ความพ้นทุกข์ในธรรมนาวาวัง

25 ก.ย. 2567 | 21:30 น.

ความพ้นทุกข์ในธรรมนาวาวัง คอลัมน์ ทำมาธรรมะ โดย ราชรามัญ

ชาวพุทธเมื่อเริ่มศึกษาธรรมและปฏิบัติธรรมด้วยการนั่งภาวนา มีจำนวนไม่น้อยนิยมปฏิบัติแสวงหาความสงบจากพลังสมาธิแบบสมถะ และเชื่อว่าจะทำให้เกิดการรู้แจ้ง จากประสบการณ์ที่ศึกษาและปฏิบัติมาตามแนวทางของพระพุทธเจ้านั้น

ใครที่เชื่อว่า จิตสงบแล้วทำให้เกิดปัญญา นั้นเป็นการเข้าใจผิด บางท่านไปจมอยู่กับสมาธิแบบสมถะเพลิน ในภาวะสงบสุขปีติ ตัวเบาใจเบาคล้ายกับคนจะบรรลุธรรม แต่ลองมีอะไรมากระทบอารมณ์ตัวเองนิดเดียว โทสะพุ่งปี๊ดปรอทแตกเพราะจุดเดือดต่ำมาก คือ โกรธง่าย จากการที่เป็นนักปฏิบัติมามากพอสมควรจึงสรุปความสั้นๆ ได้ว่า 

"ความสงบไม่ได้ทำให้เกิดปัญญา แต่เพราะมีปัญญาแล้วจิตจึงสงบ"

หนังสือหลักปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์ ในชุด ธรรมนาวาวัง มีบทความหนึ่งอ่านแล้วเชื่อได้ว่าผู้เขียน คือ พระอาจารย์ทวีวัฒน์ จารุวณฺโณ เข้าใจวิธีการปฏิบัติธรรมตามแนวคำสอนของพระพุทธเจ้าอย่างแท้จริง โดยในหนังสือนั้นมีความตามละเอียดว่า...

"เพราะการตรัสรู้ธรรมนั้น ไม่ได้ตรัสรู้บนจิตที่สงบแต่ตรัสรู้บนจิตที่รู้สภาพธรรมอันเกิด-ดับต่อหน้าต่อตานี้ โดยพระพุทธองค์ตรัสว่า บุคคลผู้มีปัญญาอันเห็นความเกิดดับ คือ ปัญญาที่เป็นไปเพื่อความชำแรกกิเลส"

การเกิดปัญญานั้น ไม่ใช่หมายถึงเรื่องการมีหูทิพย์ ตาทิพย์ สมัยเป็นนักเขียนในนิตยสารโลกทิพย์ พระท่านชอบเมตตาเล่าเรื่องลักษณะนี้อันเกิดจากการปฏิบัติให้ฟังเนืองๆ ซึ่งก็ได้แค่ฟังแต่ไม่ออกความเห็นใดๆ กับท่าน เพราะปัญญาอันแท้จริง คือ การเห็นการทำงานของขันธ์ห้า (รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ)​ เพราะขันธ์ห้าทำงานพร้อมกันร่วมกันไม่ได้ทำกันคนละครั้ง 

หนังสือ หลักปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์ ในชุด ธรรมนาวาวัง

 

ในหน้า 49 ของหนังสือ หลักปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์ ธรรมนาวาวัง ความว่า...

