หลวงพ่อพุทธทาส พระผู้ที่ตายก่อนที่จะตาย

18 ธ.ค. 2567 | 22:00 น.

หลวงพ่อพุทธทาส พระผู้ที่ตายก่อนที่จะตาย คอลัมน์ทำมา.. ธรรมะ โดย ราชรามัญ

KEY

POINTS

  • "จงตายก่อนตาย" วลีแบบนี้ฟังเหมือนเล่นลิ้น แต่ความจริงคือ ธรรมะชั้นสูง
  • ตายคำแรก หมายถึง การตายของกิเลสตัณหาอุปทานทั้งปวง
  • ตายคำที่สองหมายถึง การสิ้นอายุของร่างกาย ผู้ไม่ถึงธรรม ไม่ลึกซึ้งด้วยธรรม คงจะกล่าวแบบนี้ได้ยากยิ่ง 

คอลัมน์ทำมา.. ธรรมะ โดย ราชรามัญ

 

ปีพ.ศ.2534 ไปกราบหลวงพ่อพุทธทาส ที่สวนโมกขพลาราม ไปทั้งที่ไม่รู้จักท่าน ไปทั้งที่ไปเพราะพ่อแม่ครูอาจารย์บอกให้ไป เห็นท่านครั้งแรกเราก้มกราบด้วยสำรวมด้วยภาวะพระหนุ่มเณรน้อยท่านก็เมตตารับ แต่พอได้ศึกษาท่านอย่างยิ่งยวด จวบกับคำบอกคำเล่าของอ.โกวิท หรือ เขมานันทะ ผู้ที่อยู่สวนโมกขพลารามรุ่นบุกเบิก วาดรูปเทปูนถางหญ้า ทำให้เกิดศรัทธาท่านยิ่ง

ท่านมีองค์ความรู้พุทธศาสนาอย่างแตกฉาน เพียงรูปเดียวในประเทศไทย ผมใช้วลีไม่ผิดแน่
เพราะท่านรู้บาลี รู้สันกฤต คัมภีร์เถรวาทอย่างลึกซึ้ง รู้ทั้งความเป็นธรรมยุต ความเป็นมหานิกายในไทย นอกจากนี้ ท่านยังรู้พุทธศาสนามหายาน แบบเกลุก วัชรยาน อย่างละเอียดแบบเซนอย่างละเอียด มีพระรูปไหนในประเทศไทยนับตั้งแต่พ.ศ.2400 ลงมาถึงปัจจุบันที่รู้ชัดรู้รอบทั้งสองนิกายแบบนี้บ้าง หากจะกล่าวว่า 100 ปี มีสักรูปก็ไม่ผิดความ 

สหธรรมิกของผม สมัยที่ครองผ้ากาสาสงสัยท่านว่า ท่านเป็นพระสายปฏิบัติธรรมหรือไม่ ท่านนั่งภาวนา ฉันมื้อเดียว งดกิจนิมนต์ทั้งปวง อ่านตำรา หมกตัวอยู่แต่ซอกชายป่าพุ่มเรียง ไม่พูดไม่จากับใคร นอกจากถ้าจำเป็นก็สนทนากับน้องชายท่านคือ ธรรมทาส ผู้เดียว จนชาวบ้านเริ่มปรามาสว่า "พระบ้า" 

หนังสือที่ท่านเขียน ตามรอยพระอรหันต์, คู่มือมนุษย์, ฮวงโป, เว่ยหล่าง และอีกหลายๆ เล่มนั้น ล้วนคุณูปการต่อพระพุทธศาสนายิ่งนัก เคยมีพระราชาคณะรูปหนึ่งในวัดหลวงกลางกรุงเทพฯ นำเอาผลงานของท่านมาวางเรียงราย ด้วยหวังจะจับผิดท่าน แต่ทว่าล้มไม่เป็นท่า... เพราะองค์ความรู้มีดีกรีแค่ปธ.๙ มีความรู้แค่ด้านเดียวมิติเดียว แม้ท่านพุทธทาสจะแค่ปธ.๓ หรือ ๔ แต่องค์ความรู้ท่านกว้างขวางมากทุกมิติแห่งความเป็นพุทธศาสนา ศักยภาพทางจิตวิญญาณที่แตกต่างผลลัพธ์ของชีวิตจึงแตกต่าง  

ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ที่ทางกรุงโลกียะยกย่องท่านว่าเป็นปราชญ์ สงสัยในคำสอนเรื่องจิตว่างจึงมาดีเบตแบบสไตล์สนทนาธรรมกัน การสนทนาครั้งนั้นเพื่อแลกเปลี่ยนในเรื่องธรรมะไม่ใช่มาตอบโต้เอาเป็นเอาตายแบบคนหิวแสงในยุคนี้

