ส่องหุ้นหลุมหลบภัย ในภาวะสงครามรอบตัว

17 ต.ค. 2566 | 21:29 น.
อัปเดตล่าสุด :18 ต.ค. 2566 | 00:09 น.

ส่องหุ้นหลุมหลบภัย ในภาวะสงครามรอบตัว คอลัมน์เมาธ์ทุกอำเภอ โดย...เจ๊เมาธ์

*** แม้สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน จะได้รับความสนใจจากประชาคมโลกน้อยลง แต่สงครามนั้นก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะจบ จนล่าสุดสงครามครั้งใหม่ระหว่าง “อิสราเอล” กับ “ฮามาส” (กองกำลังติดอาวุธปาเลสไตน์) ในตะวันออกกลางก็เข้ามาอีก กดดันภาวะเศรฐกิจทั่วโลกที่ยังไม่ฟื้นตัว จากวิกฤตการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด 19 จนทำให้กลายเป็นวิกฤตซ้อนวิกฤตแบบ 3 เด้ง กันอีกครั้ง
 
ในส่วนของวิกฤตการณ์ที่เกิดจากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด 19 แม้จะทิ้งเชื้อร้ายเอาไว้ แต่ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องพูดถึงเพราะผ่านไปแล้ว แต่ในทางกลับกันผลกระทบของสงครามที่ยังไม่จบทั้ง 2 สงคราม ทั้ง สงครามรัสเซีย-ยูเครน และ สงครามอิสราเอล-ฮามาส กลับเป็นเรื่องที่เจ๊เมาธ์คิดว่ามีทั้งความเหมือนและความต่าง ที่เราควรจะต้องศึกษาเพื่อลดผลกระทบที่มีให้มากที่สุด
 
อย่างแรก...สิ่งที่สงครามในทั้งสองสมรภูมิมีความคล้ายกัน ก็เป็นเรื่องของ “สงครามตัวแทน” (Proxy War) ซึ่งมีผู้เล่นนอกพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมโดยให้การสนับสนุนผ่านทางเงินทุนและอาวุธ ในแบบที่มีทั้งออกหน้าและไม่ออกหน้าให้ประชาคมโลกได้รับรู้ แม้ว่าจะเป็นที่รู้กันโดยไม่จำเป็นต้องพูดก็ตาม

อย่างที่สองเป็นผลกระทบที่ไม่แตกต่าง นั่นคือ ปัญหาที่เกี่ยวข้องตลาดพลังงานของโลก โดยในส่วนของสงครามรัสเซีย-ยูเครน เนื่องจากรัสเซียซึ่งเป็นคู่ขัดแย้งโดยตรง คือ ประเทศผู้ผลิตน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาตินอก OPEC รายใหญ่ ซึ่งเมื่อเกิดสงครามทำให้ชาติตะวันตก ที่นำโดยสหรัฐและยุโรป ได้ร่วมกันสนับสนุนยูเครนโดยการส่งเงิน...อาวุธ รวมถึงทำการแบนสินค้าพลังงานจากรัสเซีย จนเป็นเหตุให้ราคาน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติทั่วโลกปรับราคาสูงขึ้น 
 
ขณะเดียวกันในฟากของ สงครามอิสราเอล-ฮามาส ก็ได้สร้างผลกระทบกับตลาดพลังงานต่อตลาดโลกไม่ต่างกัน เนื่องจากอิสราเอลเป็นผู้ผลิตก๊าซธรรมชาติรายใหญ่ของโลก (ใหญ่ขนาดที่สามารถรองรับความต้องการของยุโรปได้หลังจากที่ระงับการซื้อก๊าซจากรัสเซีย หลังการเกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน) 

ขณะเดียวกันผู้เล่นนอกพื้นที่ในสงครามอิสราเอล-ฮามาส อย่าง “อิหร่าน” ซึ่งบอกว่าจะไม่อยู่เฉยหากอิสราเอลทำการบุก “ฉนวนกาซา” ทางภาคพื้นดิน โดยที่ “อิหร่าน” เป็นทั้งผู้ส่งออกน้ำมันดิบรายใหญ่ รวมไปถึงมีอิทธิพลใน “ช่องแคบฮอร์มุซ” (Strait of Hormuz) ซึ่งเป็นทางผ่านเดียวที่ประเทศแถบอ่าวเปอร์เซีย ใช้เป็นทางออกสู่มหาสมุทรอินเดีย โดย 20% ของการขนส่งน้ำมันทั่วโลกต้องผ่านเส้นทางนี้

