ระบบหลังบ้านของการค้าไทยที่ไม่มีใครมอง

19 มี.ค. 2566 | 01:09 น.
อัปเดตล่าสุด :19 มี.ค. 2566 | 01:19 น.

วันนี้ความเข้าใจของคนทำธุรกิจในคำว่า “โลจิสติกส์” นั้นไปไกลกว่าการคมนาคม การขนย้ายสินค้า แต่หมายรวมถึง กิจกรรมทุกอย่างที่เกี่ยวกับการโยกย้าย ถ่ายเท เคลื่อนที่

ทั้งวัตถุดิบ ปัจจัยการผลิต ตัวสินค้า ผู้คน หรือแม้แต่ข้อมูลข่าวสารทั้งหมดในการดำเนินธุรกิจของเขา ซึ่งอาจจะเกี่ยวข้องทั้งภายในและภายนอกองค์กร ทั้งหน่วยธุรกิจอื่นรวมถึงหน่วยงานราชการทั้งหลาย ที่ธุรกิจของเขาต้องไปเกี่ยวข้อง ต้นทุนที่เกิดขึ้นจึงไม่ใช่มีเพียงแค่ต้นทุนตัวผลิตภัณฑ์ ค่าบริการ ค่าเอกสาร แต่รวมไปถึง “เวลา” ที่ทุกนาทีล้วนมีค่าเป็นเงินเป็นทอง และทั้งหมดนั้นส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจ

ถ้ามองในภาพรวมของประเทศนั้น ต้นทุนโลจิสติกส์ของประเทศเราคิดเป็นมูลค่ากว่า 2 ล้านล้านบาท หรือประมาณกว่า 14% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) สูงกว่าสองเท่าเมื่อเทียบประเทศที่พัฒนาแล้วที่อยู่ระหว่าง 5-8% ของ GDP และสูงกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มประเทศเอเซียแปซิฟิกที่อยู่ที่ 12% ดังนั้นยุทธศาสตร์การจัดการ

โลจิสติกส์จึงเกิดมาในช่วงปี 2550 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนการพัฒนาผลิตภาพอุตสาหกรรมแห่งชาติ (Productivity Enhancement) โดยมองรวมถึงทุกกิจกรรมโลจิสติกส์ในระบบภาคการผลิต ระบบขนส่งคมนาคม รูปแบบธุรกิจโลจิสติกส์ การอำนวยความสะดวกทางการค้า และการพัฒนาบุคลากร 

ตั้งแต่นั้นหน่วยงานต่าง ๆ ได้พัฒนาระบบงานของตนเองเพื่อลดต้นทุนการผลิต แต่ก็เป็นแบบราชการ กล่าวคือ ว่ากันเป็นส่วน ๆ ที่ตนเองเกี่ยวข้อง เช่น ภาคอุตสาหกรรมก็มีการพัฒนาระบบจัดการผลิตภายในโรงงาน ภาคขนส่ง
ก็พัฒนาด้านคมนาคม รถไฟรางคู่ การขนส่งทางเรือ ฯลฯ

และหน่วยงานราชการต่าง ๆ เริ่มพัฒนาระบบอนุญาตการส่งออกและนำเข้าให้เชื่อมโยงกัน ที่เรียกว่า National Single Window โดยมีคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (กพร.) และกรมศุลกากรเป็นหน่วยงานแกนกลางเชื่อมกับหน่วยงานอื่น ๆ อีกกว่า 37 หน่วยงาน รวมทั้งเอกชน และในระบบใหญ่นั้น

ก็มีการรวมกลุ่มกันบางหน่วยงานเพื่อภารกิจเฉพาะ เช่น การออกใบอนุญาตทำงานในประเทศของบริษัทที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน ที่มีสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) กรมแรงงาน และสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ฯลฯ ทั้งนี้เพื่ออำนวยความสะดวก ลดต้นทุนและขั้นตอนของเอกสาร รวมถึงลดระยะเวลาในการดำเนินงาน 

ในปัจจุบันที่การค้าระหว่างประเทศมีปริมาณมากขึ้น รวมทั้งเงื่อนไข และกติกาการค้าที่มีความยุ่งยากมากขึ้น ทำให้ต้องใช้เอกสารในการขออนุญาตจำนวนมาก เกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน และใช้เวลานานในการติดต่อแต่ละแห่ง ส่งผลต่อต้นทุนการดำเนินธุรกิจทั้งทางการเงินและเวลา ทำให้ลดทอนศักยภาพในการแข่งขันของภาคธุรกิจ

