ซึ่งเงื่อนไขและลักษณะของสองมาตรฐานนั้นมีวัตถุประสงค์ต่างกันออกไป โดย มอก. มีเงื่อนไขที่ผู้ประกอบการมักต้องลงทุนสูงในการดำเนินงานเพื่อให้ได้การรับรองตามมาตรฐานนั้น แต่สำหรับผู้ประกอบการ บางรายที่มีศักยภาพและคุณภาพดี แต่ไม่ต้องการลงทุนสูงในการกำกับดูแล ทำให้ขาดโอกาสในการได้รับรองมาตรฐาน
ในขณะที่ มผช. จะเน้น เพื่อยกระดับวิสาหกิจชุมชนโดยเฉพาะ เน้นการพัฒนาคุณภาพของสินค้าของชุมชนเป็นสำคัญ ได้มาตรฐานความปลอดภัยต่อผู้บริโภคและมีความเป็นชุมชน ทำให้เกิดช่องว่างของระบบมาตรฐานอุตสาหกรรมสำหรับผู้ประกอบการในระดับเล็กจำนวนมากที่ผลิตสินค้าและบริการที่มีคุณภาพ ปลอดภัย แต่ไม่เข้าเงื่อนไขของสองมาตรฐานข้างต้น
ประกอบกับในช่วงเวลาดังกล่าว รัฐบาลได้ส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนเพื่อเป็นตัวเร่งเศรษฐกิจและกระจายรายได้ ในพื้นที่ ดังนั้น สมอ. จึงออกมาตรฐาน มอก. เอส ที่มีมาตรฐานความปลอดภัยและคุณภาพของผลิตภัณฑ์และบริการของผู้ประกอบการ โดยเงื่อนไขในการรับรองไม่ยุ่งยากที่ผู้ประกอบการต้องลงทุนเพิ่มเกินความจำเป็น แต่คุณภาพสินค้ายังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ต้องทดสอบ
ซึ่งปัจจุบันมีมาตรฐาน มอก. เอส ออกมาแล้ว 172 มาตรฐาน มีทั้งผลิตภัณฑ์และบริการ ตั้งแต่ ผลิตภัณฑ์เครื่องเงิน ที่นอนยางพารา ดอกไม้ประดิษฐ์จากวัสดุธรรมชาติ ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวผสมสมุนไพร ฯลฯ ส่วนด้านบริการ อาทิ ร้านบริการล้างรถ บริการทำความสะอาดในอาคาร การบริการนวดและสปา ฯลฯ แต่ละมาตรฐานนั้นจะมีเงื่อนไข กติกา แตกต่างกันออกไป แต่ทั้งหมดเน้นคุณภาพและความปลอดภัยกับผู้บริโภคเป็นสำคัญ
ปัจจุบันมีผู้ประกอบการได้รับมาตรฐาน มอก. เอส ไปแล้วกว่า 61 ราย โดย 51 รายเป็นสาขาบริการ
ผมได้ฟังแนวคิดของท่านเลขาธิการ สมอ. คนใหม่ ท่านบรรจง สุกรีฑา ในเรื่อง มอก. เอส ว่า สามารถขยายไปในสาขาการบริการต่าง ๆ ในภูมิภาคมากกว่านี้ เพราะหลายกิจกรรม หลายสาขาบริการในพื้นที่ท่องเที่ยวชุมชนยังต้องการ การพัฒนาระบบบริหารและการจัดการที่มีประสิทธิภาพ ที่ผ่านมา ผู้ประกอบการขนาดเล็กทั่วไปที่มีปัญหาทางธุรกิจนั้นมักมีพื้นฐานมาจากการบริหารเป็นส่วนมาก นอกเหนือจากเรื่องการตลาด
ยิ่งในขณะนี้ เรากำลังเปิดประเทศและเปิดจังหวัด โดยเฉพาะพื้นที่การท่องเที่ยวต่าง ๆ โดยเฉพาะการท่องเที่ยวชุมชนที่จะกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง และผมเชื่อว่าจะ “ปัง” แน่ ๆ เพราะคนไทยจะหันมาท่องเที่ยวในประเทศมากขึ้น หลังจากอั้นมานานแล้ว
และการท่องเที่ยวต่างประเทศยังมีเงื่อนไขการเดินทางอีกมากพอควร ดังนั้นน่าจะเป็นเวลาที่เราจะช่วยยกระดับการบริหารจัดการท่องเที่ยวชุมชนในชุมชนต่าง ๆ และผมคิดว่ามาตรฐาน มอก. เอส จะช่วยให้ชุมชนหมู่บ้านต่าง ๆ มีการจัดการตั้งแต่กระบวนการดูแลลูกค้า การจัดการสถานที่ท่องเที่ยวทุกจุด รวมทั้งด้านลูกค้าสัมพันธ์ และกิจกรรมอื่น ๆ ทั้งหมดให้มีมาตรฐานและคุณภาพที่ชัดเจน
