“ผ่าตัดกระเพาะ” กำลังเป็นที่นิยมของผู้ที่เป็นโรคอ้วนและต้องการลดน้ำหนัก แต่แท้จริงแล้วการผ่าตัดกระเพาะยังสามารถรักษาโรคเบาหวานได้ ซึ่งเป็นโรคร่วมอันดับต้นๆ ที่มีสาเหตุมาจากโรคอ้วน
การผ่าตัดกระเพาะ จะช่วยลดปริมาณอาหารที่ทานและมีส่วนในการปรับฮอร์โมนในทางเดินอาหาร ทำให้ควบคุมการทานอาหารได้ดีขึ้น ระดับความหิวลดลง ความอิ่มนานขึ้น ปรับการทำงานของฮอร์โมนอินซูลิน ควบคู่กับน้ำหนักที่ลดลง ภาวะดื้อต่ออินซูลินก็จะดีขึ้นตามด้วยอย่างมีนัยสำคัญ นับเป็นวิธีการรักษาผู้ป่วยเบาหวาน ชนิดที่ 2 ที่มีภาวะอ้วน ที่เห็นผลชัดเจนมากที่สุดวิธีหนึ่ง
การผ่าตัดกระเพาะเพื่อลดน้ำหนักในต่างประเทศมีมากว่า50 ปี แต่ในอดีตเป็นการผ่าตัดเปิดท้อง โดยมักมีแผลผ่าตัดขนาดใหญ่และเป็นการผ่าตัดที่มีความซับซ้อนสูงและมีผลแทรกซ้อนมาก จึงไม่ได้รับความนิยม ซึ่งเทคโนโลยีปัจจุบัน การผ่าตัดลดขนาดกระเพาะผ่านกล้องเป็นที่ยอมรับทั่วไป
3 วิธีการผ่าตัดกระเพาะลดน้ำหนักแบบส่องกล้อง ประกอบด้วย
1. ผ่าตัดแบบสลีฟ (Sleeve gastrectomy) เป็นการผ่าตัดที่ทำมากที่สุด ความซับซ้อนน้อยกว่าวิธีอื่น โดยการใช้อุปกรณ์ตัดเย็บแบบพิเศษ ทำการตัดแต่งกระเพาะให้เรียวตรงให้เหลือประมาณ 15-20% ส่งผลให้ลดฮอร์โมนความอยากอาหาร (Ghrelin) ทำให้ทานได้น้อยลง ผู้ป่วยจะหิวลดลงอย่างชัดเจน ร่วมกับทานได้น้อยลง จึงทำให้สามารถลดน้ำหนักส่วนเกินได้ถึง 60-70% ภายใน 1 ปีหลังผ่าตัด โอกาสเกิดภาวะขาดสารอาหาร แร่ธาตุ วิตามินต่าง ๆ มีน้อยกว่าผ่าตัดแบบอื่น ๆ
2. ผ่าตัดแบบบายพาส (Roux-en-Y gastric bypass) เป็นการผ่าตัดที่มีความซับซ้อนขึ้น โดยการผ่าตัดกระเพาะให้เป็นกระเปาะ ประมาณ 25-30 ซีซี ร่วมกับการผ่าตัดบายพาสลำไส้เล็ก หลังผ่าตัดจะสามารถช่วยเพิ่มระดับการทำงานของ ฮอร์โมนความอิ่ม ลดความหิว ทานได้น้อยลง และลดการดูดซึมอาหารลง สามารถลดน้ำหนักส่วนเกินได้ถึง 70-80%
ซึ่งเหมาะกับคนไข้ที่เป็นโรคเบาหวานรุนแรง วิธีนี้สามารถช่วยเรื่องเบาหวานได้ดีกว่าวิธีแรก และผลลัพธ์ดีในผู้ป่วยอ้วนที่มีภาวะโรคกรดไหลย้อน แต่โอกาสเกิดภาวะ ขาดวิตามิน แร่ธาตุมีมากกว่าโดยเฉพาะวิตามิน B12 ซึ่งจำเป็นต้องรับวิตามินเสริมต่อเนื่องทุก 6-12 เดือน
