่ 11 เม.ย. 2566 แจ้งไปทาง ALL เพื่อให้ชี้แจงข้อมูลในงบการเงินประจำปี 2565 ในประเด็นหลักๆ เรื่องความสามารถในการชำระหนี้ และสถานะการประกอบธุรกิจของกลุ่มบริษัท งานนี้บอกเลยว่าหนัก...ก่อนหน้านี้มูลหนี้แค่ 10 กว่าล้านยังถึงกับต้องขายสินทรัพย์มาใช้หนี้ แล้วจะไปหาเงินมาจากที่ไหนได้ทัน เอาเป็นเจ๊เมาธ์ยังคงย้ำว่า หนังชีวิตเรื่องนี้น่าจะใกล้จบ...จบสวยหรือไม่คงพอแลเห็น

 

*** เฟดปรับดอกเบี้ยขึ้นอีก 0.25% ในวันที่ 3 พ.ค. โดยมีแนวโน้มว่าอาจเป็นการขึ้นดอกเบี้ยครั้งสุดท้าย ตามมาด้วยการเลือกตั้งใหญ่ทั่วประเทศที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 14 พ.ค. ซึ่งหากไม่มีอุบัติเหตุ หากความเชื่อมั่นกลับคืนมา...ภาวะเศรษฐกิจส่งสัญญาณการกลับตัวในทางที่ดีขึ้น

โดยหุ้นกลุ่มที่จะได้ประโยชน์และปรับตัวขึ้นก่อนใครก็จะหนีไม่พ้นหุ้นธนาคารใหญ่ เช่น KBANK SCB BBL KTB และ TTB เนื่องจากหุ้นกลุ่มธนาคารเหล่านี้ จะเป็นตัวสะท้อนภาวะเศรษฐกิจได้ดีที่สุด เพราะหากมีแนวโน้มว่าเศรษฐกิจจะดีขึ้นหุ้นธนาคารเหล่านี้ จะปรับตัวขึ้นก่อนใคร ขณะเดียวกันมีสัญญาณว่าเศรษฐกิจจะชะลอตัว หุ้นธนาคารเหล่านี้ก็จะปรับลงก่อนหุ้นกลุ่มอื่นเช่นเดียวกัน

โดยในช่วงปีที่ผ่านมาราคาหุ้นกลุ่มธนาคารเหล่านี้ ปรับลงมาจากจุดที่ราคาที่ควรจะเป็นมากแล้ว และยังพบว่า ผลการดำเนินงาน 1/66 ของหุ้นธนาคารใหญ่เริ่มปรากฏรายรับ ที่มาจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยตามการการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของ กนง. เข้ามาแล้วอย่างชัดเจน ซึ่งนั่นก็ทำให้ภาพรวมปี 66 ของหุ้นธนาคารใหญ่จะเปลี่ยนไปอย่างชัดเจน ดังนั้น หุ้นธนาคารใหญ่อย่าง KBANK SCB BBL KTB และ TTB จึงถือว่าน่าสนใจสะสมมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจังหวะนี้หุ้นตัวแรงอย่าง KTB ถือว่าดูดีที่สุด

 

*** จังหวะนี้ผู้ที่ลงทุนในหุ้นของ TLI ดูเหมือนว่าจะยังมองไม่เห็นทางออกว่า จะหลุดพ้นออกไปจากกับดักราคาไอพีโอที่ 16 บาท ไปได้เมื่อไหร่ เพราะถึงแม้ว่าผลการดำเนินงาน 1/66 อาจจะถือเป็นไฮซีซั่นของหุ้นประกันภัย แต่ปัญหาเรื่องการเป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นของ STARK ในจำนวน 128,078,800 หุ้น หรือคิดเป็น 1.08% ได้ทำให้นักลงทุนถึงกับมึนในปัญหาใหม่ที่กำลังโถมเข้ามา

ถึงแม้บทวิเคราะห์จากบางสำนักจะบอกว่า TLI ยังคงแข็งแกร่ง เพราะอาจกระทบกับกำไรปกติในปี 2566 มากสุดคือ -6% ในกรณีที่ตีมูลค่าหุ้น STARK กลายเป็น 0 หาก TLI ทำการขายหุ้นออกมา หรือกระทบ Equity ปี 2566 มากสุด -0.3% ในกรณีตีมูลค่าหุ้น STARK เป็น 0 แต่ TLI ยังคงถือหุ้นเอาไว้

แต่เจ๊เมาธ์บอกได้เลยว่า ปัญหาของ TLI ไม่ได้อยู่ที่ว่ายังคงแข็งแกร่งหรือไม่ หรือ ว่าจะแข็งแกร่งไปอีกนานแค่ไหน แต่ปัญหาของ TLI ในตอนนี้คือเรื่องของความเชื่อมั่นในทิศทางของราคาหุ้น เพราะขนาดที่ยังไม่มีปัญหาของ STARK เข้ามาแต่นักลงทุนเป็นจำนวนมากก็ยังติดดอยที่ราคาไอพีโอ และเมื่อมีปัญหาของ STRAK รวมเข้ามาอีกแบบนี้แล้ว TLI จะเอาอะไรมาดันราคาหุ้นได้หละเจ้าค่ะ

*** เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 65 หุ้นตัวใหญ่อย่าง BTG หรือ บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) เปิดการซื้อขายในวันแรกโดยราคาหุ้นร่วงลงไปถึง -9.38% ด้วยการปิดราคาที่ 36.25 บาท จากราคาจองซื้อที่ 40.00 บาท และจนมาถึงวันนี้ผ่านไปแล้วครึ่งปี แต่ราคาหุ้นของ BTG กลับมีแต่ดิ่งลงในแบบที่มองหาจุดต่ำสุดยังไม่เห็น เพราะด้วยราคาหุ้นหน้ากระดานล่าสุดที่ 22.40 บาท และลงไปต่ำสุดที่ 22.00 บาท ทำให้เงินต้นของนักลงทุนที่ติดดอยราคาไอพีโออยู่หายไปแล้วเกือบ 50% ในขณะที่หากต้องการให้ราคาหุ้นของ BTG กลับขึ้นไปอยู่ที่ราคาไอพีโอที่ 40.00 บาท กลับต้องจะดันราคาขึ้นไปอีกเกือบๆ 100% เลยทีเดียว

*** ก็เป็นอย่างที่เจ๊เมาธ์เคยบอกไปว่า การให้ข้อมูลต่อสาธารณะที่มีน้อย ทั้งกระจายหุ้นไม่ว่าหุ้นไอพีโอ หรือ กรีนชู รวมถึงการจ่ายปันผลที่แต่ละอย่างล้วนแล้วแต่ดูแปลกๆ การทำอะไรงุบงิบๆ ซึ่งพอถูกตั้งคำถามก็บอกให้ไปอ่านไฟลิ่งแทน ก็เลยส่งผลให้นักลงทุนรายใหม่ขาดความเชื่อมั่นไม่กล้าเข้ามายุ่ง ท้ายที่สุดก็มาลงที่ราคาหุ้น...เรื่องก็ไม่ซับซ้อนเพราะสาเหตุที่ราคาหุ้นมีแต่ปรับลงเป็นแบบนี้นั้นเอง

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,885 วันที่ 7 - 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2566