ศาสนาพุทธไม่ปรามาสผู้เห็นต่าง

02 เม.ย. 2568 | 21:30 น.
อัปเดตล่าสุด :02 เม.ย. 2568 | 23:43 น.

ศาสนาพุทธไม่ปรามาสผู้เห็นต่าง คอลัมน์ ทำมาธรรมะ โดย ราชรามัญ

ผู้ที่เข้าใจในคำสอน ของพระพุทธเจ้าโดยแท้จริง จะเป็นผู้ที่ยึดมั่นในหลักการ แต่ไม่คลั่งในหลักการ และมองทุกสิ่งอย่าง ด้วยความเข้าใจ เพราะพระพุทธเจ้า ทรงเน้น ในกระบวนการทางความคิด เป็นอันดับแรก

เราจะเห็นได้ว่า การเปรียบเทียบความคิดของผู้คนนั้นแบ่งออกเป็นบัว 4 เหล่า​ บัวใต้น้ำ บัวกลางน้ำ บัวปริ่มน้ำและบัวพ้นน้ำ นี่คือการ ชี้ให้เห็นถึงความคิด ของบุคคลแต่ละคน และเมื่อจะโปรด ก็จะหยิบธรรมะให้ ที่เหมาะสมและพอดี

ถ้าเราเพิ่งสังเกตไปอีกขั้นหนึ่ง คำสอนแรกในมัชฌิมาปฏิปทา ก็เริ่มต้นจากความคิดเช่นเดียวกันคือ สัมมาทิฏฐิ ดังนั้นคำสอนของพระพุทธเจ้า เป็นคำสอนที่เน้นจุดเริ่มต้นคือให้มีความคิดที่ถูกต้อง อยู่ใน ครรลองของธรรม

แต่ทุกๆมวลความคิดนั้น จะไม่มีการไปปรามาสผู้อื่น ไม่มีการเป็นหมิ่นหรือดูถูกศาสนาอื่น ครั้นถ้ามีความจำเป็น จึงแจกแจง อย่างแยบยล สุขุม และคัมภีรภาพ ตามความเป็นจริง ในธรรมทั้งปวงให้ปรากฏ

แต่จะไม่มีการไปปรามาส ด่าทอ สื่อสารด้วยคำหยาบคาย สบถคำที่รุนแรง ต่อผู้ที่มีความเชื่อต่างหรือมีความเห็นต่างกับพระองค์ และคำสอนของพระองค์ นี่จึงเรียกว่า การปฏิบัติที่สำคัญ ของการเป็นชาวพุทธ

ดังนั้นชาวพุทธที่ดี ต้องไม่สร้าง วจีกรรม ด้วยการไปปรามาสผู้ที่เห็นต่าง กลับกัน จะพึงอาศัยโอกาสอันเหมาะควร ในการอธิบาย ด้วยความสุขุมคัมภีรภาพ​ ไหลไปตามธรรม ตามแต่สติปัญญาที่เหมาะสม

ดังนั้นผู้ใดใครคนหนึ่ง ที่เอ่ยกล่าวว่าตน เข้าใจธรรมรู้ธรรม จากการอ่านก็ดี จากการปฏิบัติก็ดี แต่ยังมีวจีกรรมอันหยาบคาย ปรามาสบุคคลอื่นที่เห็นต่าง แล้วพึงอาศัยธรรมะ ไปข่ม บุคคลอื่น ต้องกล่าวว่า บุคคลนั้น ไม่มี ธรรมะใดๆในใจเลย ซ้ำร้าย ยังไม่พึงปฏิบัติ เหมือนที่พระพุทธเจ้าทรงปฏิบัติอีกด้วย

ในยุคนี้บางครั้ง คำพูดนั้นเหมือนปราชญ์ แต่การกระทำนั้นสวนทาง ก็เป็นสิ่งที่สามารถสื่อให้เห็นได้แล้วว่า ผู้ที่ออกมาเผยแพร่ธรรมะ ด้วยสร้างวจีกรรม ที่หยาบคาย และปรามาสผู้เห็นต่าง คือบุคคลที่มีธรรมหรือไม่ ที่สำคัญไม่ตรงตามคำสอน ที่พระพุทธองค์ทรงมีพุทธประสงค์

บุคคลที่เป็น ผู้นับถือพุทธศาสนา หรือเป็นศาสนิกชน โดยแท้จริง จะมีความ สำรวม ด้วยกาย สำรวมด้วยใจ เป็นปกติ ไม่ว่า จะมี ศีล 5 ในการดำรงอยู่ หรือจะ สมาทานศีล 8 ในการดำรงอยู่ ต่างก็ เข้าใจ อย่างลึกซึ้ง ในการประพฤติปฏิบัติ แห่งความเป็นชาวพุทธ โดยเฉพาะเรื่องการสื่อสาร ว่าสิ่งใดควรหรือไม่ควร

ยิ่งผู้ที่เผยแพร่ธรรม เปิดเผยกับสื่อสาธารณชนว่าตนสมาทานศีล 8​ หรือจะสิกขาบทตามพระธรรมวินัย​ ศีล227 แต่ยังมีการใช้ วาจาที่รุนแรง หยาบคาย ปรามาสผู้อื่น นั้นก็คงจะผิดในสิกขายทแห่งศีล​ มุสาวาทา​ เวระมณี​ ซึ่งศีลข้อนี้รวมถึงการพูดโกหก​ ส่อเสียด​ หยาบคาย​ เพ้อเจ้อ ทุกคำที่สื่อสารเผยแพร่ธรรม​ ก็หาใช่เป็นบุญเป็นกุศลไม่ หาใช่มีประโยชน์ใดๆ ครั้นจะสร้างเศษบาปเศษกรรมให้แก่ตนเอง มากยิ่งขึ้นโดยมิรู้ตัว สุดท้าย ก็จะได้กลับมาอยู่กับความเป็นจริงว่า ตนไม่ได้มีธรรมะใดๆเลย ในจิตใจ

การศรัทธา ในคำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นสิ่งที่ดี แต่ถ้าจะศรัทธาผู้ที่นำ ธรรมะคำสอนของพระพุทธเจ้ามาเผยแผ่ ควรพิจารณาด้วยสติปัญญา และมีความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง ว่าพุทธศาสนา ไม่เคยสอนให้ปรามาสผู้ที่เห็นต่างแต่ประการใด แม้เขาผู้นั้นจะเห็นผิด มากมาย ถึงกับเป็นมิจฉาทิฐิก็ตาม ถ้ามีความปรารถนาดี ที่อยากจะแนะนำ สิ่งที่ถูกต้อง ให้แก่เขา ก็ควร ใช้ วาจาที่ สุภาพ และอยู่ในกรอบแห่งธรรม นั่นแหละจึงสมกับเป็น บุตรของตถาคต อย่างแท้จริง