3. ผ่าตัดแบบสลีฟพลัส (Sleeve gastrectomy Plus) เป็นวิธีการผ่าตัดที่พัฒนามาจาก การผ่าตัดแบบสลีฟ (Sleeve gastrectomy) และการผ่าตัดแบบบายพาสลำไส้เล็กให้ระยะดูดซึมสารอาหารสั้นลง ซึ่งผลลัพธ์สามารถลดน้ำหนักส่วนเกินได้ถึง 70-80% และผลลัพธ์การช่วยในโรคเบาหวาน ดีเทียบเท่าแบบบายพาส โดยวิธีสลีฟพลัสนี้ จะแบ่งเป็นวิธีย่อยๆ ที่แต่งต่างกันได้อีกหลายวิธีตามความเหมาะสมของคนไข้
การผ่าตัดกระเพาะอาจไม่ใช่ทางเลือกที่เหมาะกับทุกคน ผู้ป่วยควรพบแพทย์เพื่อปรึกษาอย่างละเอียด เพื่อเทียบประโยชน์ที่จะได้รับ กับความเสี่ยงของการผ่าตัด รวมถึงตรวจร่างกาย เพื่อดูความพร้อมของสภาพร่างกายในแต่ละบุคคล สามารถประเมินเบื้องต้นจากค่าดัชนีมวลกาย (BMI) คือ ค่าดัชนีมวลกาย (BMI) >32.5 kg/m2
ร่วมกับมีโรคประจำตัวเกี่ยวกับโรคอ้วน เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง เป็นต้น และค่าดัชนีมวลกาย (BMI) >37.5 kg/m2 เหล่านี้ เข้าเกณฑ์ที่แนะนำว่าสามารถผ่าตัดได้ กรณีอื่นๆ สามารถปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้เช่นกัน
ผลข้างเคียงที่อาจเกิดหลังการผ่าตัดกระเพาะ คือ ภาวะแทรกซ้อน ที่อาจเกิดขึ้นได้ตามอายุและโรคประจำตัวของผู้ป่วย ในผู้ป่วยโรคอ้วน ผู้ป่วยที่น้ำหนักมาก, โรคประจำตัวมาก หรือเคยผ่าตัดช่องท้องมาก่อน ก็จะมีความเสี่ยงจากการผ่าตัดมากขึ้น, ภาวะการขาดวิตามิน เกลือแร่ เนื่องจากการผ่าตัดกระเพาะทำให้ผู้ป่วยทานอาหารน้อยลง ส่งผลให้ร่างกายได้รับวิตามินและแร่ธาตุในปริมาณน้อยลงด้วย
ฉะนั้นผู้ป่วยต้องได้รับวิตามิน แร่ธาตุบางชนิดทดแทนต่อเนื่อง แต่ในภาพรวม จากน้ำหนักที่ลดลง การดีขึ้นของโรคแทรกซ้อนจากความอ้วน การทานวิตามินทดแทนนั้น อาจคุ้มค่ากว่าการที่ต้องทานยารักษาโรคต่าง ๆ หรือฉีดยา เช่น ยาความดัน ยาเบาหวาน ยาไขมัน ไปตลอดชีวิต
ดังนั้น การผ่าตัดกระเพาะเพื่อลดน้ำหนักอาจไม่ใช่ทางเลือกที่เหมาะกับทุกคน ผู้ป่วยต้องได้รับการพิจารณาอย่างรอบคอบจากทีมแพทย์เฉพาะทางที่มีความเชี่ยวชาญ เพื่อพิจารณาผลลัพธ์กับความเสี่ยง เพื่อเลือกวิธีการผ่าตัดที่เหมาะสม
หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,945 วันที่ 3 - 6 ธันวาคม พ.ศ. 2566