ปฏิบัติธรรมแบบไหนจึงเหมาะกับเรา

04 ธ.ค. 2567 | 21:00 น.
อัปเดตล่าสุด :05 ธ.ค. 2567 | 00:22 น.

ปฏิบัติธรรมแบบไหนจึงเหมาะกับเรา คอลัมน์ ทำมาธรรมะ โดย ราชรามัญ

KEY

POINTS

  • ก่อนที่จะเลือกวิธีการปฏิบัติธรรม ควรตั้งคำถามกับตัวเองก่อนว่าเราปฏิบัติธรรมเพื่ออะไร การเข้าใจเป้าหมายของตัวเองจะช่วยให้เลือกรูปแบบการปฏิบัติที่เหมาะสมกับเราได้ง่ายขึ้นและมีความสุขในการปฏิบัติมากขึ้น
  • การปฏิบัติธรรมแต่ละรูปแบบมีเป้าหมายที่แตกต่างกัน การเลือกวิธีที่ตรงกับเป้าหมายจะทำให้การปฏิบัติเป็นไปได้ดีและไม่เกิดความเครียด

แนวทางการปฏิบัติธรรม มีมากมายหลากหลายรูปแบบ แต่ละวัด แต่ละสำนักต่างก็มีวิธีการในการฝึกปฏิบัติที่แตกต่างกันออกไปยกเว้น วัดที่มาจากสายการปฏิบัติ ที่เป็นวัดสาขา ก็จะมีวิธีการปฏิบัติเหมือนกัน

รูปแบบในการปฏิบัตินั้น ต่างมีเป้าหมายที่แตกต่างกันออกไป ก่อนที่เราจะไปตั้งคำถาม ที่ถามว่าเราควรเลือกรูปแบบการปฏิบัติแบบไหนนั้น เราควรตั้งคำถาม ถามตัวเราเองก่อนว่า

เป้าหมายของการปฏิบัติธรรม ของเรานั้นเพื่ออะไร?

ถ้าเราตอบคำถามตัวเองได้ เราก็จะสามารถเลือกรูปแบบวิธีการปฏิบัติได้ ค่อนข้างง่ายมากขึ้น และที่สำคัญจะเป็นการปฏิบัติที่ตรงกับเป้าหมายที่เราต้องการ

บางคนปฏิบัติธรรมมีเป้าหมายเพื่อรักษาสุขภาพ บำบัดโรคภัย บางคนปฏิบัติธรรม เพื่อเป็นการสร้างบุญกุศล สะสมกุศลให้เป็นบารมีสืบไป บางคนปฏิบัติธรรม เพื่อปรารถนาความพ้นทุกข์หรือพูดง่ายๆก็คือมรรคผลนิพพาน

ถ้าเราตอบคำถาม ที่เป็นเป้าหมาย ของเราได้อย่างชัดเจนแล้ว การเลือกรูปแบบหรือวิธีการปฏิบัติ ก็จะง่ายขึ้น และจะทำให้การปฏิบัตินั้นไม่เสียเวลาแต่ประการใด ตลอดทั้งจะไม่มี ความเครียดในขณะที่ลงมือปฏิบัติด้วย

แต่ละเป้าหมายมีแนวทางดังนี้

การปฏิบัติธรรมเพื่อปรารถนาบุญกุศล

  • วิธีการปฏิบัติธรรม สำหรับผู้ที่มีเป้าหมายเพื่อสะสมบุญกุศลนั้น ไม่ค่อยซับซ้อนเท่าไหร่ และเป็นการปฏิบัติที่ค่อนข้างไม่เคร่งเครียดใดๆ เป็นการปฏิบัติแบบค่อยเป็นค่อยไป สะสมไปเรื่อยๆ รูปแบบที่เหมาะสมก็คือการนั่งสมาธิแบบพื้นฐานทั่วไป จะนั่งบริกรรมท่องถ้อยคำในขณะดูลมหายใจเข้าออกก็ได้ เช่น คำว่า พุทโธ หรือจะนับลมหายใจเข้าออก แบบขณะหายใจเข้าก็นึกถึงคำว่าหนึ่งหายใจออกก็นึกถึงคำว่า สอง เป็นต้น
  • รายการปฏิบัติแต่ละครั้ง อาจจะใช้เวลา 10 นาทีหรือ 30 นาที หรือแล้วแต่ที่จะสะดวก และเป็นการปฏิบัติที่ ไม่ต้องเคร่งครัด เอาเป็นเอาตาย ค่อยทำไปเรื่อยๆ ในแต่ละวัน วันละครั้งก่อนนอนก็ยังได้ เพื่อเป็นการสะสมบุญกุศลไปเรื่อยๆ

การปฏิบัติธรรม เพื่อการ รักษาสุขภาพ บำบัดโรคภัย

  • วิธีการปฏิบัติธรรม เพื่อการรักษาสุขภาพบำบัดโรค ก็อาจจะต้องพึงอาศัยธรรมชาติแวดล้อมต่างๆ เข้ามาร่วมด้วย อาทิ สถานที่ที่เป็นธรรมชาติที่เป็นป่าไม้ ภูเขา ลำธาร น้ำทะเลเป็นต้น โดยผู้ปฏิบัตินั่งสมาธิ ใกล้ธรรมชาติตามที่กล่าวมา จะนั่งหลับตาก็ได้ลืมตาก็ได้ เพื่อให้เกิดภาวะผ่อนคลาย และสูดอากาศที่เป็นธรรมชาติ การปฏิบัติธรรมในรูปแบบนี้ จะทำให้ร่างกายปรับสมดุลได้ดีและเร็วขึ้น สุขภาพจิตของผู้ปฏิบัติก็จะแจ่มใส ไม่จมอารมณ์กับภาวะ วิตกกังวล ที่เจ็บป่วยเป็นโรคภัย

การปฏิบัติธรรม เพื่อความหลุดพ้นมรรคผลนิพพาน

  • การที่มีเป้าหมายในการปฏิบัติธรรม เพื่อความหลุดพ้น ผู้ปฏิบัติจะต้องเคร่งครัดและมีเวลาในการปฏิบัติค่อนข้างมาก อย่างน้อยวันละ 8 ชั่วโมง เป็นการปฏิบัติเอาจริงเอาจัง ที่ไม่เว้นว่างจากการปฏิบัติเลยในเดือนหนึ่งๆ เป็นการปฏิบัติที่ต้องต่อเนื่อง และไม่มีเป้าหมายอื่นใดเข้ามาแทรกแซง เน้นอย่างเดียวเพื่อความหลุดพ้น แต่การปฏิบัติ เพื่อเป้าหมายการหลุดพ้นแม้เราตั้งเป้าหมายได้แต่ก็ใช่ว่าทุกคนจะไปถึงจุดนั้นได้ เสมอเหมือนกัน เพราะเรื่อง ความพร้อมอันเป็นเหตุปัจจัย ที่เป็นตัวแปร อาจจะทำให้ บางคนสำเร็จง่าย บางคนต้องใช้เวลานาน

ที่กล่าวมาทั้งหมด คือความแตกต่าง ของระยะเวลาหรือวิธีการการปฏิบัติ ในรูปแบบ ที่มีความเหมาะสมแตกต่างกันออกไปกับเป้าหมาย ที่เราเลือก

ถ้าเราเข้าใจเป้าหมายของตนเองอย่างชัดเจนแล้ว การเลือกรูปแบบและระยะเวลาในการปฏิบัติที่เหมาะแก่เราก็ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป แล้วเราจะมีความสุขกับการปฏิบัติธรรมมากยิ่งขึ้น