Big Bank-Big Bang

27 ก.ย. 2564 | 08:23 น.
อัปเดตล่าสุด :27 ก.ย. 2564 | 16:02 น.

บทความโดย : ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร นักลงทุนแบบเน้นคุณค่า ( Value Investor ) ชั้นแนวหน้า

       การประกาศปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ของธนาคารไทยพาณิชย์ ( SCB )โดยการแยกธุรกิจแบ้งค์และธุรกิจอื่น ๆ รวมถึงการปล่อยสินเชื่อส่วนบุคคล ธุรกิจหลักทรัพย์  ธุรกิจที่เกี่ยวกับ “ฟินเท็ค” ที่เป็นเรื่องของ “แพลทฟอร์ม” และธุรกิจเวนเจอร์แค็บปิตอลที่ลงทุนในบริษัทเทคโนโลยีสมัยใหม่ทั้งหลายออกจากกันและทุกบริษัทอยู่ภายใต้บริษัทใหม่ชื่อ SCBX ซึ่งจะเป็น “ยานแม่” หรือเป็น Holding Company แทนธนาคารไทยพาณิชย์ที่จะถูกถอนออกจากตลาดหลักทรัพย์ไปนั้น  ก่อให้เกิด “แรงกระเพื่อม” ในตลาดหุ้นอย่างแรง  เฉพาะอย่างยิ่งก็คือ  หุ้น SCB ปรับตัวขึ้นไปประมาณ 20% หุ้นแบ้งค์ขนาดใหญ่เกือบทั้งหมดปรับตัวขึ้นไล่ตั้งแต่แบ้งค์ที่มีการพัฒนาทางด้านเกี่ยวกับฟินเท็คมากที่ปรับตัวขึ้นประมาณ 7-8% และแบ้งค์ที่ไม่ได้เน้นการพัฒนาสู่การเป็นดิจิตอลมากนักก็ยังปรับตัวขึ้น 3-4%

          นอกจากแบ้งค์แล้ว  หุ้นที่เกี่ยวข้องหรืออยู่ในเกมการแข่งขันทางด้านของฟินเทคในตลาดหลักทรัพย์ก็มีการปรับตัวสะท้อนต่อการก้าวเข้ามาสู่การเป็นบริษัท “เทคคอมพานี” เต็มตัวของไทยพาณิชย์ด้วย  เฉพาะอย่างยิ่งก็คือ  บริษัทปล่อยสินเชื่อส่วนบุคคลขนาดใหญ่ทุกบริษัทที่มี Market Cap. สูงในระดับ “แสนล้านบาท” อานิสงค์จากการเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงหลายปีที่ผ่านมาก็ถูกกระทบด้วย  ราคาหุ้นตกลงมาประมาณ 4-5%  เช่นเดียวกับหุ้นที่ติดตามหนี้เสียส่วนบุคคลที่มีมูลค่าตลาดสูงลิ่วก็ตกลงมาในระดับเดียวกัน  นอกจากนั้น  หุ้นของบริษัทขนาดเล็ก-กลางหลายแห่งที่ทำเรื่องของฟินเทคหรือได้ประกาศเข้ามาในธุรกิจนี้ทั้งที่ไม่ได้เป็นสถาบันการเงินก็ตกลงมาประมาณ 4% เช่นเดียวกัน

 

       นักลงทุนในตลาดหุ้นคงเชื่อว่าการปรับโครงสร้างครั้งนี้จะทำให้ธนาคารขนาดใหญ่โดยเฉพาะไทยพาณิชย์เปลี่ยนแปลงตัวเองแบบ  “ปฎิวัติ” จากแบ้งค์เป็นบริษัทฟินเทคหรือเทคโนโลยีทางการเงินและธุรกิจอื่น ๆ  ที่เกี่ยวข้อง  และนี่เป็นสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศพัฒนาแล้วที่แบ้งค์ดั้งเดิมกำลังตกอยู่ในฐานะลำบากเนื่องจากการแข่งขันจากบริษัทเทคคอมพานีขนาดใหญ่ที่เข้ามาให้บริการธุรกรรมทางการเงินแข่งกับแบ้งค์โดยอาศัยเครื่องมือดิจิตอลสมัยใหม่ซึ่งรวมถึงแพลทฟอร์มต่าง ๆ  ที่สามารถเชื่อมตรงระหว่างผู้ที่ต้องการให้เงินกู้หรือโอนเงินกับคนที่ต้องการกู้เงินหรือรับเงิน  เป็นต้น และนี่ก็คือสิ่งที่อาจจะทำลายแบ้งค์ได้ในที่สุด

