กรมสุขภาพจิต พบเด็กไทยป่วยโรคไฮเปอร์กว่า 4 แสนคน
กรมสุขภาพจิต พบเด็กไทยป่วยโรคไฮเปอร์กว่า 4 แสนคน และพบเด็กเล็กปกติเป็นโรค“ไฮเปอร์เทียม”มากขึ้น เหตุจากพ่อแม่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ ให้เล่นหรือดูเกมในแท็ปเล็ต มือถือ!
นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับโรคจิตเวชที่ส่งผลกระทบต่อการเรียนรู้ของเด็กวัยเรียนว่า ในกลุ่มของเด็กนักเรียนอายุ 6-15 ปี ที่มีปัญหาการเรียน ผลการเรียนไม่ดี หรือเรียนไม่ทันเพื่อน มักจะพบมีโรคทางจิตเวชแอบแฝงที่พบบ่อยที่สุดมี 4 โรคได้แก่1.โรคออทิสติก(Autistic) 2.โรคสมาธิสั้น (Attention Deficit Hyperactive Disorder) 3.โรคแอลดีหรือภาวะบกพร่องในการเรียนรู้ (Learning Disorder : LD) และ4.สติปัญญาบกพร่อง (Intellectual Disability) โรคทางจิตเวชดังกล่าวเกิดมาจากกรรมพันธุ์และสิ่งแวดล้อมรอบตัวเด็ก โดยเด็กที่เป็นออทิสติกและสติปัญญาบกพร่องจะตรวจพบพัฒนาการที่ผิดปกติได้เร็วตั้งแต่อายุยังน้อย ส่วนเด็กที่มีลักษณะของโรคแอลดีนั้น เด็กกลุ่มนี้ไม่มีปัญหาเรื่องไอคิว แต่มีความผิดปกติทางการอ่านเขียนคำนวณต่ำกว่าเด็กวัยเดียวกัน 2 ชั้นปี ควรได้รับการติดตามช่วยเหลือ
สำหรับโรคสมาธิสั้นนั้น เป็นโรคที่พบได้มากและมีผลกระทบกับคนรอบข้างได้บ่อยที่สุด ผลสำรวจของกรมสุขภาพจิตล่าสุดในปี 2559 พบร้อยละ 5.4 คาดว่ามีเด็กอายุ6-15 ปี ซึ่งทั่วประเทศมี 7 ล้านกว่าคน เป็นโรคนี้ประมาณ 420,000 คน หรือพบได้ 2-3 คนต่อห้องเรียนที่มีเด็ก 40-50 คน มักพบในเด็กชายมากกว่าหญิง เด็กจะมีอาการแสดงหลักๆ 3 ด้าน ได้แก่ ซนอยู่ไม่นิ่ง ขาดสมาธิ และหุนหันพลันแล่น ประชาชนมักนิยมเรียกว่าโรคไฮเปอร์ โดยเด็กจะวอกแวก ทำงานตกๆหล่นๆ ทำอุปกรณ์การเรียนหายประจำ ซุ่มซ่าม ใจร้อน วู่วาม อาการดังกล่าวเกิดมาจากสมองทำงานผิดปกติ ซึ่งผู้ปกครองมักจะเข้าใจผิดว่าเป็นเด็กดื้อหรือเป็นเด็กที่ไม่มีความรับผิดชอบ โดยจะพบความผิดปกติชัดเจนขึ้นเมื่ออยู่ชั้นประถมศีกษา ดังนั้นหากผู้ปกครองและครูไม่เข้าใจ จะยิ่งทำให้เด็กเกิดปัญหาอารมณ์และพฤติกรรมอาจส่งผลถึงอนาคต เช่น ความเสี่ยงติดสารเสพติด ก่ออาชญากรรม เป็นต้น หากเด็กได้รับการดูแลที่เหมาะสมก็จะสามารถเรียนร่วมกับเด็กปกติ มีอาชีพได้ อย่างไรก็ดีเด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้น เมื่อได้รับการบำบัดรักษาแล้ว ประมาณ 2 ใน 3 อาการจะหายหรือดีขึ้น
