ด่วน ประกาศ เฝ้าระวังน้ำเอ่อล้นตลิ่ง แม่น้ำสายบุรี-แม่น้ำโก-ลก

25 ก.พ. 2565 | 08:33 น.
อัปเดตล่าสุด :25 ก.พ. 2565 | 15:43 น.

ประกาศ กองอํานวยการน้ำแห่งชาติฉบับที่ 3/2565 เฝ้าระวังน้ำเอ่อล้นตลิ่งท่วมขังพื้นที่ลุ่มต่ำบริเวณ แม่น้ำสายบุรี และแม่น้ำโก-ลก

วันที่ 25 ก.พ. 65 มีประกาศจากกองอํานวยการน้ำแห่งชาติฉบับที่ 3/2565 เฝ้าระวังน้ำเอ่อล้นตลิ่งท่วมขังพื้นที่ลุ่มต่ำบริเวณ แม่น้ำสายบุรี และแม่น้ำโก-ลก ลงนามโดยนายชยันต์ เมืองสง รองเลขาธิการสํานักงานทรัพยากรน้ําแห่งชาติ เลขานุการกองอํานวยการน้ําแห่งชาติ โดยระบุว่า

 

ด้วยกองอํานวยการน้ำแห่งชาติได้ติดตามสถานการณ์ฝนตกอย่างต่อเนื่องในพื้นที่ภาคใต้ ประกอบกับกรมอุตุนิยมวิทยาได้คาดการณ์ว่าหย่อมความกดอากาศต่ำกําลังแรง มีแนวโน้มจะเคลื่อนเข้าปกคลุม ประเทศมาเลเซียและภาคใต้ตอนล่างของประเทศไทยในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2565

 

ทําให้ภาคใต้ตอนล่าง มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ซึ่งกองอํานวยการน้ำแห่งชาติได้ประกาศแจ้งเตือน ฉบับที่ 3/2565 เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2565 แล้วนั้น

กองอํานวยการน้ำแห่งชาติได้ประเมินและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำจากฝนคาดการณ์ (ONE MAP) ของกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) พบว่าพื้นที่จังหวัดยะลา ปัตตานี และนราธิวาส มีปริมาณฝนตกหนัก มากกว่า 150 มิลลิเมตร โดยเฉพาะพื้นที่บริเวณแม่น้ำสายบุรีและแม่น้ําโก-ลก จังหวัดนราธิวาส ทําให้มีปริมาณน้ำสะสมไหลลงแม่น้ํามากขึ้น

 

จึงขอเน้นย้ำให้เฝ้าระวังระดับน้ำที่จะเพิ่มขึ้น เสี่ยงน้ำล้นสูงกว่าตลิ่งไหลเข้าท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำในอําเภอบันนังสตา อําเภอรามัน จังหวัดยะลา อําเภอสายบุรี อําเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี และอําเภอแว้ง อําเภอสุคิริน อําเภอศรีสาคร อําเภอสุไหงปาดี อําเภอตากใบ อําเภอรือเสาะ อําเภอจะแนะ อําเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส ในช่วงวันที่ 25-28 กุมภาพันธ์ 2565

 

ในการนี้ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโปรดดําเนินการ ดังนี้

  1. ปรับแผนบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์น้ำ พร้อมพิจารณา ความเหมาะสมในการระบายน้ำในลําน้ำ/แม่น้ำให้สอดคล้องกับการขึ้น – ลงของระดับน้ำทะเล
  2. ตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงแนวคันบริเวณริมแม่น้ำ กําจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ และปิดท่อ ระบายน้ำทิ้งริมแม่น้ำ เพื่อป้องกันน้ำไหลย้อนเข้าท่วมพื้นที่ชุมชน รวมถึงการเตรียมความพร้อมรับน้ำหลากป้องกัน น้ำท่วมให้สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  3. เตรียมแผนรับสถานการณ์น้ำหลาก เตรียมความพร้อมบุคลากร เครื่องจักรเครื่องมือ รวมถึงความพร้อม ของระบบสื่อสารสํารอง เพื่อบูรณาการความพร้อมในการให้ความช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนได้ทันที
  4. ประชาสัมพันธ์และแจ้งเตือนล่วงหน้า ให้ประชาชนที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ เตรียมพร้อมใน การอพยพได้ทันท่วงทีหากเกิดสถานการณ์

 

ประกาศ ณ วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2565
 

ประกาศ กองอํานวยการน้ำแห่งชาติฉบับที่ 3/2565 เฝ้าระวังน้ำเอ่อล้นตลิ่งท่วมขังพื้นที่ลุ่มต่ำบริเวณ แม่น้ำสายบุรี และแม่น้ำโก-ลก