“พรรคเพื่อไทย” จะโดนสักคดีมั้ย? ที่จะนำไปสู่การ “ยุบพรรค” เป็นคำถามที่เกิดขึ้นในแวดวงการเมืองขณะนี้ เพราะมีหลายกรณีเหลือเกินที่ “หมิ่นเหม่” และนำไปสู่การร้องเรียนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ตรวจสอบเพื่อส่งเรื่องให้ “ศาลรัฐธรรมนูญ” วินิจฉัยยุบพรรคเพื่อไทย ที่มี ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ เป็น “เจ้าของพรรค”
สดร้อนๆ คือ เมื่อวันที่ 8 พ.ย.2564 ที่ผ่านมา นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ได้ยื่นหนังสือร้องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ขอให้ตรวจสอบว่า นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เป็นผู้อำนวยการพรรคเพื่อไทยได้หรือไม่ และเป็นเหตุให้ยุบพรรคหรือไม่
เนื่องจากข้อบังคับพรรคเพื่อไทย ข้อ 70 สมัย นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ เป็นหัวหน้าพรรค การตั้งสมาชิกพรรคเป็น ผอ.พรรคได้ ต้องรายงานให้คณะกรรมการบริหารพรรคทราบ แต่บุคคลที่ห้ามสมัครเป็นสมาชิก ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ ม.98 เช่น (9) บุคคลที่เคยได้รับโทษจำคุกและพ้นโทษมายังไม่ถึง 10 ปี หรือ (12) เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ
ดังนั้น นายสุรพงษ์ จึงน่าจะมีลักษณะต้องห้ามเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย หรือ ผอ.พรรคเพื่อไทย ดังนั้น จะถือเป็นคนอื่นหรือผู้ใดที่มิใช่สมาชิกซึ่งกระทำฝ่าฝืนพ.ร.ป.พรรคการเมือง ม.28 หรือ ม.29 หรือไม่ จะถือเป็นเหตุยุบพรรค และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของกก.บห.ทั้งชุดเดิมและชุดใหม่ตาม ม.92 หรือไม่ และ กกต. ต้องดำเนินคดีอาญาด้วย
“ทักษิณ”ครอบงำพรรค
ก่อนหน้านั้น เมื่อ 20 ต.ค.64 นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย และ นายสนธิญา สวัสดี ที่ปรึกษากมธ.การกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ก็ได้ยื่นกกต.ให้ตรวจสอบ กรณีมีคลิปวิดีโอที่มี นายทักษิณ ชินวัตร วิดีโอคอลเข้ามาพูดคุยกับ ส.ส.และผู้บริหารของพรรคเพื่อไทยกลางงานเลี้ยงวันเกิด นายเกรียง กัลป์ตินันท์ รองหัวหน้าพรรค และพูดคุยกันเรื่องของพรรคเพื่อไทย เป็นการฝ่าฝืนกฎหมายหรือครอบงำหรือชี้นำพรรคการเมือง อาจเป็นการฝ่าฝืน ม.28 และ ม.29 ของ พรป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 หรือไม่
เพราะกฎหมายกำหนดว่า “ห้ามมิให้พรรคการเมืองยินยอมหรือกระทําการใดอันทําให้บุคคลอื่นซึ่งมิใช่สมาชิกกระทําการอันเป็นการควบคุม ครอบงํา หรือชี้นํา กิจกรรมของพรรคการเมืองในลักษณะที่ทําให้ พรรคการเมืองหรือสมาชิกขาดความอิสระ ทั้งนี้ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อม”
และ “ห้ามมิให้ผู้ใดซึ่งมิใช่สมาชิกกระทําการใดอันเป็นการควบคุม ครอบงํา หรือชี้นํา กิจกรรมของพรรคการเมืองในลักษณะที่ทําให้พรรคการเมืองหรือสมาชิกขาดความอิสระ ทั้งนี้ ไม่ว่า โดยทางตรงหรือโดยทางอ้อม” หากฝ่าฝืนย่อมเข้าข่ายความผิดตาม ม.92(3) ของกฎหมายดังกล่าว อาจเป็นเหตุให้ กกต.ยื่นให้ศาลสั่งยุบพรรคได้
ถัดมาเมื่อ 26 ต.ค.64 นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ยื่นกกต.ให้ตรวจสอบการกระทำของ นายเกรียง กัลป์ตินันท์ รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ที่วิดีโอคอลพูดคุยกับ โดยมีบทสนทนาพูดถึง แคนดิเดตนายกฯ และตำแหน่งหัวหน้าพรรคเพื่อไทยคนใหม่ เข้าข่ายฝ่าฝืนกฎหมายพรรคการเมือง มาตรา 28
