พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ(พปชร.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 11 ต.ค.2565 ที่ทำเนียบรัฐบาล ถึงกระแสข่าวจะมีส.ส.ของพรรคทยอยลาออกไปสังกัดพรรคอื่นในการเลือกตั้งครั้งหน้าว่า “ไม่มี ๆ ไม่มีใครออก”
ผู้สื่อข่าวถามว่ามีข่าวส.ส.กทม.ของพรรคจะลาออก พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ไม่มีใครออกมีแต่ข่าว ผู้สื่อข่าวถามย้ำว่าได้โทรหาส.ส.กทม.ที่มีข่าวจะลาออกหรือไม่ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ตอบย้ำว่า ไม่มี มีแต่ข่าวของพวกคุณ
เมื่อถามอีกว่าแสดงว่าตอนนี้พรรคพลังประชารัฐยังเหนียวแน่นใช่หรือไม่พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า “โอ๊ย! เหนียวแน่นอยู่แล้ว” เมื่อถามว่า ได้มีการพูดคุยกับ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ที่มีข่าวว่า จะย้ายไปอยู่พรรคเพื่อไทยหรือไม่ พล.อ.ประวิตร ไม่ได้ตอบคำถามดังกล่าว และรีบขึ้นรถไปทันที
“สามมิตร”ปัดย้ายพรรค
ขณะที่ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม ในฐานะประธานยุทธศาสตร์พรรคพลังประชารัฐ กล่าวถึงกระแสข่าว “กลุ่มสามมิตร” จะย้ายไปสังกัดพรรคเพื่อไทย ว่า “ไม่เป็นความจริง”
ส่วนจะต้องมีการพูดคุยในพรรคถึงกระแสการย้ายออกหรือไม่ นายสมศักดิ์ ตอบว่า ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนั้น ตนกำลังมองดูอยู่ แต่ยังไม่ได้คิดและพูดคุยกับใคร คงต้องรอข้อมูลจากหลายหลายฝ่าย อาจมีการคิดอะไรกันบ้างคงทักท้วงและพูดคุยกันได้
เมื่อถามย้ำถึงความชัดเจนของกลุ่มสามมิตร ยังอยู่กับพรรคพลังประชารัฐใช่หรือไม่ นายสมศักดิ์ ตอบว่า “สามมิตรไม่คิดไปไหนครับ ยังยืนยันอยู่พลังประชารัฐ”
เช่นเดียวกับ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ แกนนำกลุ่มสามมิตร ก็ออกมาปฏิเสธ ยืนยันว่าจะอยู่กับนายกฯ ไม่ไปไหน เพราะได้ช่วยงานของกระทรวงอุตสาหกรรม มากมาย
ผู้สื่อข่าวถามว่าที่จะไม่ไปจากพรรคหมายถึงกลุ่มสามมิตรทั้งหมดใช่หรือไม่ นายสุริยะกล่าวว่า “ใช่” เมื่อถามว่าได้คุยกันในกลุ่มสามมิตรแล้วใช่หรือไม่ นายสุริยะ กล่าวว่า “ใช่ คุยกันแล้ว”
เมื่อถามย้ำว่ายืนยันว่าที่จะไม่ไปไหนเฉพาะแค่ช่วงเวลานี้ หรืออนาคตข้างหน้าจะตัดสินใจใหม่ นายสุริยะ ตอบว่า “ไม่ไป ยืนยันการเลือกตั้งครั้งหน้าก็ยังอยู่กับพรรคพปชร. ยังอยู่กับ พล.อ.ประยุทธ์ กลุ่มสามมิตร สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ให้เป็นนายกฯ”
จับตา“ประยุทธ์”วางมือ
แม้บรรดากลุ่มก๊วนต่าง ๆ ในพรรค พปชร. จะออกมาปฏิเสธว่าจะไม่ย้ายพรรคไปไหน ยังจะสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ ต่อไป แต่การที่ พล.อ.ประยุทธ์ เหลือเวลาในการดำรงตำแหน่งนายกฯ ได้อีก 2 ปี หลังการเลือกตั้งครั้งหน้า
การที่จะนำไปสู้ในการหาเสียง ชูเป็น “แคนดิเดตนายกฯ” ต่อไป ในทางการเมืองนั้น คงไม่มีใครที่อยากเลือกคนที่จะมาเป็น “นายกฯ” แต่กลับมีเวลาบริหารประเทศต่อได้อีกแค่ 2 ปี ไปไม่ถึงวาระ 4 ปี เลือกไปเป็นนายกฯ 2 ปี ครบเวลาแล้ว ก็อาจนำไปสู่การเฟ้นหานายกฯ คนใหม่ หรือยุบสภาเลือกตั้งใหม่ ก็จะกลายเป็น “ขาดตอน ครึ่งๆ กลางๆ” แล้วจะเลือกไปทำไม?