ปกติผู้ประกอบการในพื้นที่ท่องเที่ยวชุมชนมักไม่มองภาพรวมเหล่านี้ แต่ให้ความสำคัญกับปัจจัยใหญ่ ๆ อาทิ ทิวทัศน์ อาหาร ของฝาก ฯลฯ เลยทำให้แหล่งท่องเที่ยวชุมชนหลายแห่งไม่ประสบความสำเร็จ เพราะทิวทัศน์ อากาศดี แต่การบริการไม่ดี ที่พักสกปรก ฯลฯ ซึ่งหากตามที่ท่านเลขาฯ คิดไว้ว่าจะทำมาตรฐาน มอก. เอส หมู่บ้านท่องเที่ยวนั้น ผมว่า เป็นแนวคิดที่ดียิ่ง เนื่องจากจะช่วยผลักดันให้ชุมชนต้องมีรูปแบบธุรกิจ (Business Model)
และระบบการจัดการที่ชัดเจน ทุกเรื่อง ทุกจิ๊กซอว์ ต้องมีมาตรฐานของตนเอง ไม่ว่าร้านกาแฟ จุดแสดงกิจกรรมชุมชน สวนเกษตรท่องเที่ยว โฮมสเตย์ หรือร้านอาหาร ฯลฯ ซึ่งทำให้ทุกแห่งมีการจัดการที่มีประสิทธิภาพ และส่งผลต่อการบริการลูกค้าที่ดี เรียกว่าได้ประโยชน์ทุกฝ่าย รวมถึงการพัฒนาที่ยั่งยืน เพราะผมเชื่อว่าลูกค้าจะพูดกันปากต่อปากต่อยิ่งดีใหญ่
ผมว่าแนวทางการทำมาตรฐานของหมู่บ้านท่องเที่ยวชุมชน น่าจะดีกว่าที่กำลังทำในปัจจุบัน ที่หน่วยงานต่าง ๆ แย่งกันลงไปอบรมนั่น อบรมนี่ แต่ไม่มีภาพรวมที่ผูกเข้าด้วยกันทั้งระบบ เพราะนักท่องเที่ยว (ผู้บริโภค) ลงไปเที่ยว เขาต้องประสบกับสิ่งเหล่านี้ทั้งหมด และถ้าจะให้ดี ต้องรวมของฝากเข้าไปด้วย ใครไม่มีก็ขายยากหน่อย ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการทุกรายต้องหาทางพัฒนาตนเองให้ได้มาตรฐาน ทำให้ภาพรวมได้มาตรฐานทั้งระบบนิเวศน์การท่องเที่ยว การจัดการภาพรวมชุมชนยิ่งสะดวกและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
การพัฒนาหมู่บ้านท่องเที่ยวที่ผ่านมาไม่ว่าของหน่วยงานใด ยังเป็นไปตามแนวคิดของหน่วยงานที่เข้าพัฒนา และเท่าที่ผมเห็น ยังไม่มีหมู่บ้านท่องเที่ยวใดมีภาพการจัดการในภาพรวมแบบครบวงจรและมีมาตรฐานในเชิงระบบภาพรวมจริง ๆ เรียกว่าพัฒนาเป็นจุด ๆ ตามภารกิจของหน่วยงาน เช่น ทอผ้า ย้อมผ้า แปรรูปเกษตร โฮมสเตย์ ฯลฯ แต่มาตรฐาน มอก. เอส จะเป็นการนำทุกจิ๊กซอว์ที่เป็นของดี ของเด่น ชุมชนนี้มารวมกันเป็นรูปแบบธุรกิจท่องเที่ยวชุมชนที่มาตรฐาน
ผมเชื่อว่าการสร้างมาตรฐาน มอก. เอส สำหรับหมู่บ้านท่องเที่ยวจะมีประโยชน์กับชุมชนเอง คือ เครื่องหมายมาตรฐาน มอก. เอส จะช่วยโปรโมทการท่องเที่ยวชุมชนได้อย่างดียิ่ง เพราะเสมือนหนึ่งว่า สมอ. ได้เป็นตัวแทนนักท่องเที่ยวมาตรวจสอบแล้วและยืนยันว่าหมู่บ้านท่องเที่ยวแห่งนี้มีระบบการจัดการท่องเที่ยวและบริการที่ได้มาตรฐานตามที่ระบุไว้
ซึ่งทำให้นักท่องเที่ยวอุ่นใจและตัดสินใจง่ายในการมาเที่ยวชุมชนนี้ และที่สำคัญการที่จะได้มาตรฐานนั้น ชุมชนต้องพัฒนาตัวเองในทุกจุด ไม่ว่ารูปแบบธุรกิจ การบริการ และกิจกรรมต่าง ๆ ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ส่งผลต่อคุณภาพที่ดีขึ้นของการท่องเที่ยวชุมชนทั้งหมด
ผมต้องเอาใจช่วยเลขาธิการ สมอ. คนใหม่ ละครับว่าจะสามารถผลักดันมาตรฐาน มอก. เอส หมู่บ้านท่องเที่ยวขึ้นมาได้หรือไม่ และจะมีสักชุมชนหนึ่งได้มาตรฐานนี้ เพื่อเป็นตัวนำร่อง ซึ่งเข้าใจว่าเป็นงานไม่ง่าย แต่ก็ไม่ยากจนเกินไป เรื่องการพัฒนาคุณภาพมาตรฐานผลิตภัณฑ์และบริการในชุมชนให้ได้มาตรฐานนั้นไม่ยาก แต่มาตรฐานการจัดการท่องเที่ยวภาพรวมที่ต้องการฉันทามติ และความร่วมมือ ของคนในชุมชนจริง ๆ ที่อยากเห็นบ้านของตนเองเดินทางไปบนเส้นทางของการพัฒนาท่องเที่ยวชุมชนโดยชุมชนแบบยั่งยืน .... นั่นแหละ ยากครับ