“ ในการแก้ไขและส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็กวัยเรียนอย่างเต็มศักยภาพ กรมสุขภาพจิตได้จัดระบบเฝ้าระวังไอคิวอีคิวและค้นหาเด็กชั้นประถมศึกษาที่ป่วยเป็นโรคทางจิตเวชแอบแฝง เชื่อมโยงระหว่างโรงเรียนโรงพยาบาลในพื้นที่และครอบครัว เพื่อให้เด็กได้รับการดูแลรักษาเร็วที่สุด ขณะนี้ดำเนินการครอบคลุมทุกอำเภอ โดยครูประจำชั้นสามารถตรวจคัดกรองเด็กที่มีผลการเรียนต่ำ ตามแบบคัดกรองอย่างง่ายที่กรมสุขภาพจิตพัฒนาขึ้น ผลการตรวจที่ผ่านมาพบมีเด็กที่มีอาการใกล้เคียงและเป็นกลุ่มเสี่ยงร้อยละ 30 หลังจากได้รับการดูแลช่วยเหลือจากครูแล้ว เด็กร้อยละ 20 เรียนรู้ดีขึ้น มีร้อยละ10 จำเป็นต้องพบจิตแพทย์ตรวจรักษา ซึ่งทำให้เด็กป่วยเข้าถึงบริการดีขึ้น ” อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าว
ทางด้านนายแพทย์สมัย ศิริทองถาวร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าวว่า เรื่องที่น่าห่วงมากขณะนี้พบว่า เด็กเล็กทั่วไปที่ปกติ เป็นโรคไฮเปอร์เทียมกันมากขึ้น กล่าวคือมีอาการคล้ายโรคไฮเปอร์แต่ยังไม่ถึงขั้นป่วย สาเหตุสำคัญเกิดมาจากพ่อแม่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ เลี้ยงดูลูกแบบตามใจ หรือปล่อยปละละเลย ให้เด็กเล็กอายุต่ำกว่า 3 ขวบเล่นหรือดูเกมในแท็ปเล็ตหรือสมาร์ทโฟน เพราะเห็นเหมือนว่าเด็กจะนิ่ง ไม่ซุกซน ไม่กวนใจพ่อแม่ วงการจิตแพทย์พบว่าความเร็วของภาพในเกมซึ่งเปลี่ยนเร็วทุก 3 วินาทีจะส่งผลโดยตรงต่อสมองทำงานไม่ลงตัว คุมสมาธิไม่ได้ ทำให้ทักษะการอ่านการเขียนการพูดของเด็กแย่ลง เด็กมีอารมณ์ร้อน รอคอยไม่เป็น มีปัญหาการอยู่ร่วมกับเด็กวัยเดียวกันหรือคนอื่น จึงขอให้พ่อแม่ผู้ปกครองระมัดระวัง อย่าให้เด็กเล็กเล่นเกมจากแทปเล็ต โทรศัพท์สมาร์ทโฟน ยิ่งหากให้หยุดเล่นสิ่งเหล่านี้ได้เร็วเท่าใดจะเป็นผลดีต่อเด็ก อาการจะค่อยๆหายไป โดยผู้ปกครองควรให้เด็กได้เล่นกับเด็กวัยเดียวกัน เพื่อให้เด็กมีทักษะและพัฒนาการทุกด้าน
สำหรับการดูแลนักเรียนที่เป็นโรคไฮเปอร์ ผู้ปกครองกับโรงเรียนต้องร่วมมือกัน โดยคุณครูควรจัดให้เด็กนั่งเรียนหน้าชั้นหรือใกล้ครู เพื่อที่จะคอยกำกับให้เด็กมีความตั้งใจ มีสมาธิ ไม่ควรให้นั่งเรียนหลังห้องหรือนั่งใกล้ประตู หน้าต่าง เนื่องจากเด็กจะมีโอกาสเสียสมาธิง่าย ควรชื่นชมทันทีเมื่อเด็กตั้งใจเรียนหรือตั้งใจทำงาน ส่วนผู้ปกครองควรจัดบริเวณสงบในบ้านขณะเด็กทำการบ้าน แบ่งงานให้เด็กทำทีละน้อย และควรบอกเด็กล่วงหน้าถึงเรื่องที่ต้องการให้เด็กปฏิบัติ หากเด็กทำผิดควรใช้ท่าทีเอาจริง แต่จัดการอย่างสงบ ลงโทษเด็กตามข้อตกลง เช่นลดเวลาดูทีวี ที่สำคัญผู้ปกครองต้องฝึกลูกให้มีวินัย อดทน รอคอยเป็น จัดระเบียบให้ทำกิจกรรมต่างๆ โดยพ่อแม่ทำเป็นตัวอย่าง ทั้งนี้อาการอยู่ไม่นิ่งของเด็กจะลดลงเมื่อโตขึ้น มีประมาณร้อยละ 40 ของผู้ป่วยจะมีอาการจนถึงวัยผู้ใหญ่