ตามอรรถพยัญชนะ คำว่า สมถะก็ดี วิปัสสนาก็ดี มิใช่หมายถึง วิธีการปฏิบัติ แต่เป็นผลลัพธ์ของการปฏิบัติ อาทิ เมื่อเราหากุศโบยายอะไรสักอย่างมาทำให้ใจสงบรวมเป็นหนึ่งเดียวได้แล้วเจริญไปในฌานได้ตั้งแต่ฌานที่ 1 ไปจนถึงฌานที่ 4 อันนี้ จิตอิ่มเอิบเบิกบาน ตั้งมั่นนิ่งสงบเป็นหนึ่งเดียว อาการนี้แหละที่เรียกว่า สภาวะ สมถะ
ส่วนสภาวะวิปัสสนา ก็คือเมื่อปฏิบัติแล้ว ได้รู้เห็นตามความเป็นจริง โดยเฉพาะภาวะการเกิด การดับที่มีอยู่ในร่างกาย การรู้เช่นนี้ทำให้เกิดญาณ ไม่ใช่ฌาน และเมื่อเกิดญาณแปลว่ารู้ นี่แหละจึงเป็นสภาวะของ วิปัสสนา แต่จะรู้ถึงขั้นไหนอย่างไร หรือแค่เริ่มต้น ก็อยู่ที่ความเพียร ในการปฏิบัติ
ผมนำเอาหลักการวิธีการของ พระราชภาวนาวัชราจารย์ วิ. (หลวงพ่อสุทัศน์ โกสโล) เป็นฐานที่ตั้ง และนำเอาวิธีการในสังเกตสภาวธรรมที่ปรากฏในหนังสือหลักการชาวพุทธจากชุดธรรมนาวาวัง ที่ได้รับพระราชทานมา ในหน้า17 ที่เขียนโดย พระราชญาณวัชรชิโนภาส (พระอาจารย์ ทวีวัฒน์ จารุวณฺโณ) ความว่า
ในขณะที่นั่งเจริญสติบนฐานกาย ดูลมหายใจเข้าออก เวทนาเริ่มปรากฏชัด คือ ปวดเมื่อย สักคู่สภาวะการเกิดการดับปรากฏไปทั่วร่างกาย คล้ายเราสัมผัสได้ถึงการเต้นชีพจร ตุบๆๆ ทั่วร่างกายของเราเลย ในขณะเดียวกันนั้นจิตบอกไปว่า ไม่อยากให้เกิดสิ่งนี้ ครั้นคำสอนในหนังสือก็ปรากฏขึ้นมาว่า
"อย่าอยากดับอารมณ์ อย่าห้ามไม่ให้อารมณ์เกิดขึ้น"
จึงเฝ้าดู เฝ้ารู้กับสภาวะที่คล้ายกับชีพจรเต้น พร้อมกันทั้งร่างกายตั้งแต่ศีรษะจรดปลายเท้า แบบตุบๆๆ นี่แหละคือภาวะการเกิด-การดับ เมื่อเฝ้าดูเฝ้าสังเกตแต่ไม่เพ่ง ไม่จ้อง อาการเช่นนี้ก็ค่อยๆ จางคลาย เบาลงสักพักก็ชัดขึ้น สลับหมุนเวียนไป จึงทำให้เข้าใจว่า ภาวะแห่งเวทนาทั้งปวง ก็เป็นของไม่เที่ยง เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป
ในขณะที่เจริญสติ เฝ้าสังเกตภาวะอาการเกิดดับอยู่เช่นนี้ เหมือนภาวะภายในธาตุทั้งหลายเกิดการกระเพื่อม แล้วปรุงแต่งภาวะสัญญาให้เกิดขึ้น กลายเป็นสังขารปรุงแต่ง ความคิดทั้งหลายพลุ่งพล่าน สอดแทรกเข้ามาตลอด ใจคอไม่อยู่กับเนื้อกับตัว เหมือนจิต จะส่งออกไปข้างนอก เพื่ออยากดับอารมณ์ไม่ให้อารมณ์นั้นๆ มันเกิดขึ้น
