ทางรอดของสายการบินแห่งชาติ การบินไทยและเครือข่ายในยุคน่านฟ้าแข่งขันกันดุเดือด คงอยู่โดดเดียว ต่อไปอีกไม่ได้ ต้องปรับตัวชนิด 360 องศา หันมาผนึกกำลัง สร้างพันธมิตรธุรกิจ เพื่อลดต้นทุนและสร้างเน็ตเวิร์ค ต่อสู้กับสายการบินต่างชาติที่มีทั้งเครือข่ายและเงินทุนที่หนากว่า เข้ามาดั้มราคาอย่างหนัก ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา
ยุทธศาสตร์ “ไทยกรุ๊ป” จึงไม่ได้หมายความแค่ การบินไทยกับสายการบินนกแอร์ที่การบินไทยถือหุ้นอยู่ 39 % สายการบินไทยสมายล์ ซึ่งการบินไทยถือหุ้นร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ยังหมายถึงความร่วมมือที่เกิดขึ้นแล้ว ระหว่างการบินไทยกับสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส ที่ได้ลงนามความร่วมมือทำการบินรหัสร่วมหรือโค้ดแชร์ เที่ยวบินระหว่างกัน เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้โดยสารและยังจะมีความร่วมมือกับพันธมิตรอื่นๆ ตามมา
คนร. ติงบินไทยยิลด์ต่ำ
อย่างไรก็ดีผลของการแข่งขันที่รุนแรง ประกอบกับการบริหารงานที่ผิดพลาด สะท้อนได้จากผล ประกอบการสายการบินนกแอร์ขาดทุนหนักสิ้นปี 2559 ติดลบถึง 2,626.8 ล้านบาท ต้องเพิ่มทุนและปรับโครงสร้างธุรกิจกันยกใหญ่
ส่วนสายการบินลูกไทยสมายล์ ตัวเลขไม่เป็นทางการก็ไม่น้อยหน้าขาดทุนในราว 3,500 ล้านบาท ซึ่งต้องผ่าตัดกันขนาดใหญ่เช่นกัน ขณะที่ผลประกอบการการบินไทยไม่รวมบริษัทย่อย ปีที่ผ่านมามีกำไร 15 ล้านบาท
แม้ว่าการจัดทำแผนฟื้นฟูการบินไทยได้เดินหน้ามาถึงระยะที่ 3 แต่ล่าสุดที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(คนร.) เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2560 ยังติงให้การบินไทยเพิ่มรายได้จากการขาย หลังเห็นว่ายิลด์ยังต่ำอยู่ และกำชับให้เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการรายได้เพิ่มเติม ทำการตลาดเชิงรุก
ขณะที่การลดค่าใช้จ่ายฝ่ายบริหารการบินไทย เห็นว่าคงทำไม่ได้พราะลดจนไม่เหลืออะไรให้ลดแล้ว
ส่ง 5 บิ๊กประกบนกแอร์
ก่อนจะสายเกินแก้ การบินไทยจึงต้องโดดเข้าไปดูแลสายการบินในเครือข่ายอย่างใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น หลังนกแอร์ โชว์ตัวเลขขาดทุนแดงเทือก แถมมีค่าใช้จ่ายถึง 1.5 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 14 % ซึ่งหลัก ๆมาจากสัญญาเช่าระยะยาวและการซ่อมบำรุงเครื่องบิน การบินไทยจึงตัดสินใจส่ง 5 ผู้บริหารเข้านั่งประกบในบอร์ดนกแอร์ ประกอบด้วย เรืออากาศเอก มนตรี จำเรียง, นายณรงค์ชัย ว่องธนะวิโมกข์, นาย ธีรพล โชติชนาภิบาล, นางอุษณีย์ แสงสิงแก้ว และนายรัฐพล ภักดีภูมิ ตัวแทนจากบอร์ดการบินไทย เข้าร่วม นอกจากนี้ยังมีการตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์การบินระยะยาว มีนายวิสิฐ ตันติสุนทร นั่งหัวโต๊ะ เริ่มทำงานตั้งแต่เดือนตุลาคมที่ผ่านมา
