อริยสัจภาวนาในธรรมนาวา"วัง"

11 ก.ย. 2567 | 23:00 น.

อริยสัจภาวนาในธรรมนาวา"วัง" คอลัมน์ ทำมาธรรมะ โดย ราชรามัญ

ตอนละอ่อนอายุเลขตัวเดียว หลังจากท่องสูตรแห่งดวงดาวของโหราศาสตร์จบแล้ว ก็ต้องท่องมหาสติปัฏฐานสูตรต่อ ท่องเป็นนกแก้วนกขุนทองทุกวัน 

เมื่อได้มาปฏิบัติธรรมสติปัฏฐานสี่ อย่างจริงจังกับพระราชภาวนาวัชราจารย์ วิ. (หลวงพ่อสุทัศน์ โกสโล)​ เมื่อปีพ.ศ.2534 ทำให้แจ่มแจ้งชัดขึ้นถึงความจริงหลายๆ ข้อธรรม โดยเฉพาะ

"สักกายทิฏฐิ" ภาวะอารมณ์กัมมัฏฐาน ในขณะปฏิบัตินั้นสำคัญยิ่ง นักปฏิบัติที่จะรื้อสักกายทิฏฐิได้นั้น ต้องพึงอาศัยการพิจารณากาย ที่นี้ไม่ใช่แค่กายธรรมดา แต่ต้องเป็นกายในกาย คำนี้มิได้หมายถึง กายทิพย์ อะไรทั้งนั้นเป็นลักษณะกายที่มนุษย์ทุกคนมีเหมือนกันหมดทุกคน ไม่ว่าเขาคนนั้นจะสูงต่ำ ดำขาว ชายหญิง รวยจน มียศศักดิ์หรือไม่

นักปฏิบัติต้องหมั่นพิจารณากายเนืองๆ ตามคำสอนของพระพุทธเจ้า

พะหิทธา วา กาเย กายา นุปัสสี วิหะระติ 
อาตาปี สัมปชาโน สะติมา

ใช้ความเพียรด้วยสติสัมปชัญญะ พิจารณากายแล้วเราจะเห็นกายทั้งสองกายชัดเจน คือ 

กายนอก คือ ธาตุทั้งหมดประกอบด้วย ดิน น้ำ ไฟ ลม และ อากาศธาตุ วิญญาณธาตุ ที่รวมกันเป็นแขน ขา หน้าตา ตลอดทั้งอวัยวะน้อยใหญ่ ตับ ไต ไส้ ม้าม ปอด เป็นต้น 

กายใน คือ  ขันธ์๕ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ 

ทั้งกายนอก และ กายใน นั่งคิดอย่างไรก็ไม่เข้าใจว่าเกิดขึ้นอย่างไร ดับลงอย่างไร  แต่นักกัมมัฏฐาน ที่ปฏิบัติถึงการพิจารณา กายในกายจะสัมผัสได้ ฐานกายนี้ เป็นฐานแรกที่สำคัญ 

บางคนถามว่าสัมผัสอย่างไร.. ตำตอบคือ การได้สัมผัสด้วยปัญญาว่า ธาตุต่างๆ เกิดขึ้นได้อย่างไร ตั้งอยู่อย่างไร ดับลงไปเป็นอย่างไร ตลอดทั้ง รูปภาวะกายในเกิดอย่างไร ตั้งอยู่อย่างไร ดับลงเป็นอย่างไร

เมื่อปฏิบัติไปถึงจุดหนึ่งจะได้สัมผัสกับภาวะการเกิด -​ การดับ ภาวะนี้ถ้าเป็นภาษาคำพูดคือ คล้ายการเต้นของชีพจรที่ข้อแขนของเรา เราจะสัมผัสการเกิดดับแบบ ตุบๆ ๆ ทั่วร่างกายของเราพร้อมกัน ตั้งแต่ศรีษะจรดปลายเท้า นี่เรียกว่า ปฏิบัติเพื่อให้เห็นสิ่งนี้สัมผัสสิ่งนี้ ที่เรียกว่า ปัญญา 

สักกายทิฏฐิ จะถูกรื้อถอนออก เพราะเห็นและสัมผัสได้ด้วยปัญญาแล้วว่าทุกอย่างเป็นเพียงสภาวะธรรมเกิดดับ ยึดถือไม่ได้ ตัวตนไม่มี มีแต่การมารวมตัวกันของธาตุแล้วเราเข้าไปยึดถือ

เมื่อตั้งต้นแบบนี้ถูกต้อง ธรรมอย่างอื่นจะปรากฏเองเป็นลำดับ วิจิกิจฉา ความสงสัยในคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ว่า จริงไหม ใช่หรือเปล่า จะหมดไป สีลัพพตปรามาส ก็จะถูกรื้อถอนออกไปไม่เคร่งศีลเคร่งพรตเพื่อไปปลุกเสกเลขยันต์ และอื่นๆ ที่มิใช่กิจแห่งธรรม 

ในหนังสือ ธรรมนาวาวัง ที่เกี่ยวกับการปฏิบัติ อริยสัจภาวนา ความตอนหนึ่งว่า

กุศลกับอกุศล จัดเป็นสังขาร สังขารตัวนี้เป็นปัจจัยให้เกิดวิญญาณปฏิสนธิ คือการสืบต่อแห่งจิต วิญญาณปฏิสนธิจะทำการสืบต่อทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ ที่จิตได้รับรู้รับทราบซึ่งทุกอย่างในโลกนี้ ก็หนีไม่พ้นจากขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ(รูป นาม)​ เพื่อให้ขันธ์ ๕ ประกอบจิตดำรงตนอยู่ได้ การสืบต่อจะสืบต่อทางตาหู จมูก ลิ้น กาย ใจ (อายตนะ)

อริยสัจ คืออะไร 

อริยสัจ คือ ความจริงอันประเสริฐความจริงของพระอริยเจ้าความจริงที่ทำให้ผู้เข้าถึงกลายเป็นพระอริยะความจริงที่ควรรู้แจ้งคือ

๑. ทุกข์  สภาพที่ทนได้ยากสภาพที่บีบคั้นความขัดแย้งความบกพร่อง

๒. ทุกขสมุทัย เหตุเกิดแห่งทุกข์สาเหตุให้ทุกข์เกิดที่ตั้งแห่งทุกข์ตัวก่อทุกข์สิ่งที่เกิดร่วมกับทุกข์ 

๓. ทุกขนิโรธ ความดับทุกข์ภาวะที่สิ้นทุกข์ภาวะที่บรรลุถึงความดับไปแห่งเหตุ

๔. ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา หนทางดำเนินไปสู่ความดับทุกข์ ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ หลักการดำเนินเพื่อความสิ้นทุกข์

เหตุที่เรียกว่าอริยสัจ เพราะเป็นธรรมที่พระอริยเจ้าทั้งหลายมีพระพุทธเจ้าและเหล่าสาวกบรรลุถึงแล้ว เป็นสัจจะของพระอริยะเป็นความจริงที่พระอริยะไม่คัดค้าน
 


หนังสือ ธรรมนาวา"วัง" ที่พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชานุญาต ให้จัดพิมพ์ เพื่อทรงพระราชทาน เป็นการเผยแผ่ธรรมและให้ทุกคนเข้าใจธรรมะ และนำเอาไปใช้กับชีวิตให้มีความสงบสุขด้วยธรรม  

ท่านใดที่สนใจสามารถโหลดอ่านในรูปแบบอีบุ๊คได้ตามลิงค์ด้านล่างนี้ www.dhammanava.net/ebooks