ทางภาคเอกชน โดยคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ได้จัดทำแพลตฟอร์มการค้าดิจิทัลระหว่างประเทศ หรือ National Digital Trade Platform (NDTP) ขึ้นมาตั้งแต่ปี 2562 โดยภาครัฐให้การสนับสนุนในการจัดตั้งคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจเรื่องนี้ขึ้นมา โดยมี กพร. เป็นแม่งาน ซึ่งวันนี้ก็ก้าวหน้าไปไกล มีการนำเสนอในงานประชุม ASEAN และ APEC ทุกครั้ง จนหลายประเทศให้ความสนใจที่จะร่วมมือ

ซึ่งตอนนี้ก็สามารถทดสอบบางกิจกรรมกับแพลตฟอร์มประเภทเดียวกันในประเทศญี่ปุ่น สิงค์โปร์ และในระหว่างธุรกิจกับธุรกิจ (B2B) ก็สามารถทำรายการซื้อขาย การตรวจสอบเอกสารการค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ได้รับตรวจสอบตามมาตรฐาน ทั้งใบสั่งซื้ออิเล็กทรอนิกส์ ใบแจ้งหนี้ ใบกำกับหีบห่อ ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมดได้ และสามารถในการทำธุรกรรมกับทางธนาคารในกลุ่มนี้ได้ ซึ่งช่วยลดต้นทุน

ด้านเอกสาร ยกเลิกกิจกรรมซ้ำซ้อน รวดเร็ว มีประสิทธิภาพ ส่งผลต่อการนำเข้าส่งออกที่รวดเร็ว แม่นยำ ถูกต้อง และมีประสิทธิภาพ

ประโยชน์ที่สำคัญของระบบนี้ นอกจากช่วยลดต้นทุนด้านเวลา และอำนวยความสะดวกในการส่งออกแล้ว

ยังช่วยให้ธนาคารสามารถใช้เอกสารอิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้พิจารณาสินเชื่อหรือธุรกรรมการเงินให้กับธุรกิจได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งในอนาคตก็สามารถช่วยเหลือให้ SME เข้าถึงระบบสินเชื่อได้ง่ายขึ้น อย่างไรก็ตาม ในการนำเข้าและส่งออกของประเทศ

ในวันนี้ต้องเกี่ยวข้องกับหน่วยงานราชการจำนวนมากราว 20 – 30 หน่วยงาน ยิ่งสินค้าเกษตร อาหาร ยิ่งมีความยุ่งยากและต้องผ่านการพิจารณาของหลายหน่วยงาน ดังนั้น หากเราสามารถเชื่อมหน่วยงานต่าง ๆ เข้ามาในระบบ NDTP นี้ได้
ก็จะช่วยให้การค้าระหว่างประเทศของเรามีความสะดวก รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะหน่วยงานทั้งหมด

ทั้งภาครัฐที่ดูแลหรืออนุญาต ตรวจสอบ และภาคธุรกิจเอกชน ทั้งสถาบันการเงิน ธุรกิจโลจิสติกส์ ขนส่ง เข้ามาเชื่อมโยงกันซึ่งจะช่วยให้การวางแผนจัดการนำเข้าส่งออกมีประสิทธิภาพมากขึ้น  

อย่างไรก็ตาม ในภาคต่อไปของแพลตฟอร์มการค้าดิจิทัลระหว่างประเทศนี้ต้องการเจ้าภาพในภาพรวม ซึ่งต้องเป็นหน่วยงานที่มีความเข้าใจในระบบมหภาคของการค้าระหว่างประเทศว่าเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน ซึ่งแต่ละหน่วยงานมีกฎ ระเบียบ หรือกฎหมายตาม พรบ. ของตนเอง ต้องใช้เอกสารจำนวนมากและบ่อยครั้งมีความซ้ำซ้อน

นอกจากนั้น ระเบียบราชการหลายแห่งยังไม่ยอมรับเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งต้องมีระบบ Document Registry เข้ามาในระบบด้วย 