บีบส.ส.โหวตตามพรรค
อีกกรณีเมื่อวันที่ 31 ส.ค.64 นายเรืองไกร ได้ยื่นกกต.ขอให้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ายุบพรรคเพื่อไทย สืบเนื่องจาก นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย มีหนังสือขอให้ส.ส.ของพรรคทุกคนปฏิบัติตามมติของพรรคในการลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรี หากส.ส.ของพรรคคนใดฝ่าฝืนมติมีโทษถึงขั้นให้พ้นจากสมาชิก
การออกหนังสือดังกล่าวเข้าข่ายอาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 124 วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติว่า ในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่ประชุมวุฒิสภา หรือที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา สมาชิกผู้ใดจะกล่าวถ้อยคำใดในทางแถลงข้อเท็จจริง แสดงความคิดเห็นหรือออกเสียงลงคะแนน ย่อมเป็น “เอกสิทธิ์โดยเด็ดขาด”
ขับ 2 ส.ส.พ้นพรรค
ขณะเดียวกัน เมื่อวันที่ 15 ต.ค.64 นายสนธิญา สวัสดี ได้ร้องกกต.ให้สอบกรณีพรรคเพื่อไทยลงมติขับ ส.ส. 2 คน พ้นพรรค คือ นายศรัณย์วุฒิ ศรัณย์เกตุ ส.ส.อุตรดิตถ์ และ น.ส.พรพิมล ธรรมสาร ส.ส.ปทุมธานี เนื่องจากไม่เป็นไปตามหนังสือของหัวหน้าพรรคเพื่อไทย
การขับ ส.ส. 2 คน มีเหตุจากข้อความในหนังสือดังกล่าว จึงอาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 114 และมาตรา 124 การกระทำดังกล่าว หากขัดรัฐธรรมนูญ จะส่งผลให้เข้าข่ายฝ่าฝืน พรป.พรรคการเมือง มาตรา 92 นำไปสู่การยุบพรรคหรือไม่
+ร้องส.ส.เรียกรับเงิน
ส่วนอีกประเด็น เมื่อวันที่ 15 ต.ค.64 นายสนธิญา ได้ยื่น กกต.ให้ตรวจสอบ สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 1 ต.ค.64 ป.ป.ช.มีมติชี้มูลความผิด นายอนุรักษ์ ตั้งปณิธานนท์ ส.ส.มุกดาหาร พรรคเพื่อไทย เรียกรับเงิน 5 ล้านบาท จาก นายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ประกอบ พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ฐานเรียกรับยอมรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดเพื่อตัวเองโดยไม่ชอบ และยังเป็นการกระทำอันเป็นการฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง ตามมาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ
และอาจเป็นการกระทำผิดต่อพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 20 , 21 ,22 , 46 และมาตรา 92 (1)(2)(3) โดยขอให้กกต.พิจารณาเรื่องดังกล่าวส่งเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคต่อเพื่อไทย
“ทักษิณ”จุ้นเลือกตั้งอบจ.
ก่อนหน้านั้น เมื่อวันที่ 16 ธ.ค.63 นายศรีสุวรรณ จรรยา ได้ยื่นคำร้องต่อกกต.ให้ตรวจสอบกรณี ทักษิณ ทวิตเตอร์ข้อความว่า ตนเองเป็นผู้ปูรากฐานให้กับพรรคไทยรักไทยจนมาถึงพรรคเพื่อไทย และแสดงความเห็นตำหนิบุคคลที่ลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย
รวมถึงโพสต์เฟซบุ๊ก เขียนจดหมาย ขอให้คนเชียงใหม่สนับสนุน พิชัย เลิศพงศ์อดิศร สังกัดพรรคเพื่อไทย เป็นนายก อบจ.เชียงใหม่ อาจขัด ม. 28 และ ม. 29 พรป.พรรคการเมือง เป็นเหตุให้กกต.เสนอศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคเพื่อไทย ตามมาตรา 92(3) และมาตรา 108 ของกฎหมายเดียวกันหรือไม่
พรรคของ ทักษิณ ชินวัตร ทั้งพรรค พลังประชาชน ไทยรักไทย ไทยรักษาชาติ ล้วนแล้วแต่ “ถูกยุบ” ไปแล้วทั้งสิ้น มาครั้งนี้ ไม่รู้ว่า “เพื่อไทย” จะกลายเป็นพรรคที่ 4 ที่ถูกยุบอีกหรือไม่?