“พาที สารสิน” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการบินนกแอร์ ยอมรับในที่ประชุมผู้ถือหุ้น ( 19 เม.ย.) ว่าการบริหารงานพลาดมาจากหลายสาเหตุ อาทิ ปราบทัวร์ศูนย์เหรียญ ช่วง 2 ปีมีเครื่องบินใหม่เพิ่มขึ้น 200 % ทำให้ซัพพลายมากกว่าดีมานด์ คู่แข่งแย่งตัวนักบิน การจ้างนักบินต่างชาติต้นทุนสูง การซ่อมบำรุงเครื่องบิน เครื่องยนต์รวดเดียว 12 เครื่องยนต์ การแข่งขันราคาที่ดุเดือดช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา แต่นกแอร์ไม่ได้ลงแข่งเพราะต้องประหยัดค่าใช้จ่ายทางการตลาด และประการสำคัญคือเงินทุนไม่มากพอที่จะไปแข่งขันเปิดเส้นทางบินในต่างประเทศ ที่ต้องใช้สถานีละ 200 ล้านบาท
สาเหตุหลัก ๆ ดังกล่าวข้างต้น เป็นผลให้สายการบินนกแอร์จึงต้องระดมทุน 2,280 ล้านบาท เพื่อขยายเส้นทางบิน เพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน “วิสิฐ ตันติสุนทร” กล่าวเพิ่มเติมว่า นกแอร์จะต้องเพิ่มชั่วโมงบินต่อวันให้มากขึ้นเป็น 10-12 ชั่วโมงเพื่อทำกำไร ซึ่งมองเป้าหมายตลาดจีนเป็นหลัก ทั้งย้ำว่าสายการบินนกแอร์เป็นโลว์คอสต์ระดับภูมิภาค ที่ต้องมีกลุ่มพันธมิตรเข้ามาเสริมในอนาคตเพื่อขยายธุรกิจ และเพิ่มประสิทธิภาพจากการขยายเน็ตเวิร์ค
เร่งผ่าตัดไทยสมายล์
แต่ไม่ง่ายหนักที่การบินไทยจะเข้าไปลูกล้วง การบริหารงานในนกแอร์ เนื่องจากนกแอร์เป็นบริษัทที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย การเข้าไปบริหารจัดการจึงต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ สิ่งที่ทำได้ง่ายก็คือการใช้ทรัพยากรร่วมกัน เช่น ด้านการตลาด การขาย การบริหารจัดการด้านปฏิบัติการ การบริการภาคพื้น และใช้เป็นคอนเน็ตติ้ง ไฟลต์ รองรับผู้โดยสารของการบินไทยที่บินระยะไกลเข้ามาเชื่อมโยงสู่ภูมิภาค แต่ก็ยังติดปัญหาตรงที่ฐานการบินนกแอร์ อยู่ที่สนามบินดอนเมือง ต้องรอจนกว่ารถไฟความเร็วสูงจากสุวรรณภูมิเชื่อมดอนเมืองแล้วเสร็จ ทุกอย่างน่าจะดีขึ้น ซึ่งก็ไม่รู้เมื่อไร
ต่างจากสายการบินไทยสมายล์ ซึ่งเป็นบริษัทลูกของการบินไทย 100% จึงสามารถเข้าไปผ่าตัดโครงการการบริหารได้ในทันทีทันใด ล่าสุด ได้มีการโยกย้าย กัปตันวรเนติ หล้าพระบาง พ้นจากตำแหน่งรักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เข้ากรุมาช่วยงาน ที่สำนักงานใหญ่ พร้อมตั้งนายวิวัฒน์ ปิยะวิโรจน์ ผู้ช่วยรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่สายการพาณิชย์ เข้าไปนั่งแอคติ้ง เมื่อกลางเดือนเมษายน
แหล่งข่าวจาก บมจ. การบินไทย ระบุว่าสาเหตุที่ไทยสมายด์ขาดทุนมาก เป็นเพราะเกิดจากคิดคำนวณรายได้ ต่อหัวผู้โดยสาร ที่การบินไทยจ่ายให้น้อยเกินไปจึงทำให้ขาดทุนมาก เพราะไทยสมายล์ ต้องเข้าไปแบกรับภาระบินในเส้นทางบินที่การบินไทยเคยบินแล้วขาดทุน ซึ่งเส้นทางบินเหล่านี้ในอดีตการบินไทยเคยขาดทุนถึงปีละ 4,500 ล้านบาท อีกทั้งการขายตั๋วจากสถานีต้นทุนในต่างประเทศ และ 50 % เป็นผู้โดยสารต่อเครื่อง ถ้าคิดต้นทุนจริงก็น่าจะมีกำไร ซึ่งต้องรอให้ระบบการขายตั๋วเชื่อมโยงกันทั้ง 21 เน็ตเวิร์คทั่วโลก แล้วเสร็จในเดือนมิถุนายนนี้น่าจะเห็นภาพชัด
อย่างไรก็ดีภาพของ 3 พันธมิตรสายการบินในกลุ่ม “ไทยกรุ๊ป” เริ่มชัดขึ้นตามลำดับ และเป็นตัวแปรสำคัญถึงความอยู่รอดของการบินไทย
[caption id="attachment_142678" align="aligncenter" width="251"]
บินไทย-นกแอร์-ไทยสมายล์ ‘ไทยกรุ๊ป’ ผนึกกำลังสู้[/caption]
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,255 วันที่ 23 - 26 เมษายน พ.ศ. 2560