นั่งคุยร่วมวงกันอยู่ดีๆ พอลุกขึ้นเท่านั้น เสียงนินทาก็เกิดขึ้นจากใครบางคนในวงนั้นต่างๆนานา...
เสียงคำสรรเสริญ อยู่คู่กับคำนินทามาช้านานกับสิ่งมีชีวิตที่ชื่อมนุษย์ หลายคนพยายามค้นหาเหตุผลว่า เป็นเพราะอะไรคำนินทานั้นจึงเกิดขึ้น...ผลของการทำวิจัยพบว่า..
1. นินทาเพราะมีอคติไม่ชอบ
2. นินทาเพราะมีการเสียผลประโยชน์บางอย่าง
3. นินทาเพราะเป็นนิสัยสันดานอาจิณ ของคนชอบนอนทำ
การพูดถึงบุคคลอื่นในทางไม่ดี ที่เสียหาย ลับหลัง คือ ความหมายอันชัดเจนของคำว่า "นินทา"
ศีลในข้อที่ 4 มุสาวาทา เวระมณี บุคคลทั่วไปย่อมให้ความหมายว่า ห้ามพูดโกหก แต่ในความเป็นจริงแล้ว.. ความหมายของศีลข้อนี้ ที่ทรงสอนถึงการเจรจาว่า..
"ถ้าคำพูดใดมิใช่เพื่อธรรม เพื่อกุศล เพื่อความดีงามคำพูดนั้นเป็นมุสา"
พระที่ดีพึงสังเกตเถอะ...ท่านพูดน้อยมาก
มุสาฯ ในที่นี้ หาใช่หมายถึง การพูดโกหก หรือ พูดเท็จ เพียงเท่านั้น แต่รวมไปถึงการพูดส่อเสียด พูดเพ้อเจ้อ พูดหยาบคาย อีกด้วย
คำนินทา..เป็นการพูดส่อเสียด และถ้ามีคำหยาบคายด้วย ก็ยิ่งเป็นการผิดในศีลข้อ 4 มากขึ้นไปอีก
การทำผิดศีลข้อ 4 มุสาฯ ยิ่งทำมากยิ่งทำให้เราหมดเครดิต หมดความน่าเชื่อถือและที่สำคัญนั้น อกุศลหรือความบาปย่อมปรากฏเป็นกรรม ที่สำเร็จแล้ว
คนที่ชอบนินทาผู้อื่น ย่อมมีชีวิตที่ค่อนข้างลำบากเป็นทุกข์ ทำสิ่งใดก็ยากที่จะสำเร็จได้
ในครั้งพุทธกาล พระพุทธเจ้าก็เคยสอนพระอานนท์ ซึ่งเป็นทุกข์เรื่องที่มีผู้คนนินทา พระพุทธเจ้าและคณะสงฆ์ว่า เป็นบุคคลที่ไม่ทำมาหากิน เช้าก็เดินออกขอข้าวชาวบ้านกิน เป็นบุคคลที่ไม่มีประโยชน์ชาวบ้านจะรวมตัวกันไม่ใส่บาตรพร้อมทั้งนินทาว่าร้ายต่างๆ นานา
พระอานนท์ได้กราบทูลพระพุทธเจ้าว่า ควรหนีออกจากเมืองนี้ไปเสียเพราะอยู่แล้วจะทำให้การประพฤติปฏิบัติธรรมของพระภิกษุไม่เป็นสัปปายะ การออกบิณฑบาตก็ยากที่จะได้อาหารมาบำรุงร่างกาย
พระพุทธเจ้าได้ตั้งคำถามกับพระอานนท์ในเรื่องนี้เพื่อเป็นการสอนพระอานนท์เกี่ยวกับเรื่องของผู้คนนินทาว่าร้ายและรวมตัวกันที่จะไม่บำรุงพระภิกษุด้วยการถวายอาหาร
"ดูก่อนอานนท์ เมื่อเราไปจากที่นี่ เพื่อหนีคำนินทา การรวมตัวประท้วง โดยไปอยู่ที่ใหม่ ถ้าไปแล้วพบเจอเหตุการณ์แบบนี้อีกในที่ใหม่เราจะทำอย่างไร"
"ก็หนีไปที่ใหม่พระเจ้าข้า"
"เมื่อหนีไปแล้วก็พบเหตุการณ์แบบนี้อีกจะทำอย่างไร"
"ก็หนีไปที่ใหม่อีกพระเจ้าข้า"
ถ้าแบบนั้น..คงจะต้องหนีไปตลอดชีวิต เพราะทุกๆ ที่ ไม่มีที่ไหนไม่มีคำนินทา พระพุทธเจ้าทรงตรัสสอนแบบนี้ ทำให้พระอานนท์มีสติปัญญาเกิดขึ้น
พระพุทธเจ้าเคยสอนพระราหุลคราวหนึ่งว่า...น้ำในกะลาเมื่อเทออกล้างเท้าแล้ว เหลือน้ำที่เกาะติดกะลานั้นเพียงเล็กน้อยและไม่สามารถให้ประโยชน์อันใดได้ คนที่มุสาก็เหมือนน้ำที่เกาะติดกะลานั้น หาประโยชน์อะไรมิได้เลย
เพียงแต่เราควรวางความคิดความรู้สึกของจิตใจเราให้ทุกที่ อย่าไปให้คุณค่ากับคำพูดลับหลังหรือที่เรียกว่าคำนินทาแล้วชีวิตของเรานั้นจะมีความสุขมากขึ้น
พระพุทธเจ้าทรงเน้นสอนมากในเรื่องนี้
เปรียบเหมือนว่า เมื่อมีแขกมาบ้านเรา เราทำอาหารรับรองเพื่อเลี้ยงแขก แต่เมื่อแขกไม่กินอาหารนั้น ผู้เป็นเจ้าของบ้านย่อมจะต้องกินเอง ฉันใดฉันนั้น ใครนินทาว่าร้าย ตำหนิเรา แต่ถ้าเราไม่รับ คำพูดเหล่านั้นก็ติดอยู่ที่ปากของเขาคนนั้น
ดังนั้เราไม่ควรไปเป็นทุกข์กับคำนินทาใดๆ เพราะในโลกแห่งความเป็นจริงแม้องค์พระปฏิมายังราคิน คนเดินดินไม่สิ้นคำนินทา
เมื่ออ่านมาถึงบรรทัดนี้แล้วก็หวังใจเอาไว้ว่าการทำงานในสังคมออฟฟิศ ในหมู่คณะ ในทีมงานที่มากไปด้วยผู้คนร้อยพ่อพันแม่ ย่อมจะต้องมีคำติฉินนินทาปรากฏเราท่านทั้งหลายคงจะวางใจคือความคิดความรู้สึกเอาไว้ได้ตามคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว ความทุกข์นั้นย่อมจะไม่เกิดขึ้นกับคุณอีกต่อไป