ยิ่งอยากดับ ยิ่งเหมือน ยิ่งเกิด จนในที่สุดสติย้ำเตือนว่าอะไรจะเกิดก็ต้องเกิด ก็เลยปล่อยมัน เฝ้าดูมัน เฝ้าสังเกต แต่ไม่ไปกด ไม่ไปข่มอารมณ์ต่างๆ ที่พลุ่งพล่าน แต่คล้ายกับว่า เราจะพบทางตีบตัน จึงได้แต่น้อมใจ ระลึกนึกถึงพระรัตนตรัย พุทโธเมนาโถ ธัมโมเมนาโถ สังโฆเมนาโถ ดูเหมือนภาวะภายใน เริ่มอบอุ่นขึ้นอย่างชอบกล เฝ้าดูเฝ้าสังเกตไปเหมือนเดิม สิ่งที่ได้มา ดูเหมือนสัญญาดับ การปรุงแต่งทางสังขารดับ แต่หนทางนี้ ความสงบหามีไม่ มีแต่ภาวะความรู้สึกตัว ที่ประกอบไปด้วยสติและ สัมปชัญญะ แบบตื่นรู้อยู่เสมอ ไม่มีความสงบแน่นิ่งแบบอารมณ์ฌานใดๆ ทั้งสิ้น
อาการเช่นนี้เหมือนตอนที่อยู่ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ประเทศอินเดีย ที่เรานั่งปฏิบัติภาวนาอยู่ที่นั่น นานถึง 3 เดือน อาการละม้ายคล้ายกัน นี่มิใช่ความพิเศษใดๆ แต่เหมือนเป็นปรากฏการณ์ภาวะธรรมชาติ ที่มนุษย์ทั้งหลายพึงควรรู้ และเข้าใจ ว่าที่สุดแล้วทุกอย่างเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ยึดมั่นถือมั่นเป็นอัตราตัวตนไม่ได้ เป็นเพียงแค่สิ่งที่อาศัยซึ่งกันและกัน
นักปฏิบัติที่ชอบติดครูบาอาจารย์ ตลอดทั้งติดตำราคำภีร์ หรือติดวิธีการในการปฏิบัติตามแนวหลวงปู่หลวงพ่อของตน ถ้าหากได้มาอ่านหนังสือธรรมนาวาวัง ก็อาจจะมีมุมความคิดที่แตกต่างและมองว่า หนังสือเล่มนี้เขียนไปคนละทางจากที่ตัวเองเคยรู้ แต่แท้ที่จริงแล้วในสภาวะปรมัตถธรรม ความละเอียดลึกซึ้งเกินที่จะตรึงตราด้วยภาษา เพียงแค่เรื่องภาวะการเกิดการดับ อาการอารมณ์ ของภาวะเกิดดับ ก็ยากต่อการอธิบายเป็นคำพูดออกมาแล้ว
พระราชญาณวัชรชิโนภาส ท่านรวบรวมเรียบเรียงหนังสือธรรมนาวาวังเล่มนี้ ทำให้เชื่อได้ว่าน่าจะมาจาก สภาวะปรมัตถธรรม จากการปฏิบัติของท่าน มากกว่าที่จะหยิบยกจากตำราคัมภีร์ มารวบรวมเหมือนกับหลายๆ เล่มที่เคยปรากฏในแวดวงของนักปฏิบัติ เพราะรูปภาษา เป็นภาษา ที่สื่อสารออกมา จากสภาวธรรมมากกว่าการสื่อสารเพื่อให้ตรงต่ออรรถและพยัญชนะเพียงส่วนเดียว
ปรมัตถธรรม มีทั้งภาวะมรรค และ ปรมัตถธรรมภาวะผล เพียงแค่เราสามารถสัมผัสสภาวธรรม แบบปรมัตถธรรม ในส่วนของมรรคได้แล้ว แม้เป็นมรรคแบบโสดาบันมรรคเท่านี้เราก็สิ้นสงสัยไปพลางแล้วว่า พระพุทธเจ้ามีจริงไหม พระธรรมมีจริงไหม พระอรหันต์มีจริงไหม
นับเป็นกุศลยิ่งที่ได้อ่านหนังสือธรรมนาวาวัง ด้วยพระมหากรุณาธิคุณ ในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงจัดพิมพ์เพื่อทรงพระราชทาน ทั้งพระภิกษุ หน่วยงานราชการ ตลอดทั้งภาคประชาชน