และหากสงครามอิสราเอล-ฮามาส ขยายตัวออกไปเป็นสงครามระดับภูมิภาค ก็อาจจะทำให้เกิด “สงครามตัวแทน” โดยแน่นอนว่าในฝั่งของอิสราเอลจะมีสหรัฐฯ อังกฤษ และ ประเทศในยุโรปอีกหลายแห่งให้การสนับสนุนเป็นอีกขั้ว เช่นเดียวกับที่สนับสนุนยูเครน 

ขณะที่ในฝั่งของฮามาสก็จะมีกองกำลังติดอาวุธ เช่น กลุ่ม “ฮิซบอลเลาะห์” ซึ่งเป็นกลุ่มมุสลิมชีอะห์ติดอาวุธในเลบานอน รวมถึงมีซีเรีย และอิหร่าน รวมถึงประเทศอื่นอีกหลายแห่งที่ไม่ออกหน้า (แม้ไม่ได้ให้การสนับสนุนโดยตรงแต่อาจมีความเกี่ยวข้องทางอ้อม) 
 
ดังนั้น...ท้ายที่สุดทั้งสองสมรภูมิ ก็จะสร้างปัญหาวนเวียนอยู่กับเรื่องของสินค้าพลังงาน เช่น น้ำมันดิบ และก๊าซธรรมชาติ อย่างแยกไม่ออกอยู่ดีนั่นเอง
 
*** คราวนี้เรามาดูว่าหุ้นตัวใดที่จะสามารถใช้เป็น “หุ้นหลุมหลบภัย” ในภาวะของ “สงครามตัวแทน” ที่เกิดขึ้นในทั้งสองสมรภูมิกันบ้าง โดยที่ PTTEP คือ หุ้นที่เจ๊เมาธ์และนักวิเคราะห์ทั้งหลายมองว่า จะได้รับประโยชน์ในทางตรงมากที่สุด เนื่องจากสินค้าหลักของ PTTEP ก็คือ น้ำมันดิบ และก๊าซธรรมชาติ ขณะที่ในมิติของรายได้คือ 50% เป็นสัดส่วนจากน้ำมัน และการเปลี่ยนแปลงของราคาน้ำมันทุก 1 ดอลลาร์สหรัฐ จะกระทบกับกำไรปีหน้าที่ 1.8% ขณะเดียวกันหุ้นในกลุ่มของโรงกลั่นน้ำมัน เช่น TOP BCP และ SPRC ก็จะได้อานิสงส์จากราคาน้ำมัน ที่ปรับขึ้น หรือ ทรงตัวในระดับสูง 
 
ขณะที่หุ้นธนาคารอย่าง KBANK SCB BBL KTB และ TTB รวมไปถึงหุ้นในกลุ่มสถานพยาบาล เช่น BDMS BH แม้ว่าอาจจะไม่ได้รับผลกระทบในเชิงบวก แต่ด้วยราคาหุ้นที่ลงมาต่ำมากแล้ว ก็ถือได้ว่าใช้เป็นหลุมหลบภัยได้
 
ส่วนหุ้นที่อาจจะต้องชะลอดูไปก่อนก็เป็นหุ้น “กลุ่มโรงไฟฟ้า” เพราะคาดได้รับผลกระทบจากต้นทุนพลังงาน ทั้งน้ำมันและก๊าซที่เพิ่มสูงขึ้น ส่วน “กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์” แม้ไม่ได้รับผลกระทบโดยตรง แต่ความไม่ชัดเจนของเหตุการณ์ก็มีความเสี่ยง ที่จะทำให้อุตสาหกรรมเทคโนโลยีหยุดชะงัก ส่วนทาง “กลุ่มท่องเที่ยว” ถ้าสงครามยืดเยื้ออาจกระทบต่อการเดินทางของนักท่องเที่ยวจากอิสราเอล ตะวันออกกลาง และ ภูมิภาคใกล้เคียง
 
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากสถานการณ์มีความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด ดังนั้น จังหวะนี้ถ้านั่งทับมือได้ก็ทำไปก่อน...ส่วนถ้าใครที่มีหุ้นพื้นฐานดีอยู่ในมือก็ยังไม่ต้องรีบ ให้ถือซะว่า “ไม่ขายไม่ขาดทุน” เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้เจ้าค่ะ

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,932 วันที่ 19 - 21 ตุลาคม พ.ศ. 2566