"การทำงาน คือ การปฏิบัติธรรม" 

"ทำงานทุกชนิดด้วยจิตว่าง" 
 


แค่คำง่ายๆ ที่เป็นธรรมะของท่านสองวลีนี้ ในยุคนั้นก็ มึนงงกันไก่ตาแตก ถ้าไม่ได้ฟังคำสาธยายของหลวงพ่อพุทธทาส เป็นเพราะมิติความรู้ในคำว่าธรรมะ หรือ พุทธศาสนา ของพระสงฆ์ยุคนั้นมันคับแคบ คับแคบด้านความรู้ คับแคบทางจิตใจ คือ ไม่คิดที่จะศึกษาในนิกายอื่นบ้าง 

การมีสติสัมปชัญญะกับตัวตลอดเวลาฝึกวิปัสสนา จะแตกต่างอะไรกับการทำงานทุกอย่างแล้วมีสติสัมปชัญญะ นั่นแล การทำงาน คือ การปฏิบัติธรรม


เราท่านจึงปฏิบัติธรรมได้ 24 ชั่วโมงโดยไม่ต้องนุ่งขาวหุ่มขาว ไม่ต้องไปวัด นุ่งยีนส์ ใส่เสื้อยืดก็ปฏิบัติธรรมได้ ขึ้นรถไฟฟ้า ขับรถไปทำงาน ถ้ามีสติสัมปชัญญะเป็นการปฏิบัติธรรมหมด แต่เป็นการปฏิบัติแบบเพื่อการใช้ชีวิตแบบมีคุณภาพและคุณธรรม 

"ทำงานทุกชนิดด้วยจิตว่าง"  อันนี้ก็สูงขึ้นมากว่าอันแรก ที่ว่าสูงกว่าเพราะแบบแรกนั้นในขณะทำงานอาจมีจิตอยากได้นั่นนี่บ้าง ได้ผลประโยชน์ต่างตอบแทนบ้าง ตามเหตุปัจจัยที่ควร แต่สำหรับการทำงานทุกชนิดด้วยจิตว่าง นี้คือ การทำงานอย่างมีสติสัมปชัญญะ โดยไม่สนใจใยดีว่าผลของงานนั้นออกมาจะได้รับการยอมรับมากน้อยเพียงไหน ในขณะที่ลงมือทำก็ไม่คิดหวังผลใดๆ ด้วย ไม่ความคิดเข้ามาแทรกว่าผลจะออกมาดีหรือไม่ดี  ทำแล้ววาง ทำแล้วจบ จบขณะที่ลงมือทำ 

หลวงพ่อพุทธทาส มีคำสอนประโยคหนึ่งว่า 

"จงตายก่อนตาย" วลีแบบนี้ฟังเหมือนเล่นลิ้น แต่ความจริงคือ ธรรมะชั้นสูง ตายคำแรก หมายถึง การตายของกิเลสตัณหาอุปทานทั้งปวง ตายคำที่สองหมายถึง การสิ้นอายุของร่างกาย ผู้ไม่ถึงธรรม ไม่ลึกซึ้งด้วยธรรม คงจะกล่าวแบบนี้ได้ยากยิ่ง 

แต่ที่สำคัญยิ่งการเผยแผ่ธรรมของท่านนั้น ค่อยๆ สอนเป็นลำดับ ในช่วงแรกท่านเน้นให้เข้าใจความเป็นพุทธศาสนา กับงานเขียนในหนังสือคู่มือมนุษย์ ท่านเน้นให้เห็นความเป็นพุทธตั้งแต่ถือทำบุญสุนทรทาน ตักบาตร รักษาศีลไปถึงภาวความเป็นโสดาบัน  

ในช่วงปัจฉิมวัยท่านจึงมาเน้นสอน เรื่องจิตว่าง หลุดพ้นเสียมาก อาทิ พ้นแล้วโว้ย เป็นวลีที่เขียนเป็นภาพแล้วมีวลีนี้กำกับ 

ผู้ที่สนใจในการใฝ่ศึกษาความรู้ที่เป็นพระพุทธศาสนา ลองศึกษางานของหลวงพ่อพุทธทาสอย่างจริงจัง จะเข้าใจอย่างลึกซึ้งหลากหลายมิติ ที่สมบูรณ์ แต่ก็อีกแหละ.. ทุกอย่างอยู่ที่กุศลเจตนา ใครมีกุศลแรงในพุทธศาสนาก็จะได้พบของจริง ความจริงที่เป็นจริง เหนือความจริงจากสิ่งทั้งปวง แม้แต่องค์ทะไลลามะรูปปัจจุบัน เมื่อพ.ศ.2515 ยังเดินทางมาจากอินเดียเพื่อมาศึกษาธรรมกับท่านที่สวนโมกขพลารามเลย