นโยบายหาเสียง ต้องไม่สร้างภาระการคลัง

25 มี.ค. 2566 | 01:30 น.
อัปเดตล่าสุด :23 ก.ค. 2566 | 13:38 น.

นโยบายหาเสียง ต้องไม่สร้างภาระการคลัง บทบรรณาธิการ

การเลือกตั้งครั้งใหม่กำลังจะเกิดขึ้นในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 เป็นโอกาสสำคัญที่ประชาชนจะร่วมกันลงคะแนนเสียง เลือกผู้แทนเข้าไปบริหารและขับเคลื่อนนโยบายเพื่อการพัฒนาประเทศ
 
หลายนโยบายของพรรคการเมืองที่ใช้ในการหาเสียง ต่างงัดกลยุทธ์นำนโยบายประชานิยมออกมาฟาดฟันกัน อาทิ การเพิ่มสิทธิบัตรสวัสดิการ การลดค่าครองชีพ ปรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เป็นต้น ในเชิงการตลาดเรียกว่า การเพิ่มแรงจูงใจหรือจุดขาย ที่จะให้ประชาชนในกลุ่มต่างๆ หันมาสนใจเลือกพรรคของตัวเอง โดยไม่สนใจว่านโยบายประชานิยม ที่หยิบยกมานั้น จะส่งผลกระทบต่อฐานะทางการเงินและการคลังของประเทศมากน้อยแค่ไหน

ตัวอย่างแค่นโยบบายการเพิ่มเงินสวัสดิการให้กับภาคประชาชน ที่แต่ละพรรคการเมือง นำมาใช้ในการหาเสียง ก็กระทบกับฐานะการเงินและการคลังของประเทศแล้ว เพราะเท่าที่จัดสรรงบในส่วนดังกล่าวนี้ ปัจจุบันก็ถือว่าสูงอยู่แล้ว
 
ข้อมูลของกระทรวงการคลัง รายงานว่า กรอบงบประมาณปี 2567 ที่ตั้งไว้ราว 3.35 ล้านล้านบาท แยกเป็นการจัดเก็บรายได้ 2.75 ล้านล้านบาท และต้องกู้ชดเชยการขาดดุลราว 5.93 แสนล้านบาท ในส่วนดังกล่าวนี้จะเป็นงบสำหรับสวัสดิการวงเงินถึง 1.18 ล้านล้านบาท โดยจัดสรรให้กับสวัสดิการสำหรับการออม เพื่อรองรับการเข้าสู่สังคมสูงวัยให้กับประชาชน 30 ล้านคน ประกอบด้วยการจัดสรรเงินสมทบของทุนประกันสังคม กองทุนการออมแห่งชาติ กองทุนบำเน็จบำนาญข้าราชการ และค่าใช้จ่ายบำเหน็จบำนาญราชการ วงเงินรวมกว่า 5.1 แสนล้านบาทต่อปี

รองลงมาเป็นการจัดสวัสดิการรักษาฟรีทั่วไทย หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ให้คนไทยทุกคน รวมค่ารักษาพยาบาลบุคลากรภาครัฐ วงเงิน 3.06 แสนล้านบาทต่อปี การศึกษาสำหรับเด็ก 186,923 ล้านบาท และสนับสนุนค่าครองชีพ 182,263 ล้านบาท

หากต้องมาเพิ่มเงินสวัสดิการ จากนโยบายประชานิยมในการเลือกครั้งนี้เข้าไป ก็จะยิ่งส่งผลให้รัฐบาลใหม่ต้องมากู้ชดเชยการขาดดุลตามกรอบงบประมาณของแต่ละปีมากขึ้นไปอีก ในขณะที่การจัดเก็บรายได้ตามกรอบงบประมาณประจำปีปรับเพิ่มขึ้นได้เพียงเล็กน้อย จากปัจจุบันมีสัดส่วนประมาณ 14-15% ของจีดีพี ถือว่าตํ่ากว่าศักยภาพเศรษฐกิจมาก และยังต้องเผชิญกับ แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่ปรับเพิ่มขึ้น
 
นอกเหนือจากนี้ ยังมีอีกหลายนโยบายประชานิยม ที่ล้วนต้องใช้เงินงบประมาณเข้ามาเกี่ยวข้องเป็นจำนวนมาก ซึ่งจะเป็นภาระด้านงบประมาณของภาครัฐที่จะเพิ่มขึ้น ซึ่งยังไม่รวมการใช้งบในการออกมาตรการเพิ่มเติมเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ท่ามกลางภาระเงินเฟ้อ และภาระหนี้สิน โดยเฉพาะหนี้ครัวเรือนของคนไทยที่พุ่งสูงกว่า 90% ต่อจีดีพี กดกำลังซื้อของประชาชน
 
ดังนั้น รัฐบาลใหม่ต้องบริหารจัดการด้านงบประมาณ และแหล่งเงินที่จะนำมาใช้ในการบริหารนโยบายให้ดี หรือต้องปรับแก้นโยบายเสียใหม่ ไม่เช่นนั้นจะเป็นภาระด้านงบประมาณ และหนี้สินของประเทศก็จะยิ่งจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งจะเป็นปัญหาต่อการพัฒนาประเทศ และเรื่องปากท้องของพี่น้องประชาชนจะตามมาในภายหลังได้