ดังนั้น จึงเชื่อว่า การที่ พล.อ.ประยุทธ์ ดำรงตำแหน่งนายกฯ มาแล้ว 2 สมัย 8 ปี เหลือเวลาเป็นได้อีกเพียงแค่ 2 ปี ก็มีโอกาสสูงที่จะ “ถอดใจ” ประกาศออกมาว่า “ผมพอแล้ว” วันใดวันหนึ่ง ก็เป็นไปได้
ส.ส.นกรู้เล็งย้ายพรรค
จึงไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใด ที่มีข่าวออกมาว่า บรรดาส.ส.ของพรรคพลังประชารัฐ เตรียมย้ายสังกัดไปอยู่พรรคโน้นพรรคนี้ ในการเลือกตั้งครั้งหน้า
สำหรับช่วงเวลาที่จะย้ายพรรคนั้น ตามปฏิทิน ล็อตแรก ตั้งแต่วันที่ 24 ก.ย.2565 เป็นต้นไป หากสภาผู้แทนราษฎรครบวาระในวันที่ 23 มี.ค.2566 ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 105 ระบุไว้ว่า ในกรณีที่อายุของสภาผู้แทนราษฎร เหลือไม่ถึง 180 วัน ไม่ต้องมีการเลือกตั้งซ่อมซ่อม เปิดโอกาสให้ ส.ส.ย้ายไปอยู่สังกัดพรรคใหม่ได้
และก็ได้เห็นความเคลื่อนไหวในการเตรียมย้ายพรรค ปรากฏขึ้น เมื่อวันที่ 4 ต.ค.2565 ที่ จ.บุรีรัมย์ ในงานวันเกิดครบรอบ 64 ปี ของ นายเนวิน ชิดชอบ ครูใหญ่พรรคภูมิใจไทย ที่มีส.ส.พรรคพปชร. จำนวน 8 คน ไปร่วมงาน ประกอบด้วย 1.นายมณเฑียร สงฆ์ประชา ส.ส.ชัยนาท 2.นายสัมฤทธิ์ แทนทรัพย์ ส.ส.ชัยภูมิ 3.นายปฐมพงศ์ สูญจันทร์ ส.ส.นครปฐม 4.นายอนุชา น้อยวงศ์ ส.ส.พิษณุโลก 5.นายกฤษณ์ แก้วอยู่ ส.ส.เพชรบุรี 6.นายสุชาติ อุสาหะ ส.ส.เพชรบุรี 7.นายประทวน สุทธิอํานวยเดช ส.ส.ลพบุรี 8.นายสมเกียรติ วอนเพียร ส.ส.กาญจนบุรี
ส่วนการย้ายพรรค ล็อตที่ 2 คือ ช่วงวันที่ 24 ธ.ค.2565 เป็นต้นไป เนื่องจากเป็นวันนับถอยหลัง 90 วัน ของอายุสภาผู้แทนราษฎร ที่กฎหมายกำหนดให้คนที่จะลงสมัคร ส.ส. ต้องสังกัดพรรคการเมืองไม่น้อยกว่า 90 วัน นับถึงวันเลือกตั้ง ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 97 (3) เว้นแต่ในกรณีที่มีการเลือกตั้งทั่วไปเพราะเหตุยุบสภา ระยะเวลา 90 วันดังกล่าวให้ลดลงเหลือ 30 วัน
สำหรับพรรค พปชร. ขณะนี้ก็มีข่าวว่า ส.ส.กทม. เป็นกลุ่มที่เตรียมย้ายพรรคมากที่สุด เพราะกระแสพรรคตกต่ำ และมีโอกาสจะสอบตกในการเลือกตั้ง โดยจะลาออกในช่วงต้น- กลางเดือน ธ.ค.นี้ พบว่า มี ส.ส.ส่วนหนึ่งจะย้ายไปกับ นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ อดีตแกนนำ ส.ส.กทม. ได้แก่ นายจักรพันธ์ พรนิมิตร ประธาน ส.ส.กทม., นายชาญวิทย์ วิภูศิริ ส.ส.กทม. , นายกษิดิ์เดช ชุติมันต์ ส.ส.กทม.
