นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เปิดเผยว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบมาตรการช่วยเหลือเยียวยาแท็กซี่และรถจักรยานยนต์สาธารณะที่มีอายุเกิน 65 ปี ไม่สามารถสมัครเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 มาตรา 39 และมาตรา 40 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 และที่แก้ไขเพิ่มเติมได้ และประกอบอาชีพขับรถอยู่ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 29 จังหวัด ตามข้อกำหนดฉบับที่ 25, ฉบับที่ 28 และฉบับที่ 30 โดยได้ให้กรมการขนส่งทางบกจัดทำโครงการเพื่อให้ความช่วยเหลือกลุ่มอาชีพผู้ขับรถแท็กซี่และรถจักรยานยนต์สาธารณะที่มีคุณสมบัติตามเงื่อนไขข้างต้น ลงทะเบียนขอรับสิทธิช่วยเหลือ เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม – 5 พฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา มียอดผู้ลงทะเบียนขอรับสิทธิทั่วประเทศรวมทั้งสิ้น 10,789 ราย ในจำนวนดังกล่าว อยู่ระหว่างรอผลการตรวจสอบจากฐานข้อมูลของกรมการขนส่งทางบก จำนวน 3,756 ราย และรอผลการตรวจสอบข้อมูลกับผู้ให้เช่า จำนวน 3,358 ราย
ขณะเดียวกันกรมฯ ได้เร่งรัดดำเนินการตรวจสอบข้อมูลผู้ลงทะเบียนเยียวยาแท็กซี่และมอเตอร์ไซค์ขอรับสิทธิอย่างละเอียดและรอบคอบ โดยจะดำเนินการโอนเงินช่วยเหลือให้กับผู้ที่ได้รับสิทธิรอบแรกจำนวน 3,284 ราย เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา ผ่านบัญชีพร้อมเพย์ที่ผูกบัญชีกับเลขบัตรประจำตัวประชาชนตามที่ได้ระบุไว้ในเอกสารการลงทะเบียน แบ่งเป็นผู้ขับรถแท็กซี่ส่วนบุคคล จำนวน 1,450 ราย และผู้ขับรถจักรยานยนต์สาธารณะ จำนวน 1,834 ราย รวมแล้วเป็นเงินจำนวนทั้งสิ้น 32,235,000 บาท ผู้ขับรถแท็กซี่และผู้ขับรถ จักรยานยนต์ที่ลงทะเบียนขอรับสิทธิช่วยเหลือ สามารถเข้าตรวจสอบสิทธิเบื้องต้นได้ทางระบบตรวจสอบสิทธิรับเงินช่วยเหลือสำหรับผู้ขับรถสาธารณะ คลิก
ส่วนผู้ขับรถเช่า กรมฯจะตรวจสอบข้อมูลจากผู้ให้เช่าก่อนพิจารณาว่าเป็นผู้มีสิทธิรับเงินช่วยเหลือหรือไม่ และจะกำหนดวันโอนเงินช่วยเหลือรอบที่ 2 ต่อไป
ทั้งนี้ เมื่อดำเนินการตรวจสอบข้อมูลผู้ลงทะเบียนขอรับสิทธิเรียบร้อยแล้ว กรมการขนส่งทางบกจะทยอยโอนเงินให้กับผู้ที่ได้รับสิทธิ โดยผู้ขับรถจักรยานยนต์สาธารณะและรถแท็กซี่ส่วนบุคคลที่ประกอบอาชีพใน 13 จังหวัด ตามข้อกำหนดฉบับที่ 25 และฉบับที่ 28 ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร ฉะเชิงเทรา ชลบุรี พระนครศรีอยุธยา นราธิวาส ปัตตานี ยะลา และสงขลา จะได้รับเงินช่วยเหลือในอัตรา 10,000 บาทต่อคน ส่วนผู้ขับรถแท็กซี่และรถจักรยานยนต์สาธารณะที่ประกอบอาชีพใน 16 จังหวัด ตามข้อกำหนดฉบับที่ 30 ประกอบด้วย กาญจนบุรี ตาก นครนายก นครราชสีมา ประจวบคีรีขันธ์ ปราจีนบุรี เพชรบุรี เพชรบูรณ์ ระยอง ราชบุรี ลพบุรี สิงห์บุรี สมุทรสงคราม สระบุรี สุพรรณบุรี และอ่างทอง จะได้รับเงินช่วยเหลือในอัตรา 5,000 บาทต่อคน