วันที่ 22 ก.พ. 65 เวลา 15.00 น. มติผลประชุมประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)ล่าสุด เห็นชอบให้กระทรวงสาธารณสุข (สธ. ) ที่มีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข เลื่อนการออกประกาศยกเลิกการใช้ระบบ UCEP รักษาผู้ป่วยโควิดกรณีวิกฤติ-ฉุกเฉินออกไปก่อน
โดยครม.ให้เหตุผลว่า เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นด้วย ดังนั้น จึงขอให้ยึดหลักเจ็บป่วยวิกฤตฉุกเฉินรักษาฟรีทุกที่ หรือยูเซ็ป ต่อไปก่อน
วันที่ 22 ก.พ. 65 ที่ศูนย์แถลงข่าวตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีความเป็นห่วงประชาชนเกี่ยวกับการใช้สิทธิ UCEP เพื่อรักษาอาการป่วยจากโควิด-19
จึงมอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุขกลับไปทบทวน พร้อมทั้งชะลอการประกาศยกเลิกออกไปก่อน เพื่อดำเนินการซักซ้อมในการให้บริการรองรับผู้ป่วยสีเขียว การเพิ่มคู่สายรับแจ้งขอความช่วยเหลือ และชี้แจงทำความเข้าใจให้ดีก่อนจึงค่อยนำเรื่องมาเสนอ ครม.
ด้าน นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข เปิดเผยภายหลังการประชุมครม.ว่า กรณีการใช้สิทธิ UCEP ยังจะให้ดำเนินการต่อไปเหมือนช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากขณะนี้มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ดังนั้นเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความสับสน ตนจึงเสนอให้มีการเลื่อนการใช้สิทธิ UCEP ออกไปก่อนอย่างไม่มีกำหนด
“รัฐบาลโดยกระทรวงสาธารณสุขให้ความมั่นใจกับพี่น้องประชาชนได้ว่าจะสามารถดูแลรักษาผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19 ได้ ขอให้ประชาชนมั่นใจในสิ่งที่กระทรวงสาธารณสุขได้เตรียมการต่างๆ เอาไว้ และปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ความเหมาะสม แม้ว่าแต่เดิมคิดปรับเปลี่ยนมาตรการเป็น UCEP Plus แต่ในเมื่อมีการแพร่ระบาดขณะนี้ ทางกระทรวงสาธารณสุข ก็ปรับเปลี่ยนมาตรการไปตามสถานการณ์ของแต่ละช่วง จึงมีการขยายเวลาการใช้สิทธิ UCEP ออกไปอีก” นายอนุทิน กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 22 ก.พ. 65 เวลา 08.30 น. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เพิ่งให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุมครม. ว่า เรื่องของสิทธิการรักษาตามนโยบายรัฐบาล เพื่อคุ้มครองผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติ หรือ UCEP ยืนยันว่าไม่ได้ยกเลิกการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 แต่รักษาตามสมมติฐานของโรค
เช่น ผู้ป่วยโควิดส่วนใหญ่ ที่ไม่แสดงอาการไม่มีอาการรุนแรง หรือผู้ป่วยสีเขียว จะใช้การรักษาแบบรักษาตัวที่บ้าน หรือที่ศูนย์พักคอยชุมนุม ส่วนผู้ป่วยที่มีอาการสีเหลืองขึ้นไปจนถึงสีแดง คือตั้งแต่ปานกลางถึงรุนแรง สามารถเข้ารับการรักษาพยาบาลภายใต้ระบบยูเซปได้ และสามารถรักษาที่โรงพยาบาลเอกชนได้โดยไม่มีกำหนดเวลา 72 ชั่วโมง ที่จำแนกประเภทของผู้ป่วย เพื่อให้เตียงมีจำนวนว่างมากที่สุด
รวมถึงอุปกรณ์การแพทย์ เวชภัณฑ์ ทรัพยากรบุคคลทางการแพทย์ ให้มีเพียงพอ หากผู้ป่วยสีเขียวที่ไม่มีอาการ ถ้าทุกคนแห่ไปที่โรงพยาบาล ก็จะมีปัญหาเพราะไม่ได้มีเฉพาะแค่โควิด อย่างเดียว ยังมีโรคอื่น ดังนั้นเราต้องบริหารจัดการระบบสาธารณสุขให้ดี