ดังนั้น สิ่งที่ “เจ้าภาพ” ต้องทำก็คือ 

  • ทำให้หน่วยงานราชการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกและนำเข้ามาเชื่อมกับระบบนี้ให้มากที่สุด โดยเฉพาะหน่วยงานสำคัญ เช่น กรมศุลกากร กรมปศุสัตว์ สำนักงานอาหารและยา ฯลฯ ซึ่งผมคิดว่าไม่ยาก เพราะปัจจุบันเรามี National Single window ที่มีความร่วมมือของหน่วยงานต่าง ๆ อยู่แล้ว 
  • ตรวจสอบข้อจำกัดทางกฎระเบียบ เพื่อการแก้ไขกฎ ระเบียบ และ พรบ. ที่หน่วยงานต่าง ๆ ใช้เป็นฐานในการทำงาน เพื่อแก้ไข ออกระเบียบ ในการช่วยลดกิจกรรมซ้ำซ้อน ลดเอกสาร หรือการใช้เอกสารอิเล็กทรอนิกส์ในการพิจารณา รวมทั้งปรับปรุงระบบการทำงานให้เชื่อมโยงกว้างขวางและรวดเร็วยิ่งขึ้น  
  • สร้างระบบเสริม และพัฒนาระบบเดิมเพื่อให้การดำเนินงานครบวงจรมากที่สุด รวมทั้งระบบการตรวจสอบเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ และระบบความปลอดภัยทางด้านอิเล็กทรอนิกส์ 
  • ในขั้นต้นนี้ ต้องมีการผลักดันแพลตฟอร์มนี้ให้เป็นของ ASEAN ให้ได้โดยเร็ว ซึ่งทางที่ประชุมอาเซียนก็เห็นชอบในโครงการนี้มากว่า 15 ปีแล้ว เพื่อช่วยให้อาเซียนกลายเป็นตลาดเดียวและฐานการผลิตเดียวกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ และจะช่วยให้บริษัทผู้ค้า นำเข้า และส่งออกมีความมั่นใจต่อระบบและเข้ามาอยู่ในแพลตฟอร์มนี้มากขึ้น  
  • หาผู้ดูแลระบบแพลตฟอร์ม ซึ่งปัจจุบันก็น่าจะเป็นบริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ แต่จะต้องทำธุรกิจที่มีจิตวิญญาณแบบธุรกิจจริง ๆ   

แม้ว่าหลายคนที่เกี่ยวข้องในวงธุรกิจ การค้า ส่งออกนำเข้า มองว่า ถึงเวลาที่เราต้องจัดการเรื่องโลจิสติกส์การค้าสักที เรื่องที่เป็นดิจิทัล ไม่ใช่เอะอะสร้างท่าเรือ สร้างสนามบินและถนน เท่านั้น แต่เป็นเรื่องของการสร้างระบบเชื่อมโยงการถ่ายเท การเคลื่อนไหวของข้อมูล เอกสารดิจิทัลที่สำคัญทางการค้าและการกำกับ ดูแลของภาครัฐ

ที่ผ่านมาทุกคนมองเห็นประโยชน์และความจำเป็นของระบบและแพลตฟอร์มนี้ เพียงแต่อาจเป็นเพราะเป็นของที่อยู่หลังบ้าน อยู่ในมุมที่มองไม่เห็น หรือพูดไปก็เข้าใจยาก ไม่เหมือนนโยบายประชานิยมทั้งหลาย ก็เลยไม่ค่อยได้รับความสนใจของนักการเมืองในการกำหนดเป็นนโยบายพรรค แต่ผู้คนจำนวนมากก็ทำมานาน

โดยเฉพาะ กกร. ก็ปิดทองหลังพระมาเยอะแล้ว วันนี้น่าจะถึงเวลาที่หน่วยงานภาครัฐ หรือพรรคการเมืองที่ยังมองไกล มีความคิดลึกซึ้งถึงการพัฒนาขีดความสามารถในการค้าระหว่างประเทศของไทยในมุมนี้แล้ว ผมเชื่อว่านี้แหละคือการพัฒนาที่ยั่งยืน

ที่ผมว่า “ยั่งยืน” ก็เพราะเราสร้างระบบที่มีประสิทธิภาพ ไม่ใช่ของที่ “ฉาบฉวย” และกัดกร่อนระบบในระยะยาว ครับ