        ดังนั้นไทยพาณิชย์จึงตัดสินใจที่จะ “Disrupt” ตัวเองก่อนที่จะถูกทำลายโดยบริษัทเทคทั้งหลายที่อาจจะมาจากทั้งภายในและต่างประเทศ  โดยที่ภายในก็อาจจะรวมถึงบริษัทที่ทำธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลและบริษัทอื่น ๆ ที่กำลังเริ่มเข้ามาให้บริการโดยใช้เทคโนโลยีดิจิตอลที่กล่าวถึง  และนั่นก็คือเหตุผลที่หุ้นเหล่านั้นตกลงมาเมื่อ SCB ประกาศเข้ามาแข่งขันด้วย  ส่วนหุ้นแบ้งค์ขนาดใหญ่ที่ปรับตัวขึ้นนั้นน่าจะเป็นเพราะนักลงทุนเชื่อว่าในไม่ช้าแบ้งค์อื่นก็คงต้องทำตามไทยพาณิชย์ในแง่ที่ต้องก้าวเข้ามาทำฟินเท็คแทนที่การทำแบ้งค์แบบดั้งเดิม  แม้ว่าอาจจะไม่ถึงกับปรับโครงสร้างกิจการหรือบริษัททั้งหมด

       คำถามสำคัญก็คือ ไทยพาณิชย์จะสามารถเปลี่ยนแปลงตัวเองจากการเป็น “นายแบ้งค์” มาเป็นผู้ประกอบการที่ทำ“สตาร์ทอัพ” ตามแผนที่วางไว้ได้หรือไม่?

      ข้อได้เปรียบของไทยพาณิชย์ที่เห็นได้ชัดเจนก็คือ  บริษัทมีธุรกิจแบ้งค์ขนาดใหญ่ที่มีทรัพยากรมากมายและมี “กำไรปกติ” ถึงปีละ 40,000 ล้านบาท ซึ่งจะสามารถใช้ในการรองรับการทำธุรกิจแนวสตาร์ทอัพที่มักจะต้องขาดทุนหนักในช่วงหลายปีแรก  เงินจำนวนมากขนาดนี้และมีความมั่นคงสูงระดับนี้ผมคิดว่าสามารถที่จะเข้ามาเล่นในระดับภูมิภาคเช่นเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีประชากรระดับ 600 ล้านคนได้  และนี่ก็คือเป้าหมายของไทยพาณิชย์ที่ประกาศว่าอยากจะมีลูกค้าเพิ่มจาก 16 ล้านรายในประเทศไทยเป็นประมาณ 200 ล้านคนในย่านอาเซียน เฉพาะอย่างยิ่งจากอินโดนีเซียและเวียตนามที่มีคนจำนวนมากและเศรษฐกิจกำลังโตเร็วมาก

        ข้อได้เปรียบเรื่องที่สองก็คือ การที่เป็น “ผู้นำ” ที่ประกาศบุกธุรกิจยุคดิจิตอลอย่างเต็มตัวรวมถึงการปรับโครงสร้างกลุ่มบริษัทเพื่อให้พร้อมที่จะทำธุรกิจเหล่านั้นทำให้สามารถจับ “หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์” ที่เป็นผู้นำที่ให้บริการระบบโทรศัพท์มือถือและ/หรือผู้ที่มีความเชี่ยวชาญและให้บริการเกี่ยวกับฟินเทคหรือธุรกิจดิจิตอลอื่น ๆ อยู่แล้วแต่ยังมีขนาดเล็กในตลาดเป้าหมาย  เป็นต้น  อย่าลืมว่า ในธุรกิจสตาร์ทอัพทั้งหลายนั้น  การเป็นผู้นำและการบุกอย่างรวดเร็วนั้น  เป็นปัจจัยสำคัญมากต่อความสำเร็จในธุรกิจ

       ข้อเสียเปรียบของไทยพาณิชย์หรือว่าที่จริงก็คือแบ้งค์แบบดั้งเดิมทุกแบ้งค์ในการเข้ามาทำธุรกิจสตาร์ทอัพก็คือเรื่องของวัฒนธรรมขององค์กรและของพนักงาน  ประเด็นแรกก็คืออายุของผู้บริหารนั้นน่าจะค่อนข้างสูงค่าที่ว่าเป็นธนาคารที่เก่าแก่และผู้บริหารส่วนใหญ่นั้นอยู่กับธนาคารมานาน  การที่จะคิดหรือตัดสินใจต่าง ๆ  ก็อาจจะ  “ตามของใหม่ไม่ทัน”  นอกจากนั้น  นายแบ้งค์ส่วนใหญ่นั้นมักจะมีความคิดแบบอนุรักษ์นิยมและกลัวความเสี่ยงมากกว่าคนที่ทำสตาร์ทอัพซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ที่คุ้นเคยกับเทคโนโลยีดิจิตอลมากกว่า  รวมถึงกล้าที่จะรับความเสี่ยงมากกว่าปกติ