การเกิดขึ้นของขันธ์จะเกิดร่วมกันทุกขันธ์ไม่พรากจากกัน โดยอาการ ที่ผู้โกรธจะแสดงออกถึงความโกรธ เช่น หัวใจเต้น สั่น เร็ว ที สั้น
ลักษณะเหล่านี้ เป็นลักษณะของกาย ซึ่งจะเกิดร่วมกันทั้ง รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ เกิดร่วมรับรู้ในอารมณ์เดียวกันและดับไปพร้อมกัน
เมื่ออารมณ์ดับไปแล้ว รูปก็สงบ จิตเราเองก็สงบ การเต้นของหัวใจก็กลับมาเป็นปกติ ลมหายใจก็เดินเป็นปกติ เวทนาที่เป็นทุกข์ก็หายไป ไม่จดจำเรื่องที่โกรธ ไม่คิดเรื่องที่โกรธและไม่รับรู้อารมณ์โกรธอีกต่อไป

ก็ไปสอดคล้องอย่างชัดเจนกับประโยคข้างต้นที่ว่า เพราะมีปัญญาจิตจึงสงบ ไม่ใช่ไปนั่งสงบเพื่อให้เกิดปัญญา

เคยมีฝรั่งชาวอเมริกัน ถามว่า พระพุทธเจ้าใช้ระบบอะไรในการทำให้รู้แจ้ง หรือให้เกิดปัญญา ตอบไปตามความเข้าใจว่า ใช้จิตระบบดิจิทัล

ฝรั่งตาค้าง จึงอธิบายไปว่า การทำงานของจิตเร็วมากชั่วช้างสะบัดหู งูแลบลิ้น หรือ ชั่วลัดนิ้วมือ ในชั่วขณะที่เร็วแบบนั้นทรงเห็นภาวะการเกิดการดับตลอดสาย เกิดดับในขันธ์ห้า เห็นการเกิดดับของรูป การเกิดดับเวทนา การเกิดดับสัญญา การเกิดดับของสังขาร การเกิดดับของวิญญาณ เหมือนการทำงานของระบบดิจิทัล ที่ทำงานรวดเร็วมาก และมีภาวะ 0-1 ตลอดสายของการทำงานเช่นกัน ฝรั่งอมยิ้ม

พระสุธรรมคณาจารย์ (หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ)​

ท่านเป็นลูกศิษย์พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ช่วงมาพำนักที่สำนักสงฆ์จิตรลดา เขตดุสิต กรุงเทพฯ ในช่วงนั้นผมเป็นนักบวชเลยมีโอกาสอุปัฏฐากท่าน จึงสนทนาธรรม คราวหนึ่งถามท่านว่า 

ทำไมการปฏิบัติธรรมทั่วไปนิยมนั่งสมาธิหลับตาเพื่อให้เป็นสมถะ ท่านตอบว่า ผู้ที่ปัญญาน้อยต้องทำแบบนั้นก่อน เพื่อให้นิ่ง เมื่อความนิ่งอยู่ตัวก็ต้องทิ้ง ถ้าไปยึดติดก็ไปต่อไม่ได้  

พระโพธิญาณเถร (หลวงพ่อชา สุภัทโท)​ เดินจงกรมปฏิบัตินั่งสมาธิภาวนาทั้งวัน แต่สงสัยในหลวงปู่กินรี จนฺทิโย (วัดกันตศิลาวาส จ. นครพนม)​ ว่าวันๆ ไม่เห็นปฏิบัติอะไรเลยนั่งทำแต่บริขาร กระทั่งวันหนึ่งหลวงพ่อชาจึงเข้าใจว่า การใช้ชีวิตด้วยสติปัฏฐานนั่นแหละ คือ การปฏิบัติธรรม เป็นการใช้ชีวิตที่มีสติรู้ตลอดทุกการเคลื่อนไหว เห็นภาวะเกิดดับติดต่อกันเนืองๆ โดยไม่ต้องไปนั่งภาวนา 

ดังนั้นหนังสือ ธรรมนาวาวัง คือการรวบรวมแนวทางการปฏิบัติที่ตรงต่อพุทธะประสงค์ของพระพุทธเจ้า ด้วยสำนวนการเขียน การเล่าและบรรยายในธรรมที่ร่วมสมัย และไม่ได้เน้นไปในทางภาษาโลก แต่เน้นภาษาธรรม 

พุทโธ เมนาโถ ธัมโม เมนาโถ สังโฆ เมนาโถ คือ ที่พึ่งอันประเสริฐของข้าพเจ้า