รวมถึงบรรดาอดีตผู้สมัคร ส.ส.กทม. ซึ่งมีข่าวว่าจะย้ายไปสังกัด “พรรคภูมิใจไทย” ในโควตากลุ่มของ นายพุทธิพงษ์ ขณะที่ น.ส.กานต์กนิษฐ์ แห้วสันตติ ส.ส.กทม.จะย้ายไปอยู่พรรคเพื่อไทย ซึ่งมีการปิดการเจรจา “ดีลลับ” เรียบร้อยแล้ว
นอกจากนั้น ยังมีข่าวว่า ส.ส.กลุ่มปากน้ำ 6 คน ที่แสดงความชัดเจนในการลงมติไม่ไว้วางใจ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย รวมถึงมีปัญหากับ นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน ผอ.พรรค อย่างรุนแรงทั้งการเมืองระดับชาติ และการเมืองท้องถิ่น ก็มีโอกาสย้ายพรรคสูง ประกอบด้วย 1.นายกรุงศรีวิไล สุทินเผือก 2.นายฐาปกรณ์ กุลเจริญ 3.ส.ภริม พูลเจริญ 4.นายยงยุทธ สุวรรณบุตร 5.นายอัครวัฒน์ อัศวเหม และ 6.นายต่อศักดิ์ อัศวเหม ส.ส.บัญชีรายชื่อ
นอกจากนี้ นายสุชาติ ชมกลิ่น ยังมีปัญหากับ นายสนธยา คุณปลื้ม ด้วย และ ส.ส.สังกัดกลุ่ม "คุณปลื้ม" ก็จะไม่ไปต่อกับพรรคพลังประชารัฐ โดยจะกลับไปฟื้น “พรรคพลังชล” เช่นเดียวกับ "กลุ่มพ่อมดดำ" ของ นายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 ก็จะย้ายกลับไปพรรคเพื่อไทย
ส่วนกลุ่ม "สามมิตร" ของ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ที่มี ส.ส.ในกลุ่มไม่ต่ำกว่า 20 คน ขณะนี้แม้จะยังสงบนิ่ง แต่อนาคต หาก พล.อ.ประยุทธ์ วางมือการเมือง ก็ไม่รู้ว่าจะยังอยู่กับ พรรค พปชร.ต่อไปหรือไม่?
หากกลุ่มก๊วนต่างๆ ซิ่งหนีกันหมด โอกาสที่ “พรรคพลังประชารัฐ” จะ “ปิดฉาก” ลงก็เป็นไปได้สูง และถือเป็นจุดจบของ “พรรคเฉพาะกิจ” อีกพรรคหนึ่ง
++++++++
เส้นทางพรรคพลังประชารัฐ
พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ก่อตั้งขึ้นเมื่อ ปี 2561 ประกอบด้วย อดีตรัฐมนตรี ใน “รัฐบาลประยุทธ์ 1” นักการเมืองหลากหลายกลุ่ม ทั้งอดีต ส.ส.อดีตนักการเมืองท้องถิ่น อดีตแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ อดีต ส.ส.พรรคไทยรักไทย, พรรคเพื่อไทย และ พรรคประชาธิปัตย์ รวมไปถึงอดีตแกนนำ กปปส.
จุดเริ่มต้นของ “พลังประชารัฐ” นำโดย สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ พร้อมด้วย 4 กุมาร คือ อุตตม สาวนายน, สุวิทย์ เมษินทรีย์, สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ และ กอบศักดิ์ ภูตระกูล แต่ผู้อยู่เบื้องหลังตัวจริงคือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ
พรรคพลังประชารัฐยื่นจดจ้องตั้งพรรคต่อ คณะกรรมการการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 2 มี.ค. 2561 และจัดประชุมสามัญใหญ่ครั้งแรก เมื่อวันที่ 29 ก.ย.2561 เลือก นายอุตตม สาวนายน อดีตรมว.อุตสาหกรรม ในรัฐบาลประยุทธ์ เป็นหัวหน้าพรรคคนแรก และ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ อดีตรมว.พาณิชย์ เป็นเลขาธิการพรรคคนแรก และ วันที่ 4 ต.ค.2561 ได้ยื่นกกต.เพื่อจดทะเบียนจัดตั้งพรรคอย่างเป็นทางการ
ในการเลือกตั้งทั่วไป เมื่อ 24 มี.ค.2562 พรรคพลังประชารัฐ เสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นแคนดิเดตนายกฯ เพียงคนเดียว
ผลการเลือกตั้งปรากฏว่า พรรคพลังประชารัฐ ได้ส.ส.รวม 116 ที่นั่ง เข้ามาเป็นอันดับ 2 แต่สามารถรวบรวมพรรค และ เสียงส.ส.จัดตั้งรัฐบาล + กับเสียงของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) สามารถโหวตให้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ อีกสมัยได้สำเร็จ
1 มิ.ย.2563 กรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ 18 คน ลาออก “สมคิด” กับ 4 กุมาร หลุดออกจากพรรคไป นำไปสู่การเลือกตั้งผู้บริหารชุดใหม่ ในวันที่ 27 มิ.ย.2563 โดยมีมติ เลือก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นหัวหน้าพรรค มี นายอนุชา นาคาศัย เป็นเลขาธิการพรรค
ต่อมา 18 มิ.ย.2564 พรรคพลังประชารัฐ ได้มีมติเลือก ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เป็นเลขาธิการพรรค เพื่อหวังผลในการสู้ศึกเลือกตั้งครั้งหน้า
ก่อนที่ 19 ม.ค.2565 พรรคพลังประชารัฐ ได้มีมติขับ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา พร้อมส.ส.ในกลุ่มอีก 20 คน ออกจากพรรค ฐานสร้างความขัดแย้งและแตกแยก
ถัดมา วันที่ 3 เม.ย.2565 พรรคพลังประชารัฐ ได้มีมติแต่งตั้ง นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง เป็นเลขาธิการพรรค
อนาคต “พรรคพลังประชารัฐ” ต่อแต่นี้ไป จะเป็นเช่นไร โปรดติดตาม...