         ทางแก้ของแบ้งค์ก็คือการนำบุคลากรรุ่นใหม่เข้ามาทำงานแบบใหม่ จากภายนอก  แต่นี่จะเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหนโดยเฉพาะถ้าพนักงานส่วนใหญ่ก็ยังคงเป็นพนักงานแบ้งค์เดิมที่คุ้นเคยกับวัฒนธรรมเดิม  ทางแก้อีกทางหนึ่งก็คือการ “เปลี่ยนแปลงวัฒนธรรม” ในด้านของความคิดและการทำงานผ่านผู้นำใหม่ที่จะต้อง  “ปฏิวัติ”  องค์กรใหม่  แต่นี่จะเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหนผมก็ยังสงสัย  เพราะการเปลี่ยนแปลงสำหรับคนที่มีอายุและประสบการณ์ในชีวิตมากซึ่งก็มักจะมีภาระต่าง ๆ  เช่นเรื่องของครอบครัวซึ่งต้องรับผิดชอบมากกว่าคนรุ่นใหม่  ความเคยชินที่ทำแบบเดิมมาตลอดชีวิต  จะเปลี่ยนแปลงได้อย่างไร  เอาง่าย ๆ  แค่ว่าจะให้คนที่ทำงาน 9 โมงเช้าถึง 5 โมงเย็นมาตลอดแต่ต้องมาทำงานแบบหามรุ่งหามค่ำแบบธุรกิจสตาร์ทอัพนั้นจะทำได้แค่ไหน?

         จากประสบการณ์ทั่วโลกนั้น  บริษัทสตาร์ทอัพที่ประสบความสำเร็จแทบทั้งหมดมักเกิดจากผู้ประกอบการที่เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทที่จะได้รับผลประโยชน์มหาศาลเมื่อกิจการประสบความสำเร็จ  การทำงานในฐานะลูกจ้างในบริษัทใหญ่ที่ตนเองไม่ได้เป็นผู้ถือหุ้นที่มีนัยสำคัญนั้นน่าจะเป็นไปได้ยากมาก  เหนือสิ่งอื่นใด  ในสมัยนี้ถ้าคุณเก่งก่อตั้งสตาร์ทอัพและมีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จ  การหาเงินหรือระดมเงินมาสนับสนุนกิจการโดยการขายหุ้นก็ทำได้ไม่ยาก  ดังนั้น  การเป็นบริษัทขนาดใหญ่จึงอาจจะไม่เป็นข้อได้เปรียบที่จะทำให้ประสบความสำเร็จในการสร้างผลิตภัณฑ์ดิจิตอลยุคใหม่จริง ๆ  และนี่ก็คงเป็นเหตุผลว่าทำไมแม้แต่บริษัทเทคคอมพานีขนาดใหญ่ของโลกนั้น  จึงต้องอาศัยการซื้อบริษัทและผลิตภัณฑ์ที่สร้างขึ้นโดยบริษัทสตาร์ทอัพขนาดเล็กเพื่อนำไปขยายงานหรือขยายลูกค้าต่อไปแทนที่จะเข้าไปแข่งขันกับผู้ประกอบการขนาดเล็กที่มีความคิดสร้างสรรค์และความทุ่มเทที่สูงกว่า

        ข้อเสียเปรียบประเด็นสุดท้ายที่จะพูดถึงก็คือ  ในหลาย ๆ  ผลิตภัณฑ์หรือบริการที่แบ้งค์ต้องการจะสร้างฟินเทคมาแทนที่ผลิตภัณฑ์ดั้งเดิมของแบงค์นั้น  ผลกระทบแรกก็คือ  ทำให้แบ้งค์เสียประโยชน์  มันเหมือนกับว่าแบ้งค์จะ Disrupt ตัวเอง  หรือในกรณีที่มีการแตกบริษัทออกมาก็เป็นเหมือนกับการพยายามทำลาย “บริษัทพี่น้อง” ของตนเอง  นี่เป็นเรื่องที่ทำให้บริษัท  “แม่”  ทำใจได้ยากและจึงทำให้ผลิตภัณฑ์หรือบริการนั้น “ไม่เกิด” ตัวอย่างเช่น  บริษัทที่ทำ E-Commerce ที่เป็นผู้ชนะนั้น  มักไม่ได้มาจากบริษัทที่ขายสินค้าแบบดั้งเดิมที่ใหญ่โต  เหตุผลน่าจะเป็นว่า  เวลาพวกเขาคิดจะทำ  เขาก็จะพยายามหลีกเลี่ยงไม่ให้มัน “กินตนเอง”  ในขณะที่บริษัทที่ไม่เคยทำค้าขายแบบดั้งเดิมนั้น  พวกเขาจะคิดแต่ว่าจะ  “ฆ่า” การทำธุรกิจแบบเก่าได้อย่างไรและเขาก็ทำออกมาและก็ชนะ

        โดยส่วนตัวนั้น  ผมคาดไม่ได้ว่าการเปลี่ยนไปเป็น  “เทคคอมพานี” ของ SCB ครั้งนี้จะประสบความสำเร็จแค่ไหน  แต่ก็รู้สึกชื่นชมบริษัทที่ “กล้าที่จะทำ” และในอนาคตถ้าสำเร็จ  ประเทศไทยก็จะสามารถพัฒนาต่อไปได้อีกขั้นหนึ่งและกลายเป็นประเทศพัฒนาแล้วได้  จากเดิมที่ผมเกรงว่าเราจะก้าวต่อไปไม่ไหวเพราะบริษัทขนาดใหญ่ที่สุดของไทยหลังโควิด-19 แล้วก็ยังเป็นบริษัทเดิม ๆ และทำแบบเดิม