กนอ.รับลูก“ประยุทธ์” เร่งหารือผู้ประกอบการนิคมฯ พร้อมออกหลักเกณฑ์และเงื่อนไขขอจัดตั้งเป็นเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษในพื้นที่อีอีซีเบื้องต้นเล็งพื้นที่6แห่งของเอกชน เนื้อที่ 1.54 หมื่นไร่
ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ได้มอบหมายให้สำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกหรือสกรศ.ไปประสานกับนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ ที่มีที่ดินเหลืออยู่ประมาณ 1.2 หมื่นไร่รวมทั้งที่อยู่ระหว่างขอจัดตั้งเป็นนิคมอุตสาหกรรมอีก 2 หมื่นไร่ เพื่อนำมาใช้ประโยชน์และกำหนดให้เป็นเขตส่งเสริม 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย หลังจากคณะกรรมการนโยบายฯ ได้ประกาศเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมายด้านหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ในพื้นที่ 1,466 ไร่ บริเวณนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดจังหวัดระยอง ของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.) เป็นโครงการนำร่องไปแล้ว
นอกจากนี้ ทางคณะทำงานอีอีซี ยังได้ศึกษาพื้นที่นิคมที่มีศักยภาพในการจัดตั้งเป็นเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเบื้องต้นไว้จำนวน6แห่งรวมพื้นที่ประมาณ 1.543 หมื่นไร่ ซึ่งไม่รวมถึงพื้นที่เขตส่งเสริมนวัตกรรมหรืออีอีซีไอเนื้อที่ 350 ไร่ และเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมดิจิตอลหรืออีอีซีดี เนื้อที่ 800ไร่ที่คณะกรรมการนโยบายฯได้ประกาศเป็นเขตส่งเสริมฯไปแล้ว ซึ่งการกำหนดพื้นที่เขตส่งเสริมฯดังกล่าวจะช่วยให้นักลงทุนตัดสินใจที่จะเข้ามาลงทุนได้เร็วขึ้น
[caption id="attachment_124393" align="aligncenter" width="503"]
นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.)[/caption]
นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.)เปิดเผยกับ“ฐานเศรษฐกิจ” ว่า หลังจากที่คณะกรรมการนโยบายฯ มอบหมายให้กนอ.ไปประสานกับผู้ประกอบการนิคมเพื่อนำที่ดินที่มีอยู่มาใช้ประโยชน์ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างจัดทำร่างหลักเกณฑ์ และเงื่อนไข การจัดตั้งเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ ในส่วนของนิคมอุตสาหกรรมและคาดว่าภายในเดือนกรกฎาคมนี้ จะเชิญผู้ประกอบการนิคมที่อยู่ในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ ภาคตะวันออกหรืออีอีซี มาประชุมหารือทำความเข้าใจในหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขการยื่นขอจัดตั้งเป็นเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษตามที่คณะกรรมการนโยบายฯมอบหมาย
โดยหลักเกณฑ์และเงื่อนไขเบื้องต้นนั้น จะต้องเป็นนิคมที่มีพื้นที่ติดต่อกันตั้งแต่ 500 ไร่ขึ้นไป จะเป็นนิคมเก่าที่มีอยู่แล้วหรืออยู่ระหว่างการพัฒนาหรือเป็นพื้นที่นิคมใหม่ก็ได้ โดยแต่ละนิคมจะต้องทำการศึกษาความเป็นไปได้ และกำหนดอุตสาหกรรมเป้าหมาย ที่จะเข้ามาตั้งในเขตส่งเสริมฯ รวมถึงผลประโยชน์ประเทศชาติจะได้รับจากการลงทุนของนักลงทุนเป็นต้นเพื่อนำเสนอ กนอ.และสกรศ.พิจารณาเพื่อนำสู่กระบวนการพิจารณาตัดสินใจตามลำดับ
ทั้งนี้ หากเป็นนิคมที่อยู่ระหว่างการพัฒนาหรือเป็นพื้นที่ที่ขอจัดตั้งนิคมใหม่ จะต้องทำการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอ การจัดทำผังแม่บทและผังจัดสรรการใช้พื้นที่ด้วย เพื่อนำไปสู่การเตรียมพื้นที่ให้นักลงทุนสามารถซื้อหรือเช่าก่อสร้างโรงงานต่อไป
[caption id="attachment_178180" align="aligncenter" width="478"]
ตั้งเขตส่งเสริม7นิคมฯ กนอ.เร่งออกหลักเกณฑ์-เงื่อนไขนำร่อง1.54หมื่นไร่[/caption]
ส่วนพื้นที่ที่มีศักยภาพจัดตั้งเป็นเขตส่งเสริมฯ 7 แห่งนั้นเป็นเพียงผลการศึกษาเบื้องต้นเช่นนิคมฯอมตะนครโครงการ2จ.ระยอง พื้นที่ 8,200 ไร่ นิคมโรจนะชลบุรี พื้นที่ 843 ไร่ นิคมฯปิ่นทอง4พื้นที่654ไร่ นิคมฯปิ่นทอง 5 ชลบุรีพื้นที่ 500 ไร่นิคมฯเหมราชอีสเทิร์นซีบอร์ด 4 ระยอง เนื้อที่ 2,000 ไร่ นิคมฯซีพีระยองเนื้อที่ 3,000 ไร่และนิคมฯมาบตาพุด 1,466 ไร่ของกนอ.ด้วย
โดยยังไม่รวมในส่วนของพื้นที่ที่อยู่ระหว่างรอการจัดตั้งเป็นนิคมอีก 2 หมื่นไร่ ที่ขณะนี้มีผู้ประกอบการได้ยื่นเรื่องขอจัดตั้งกับกนอ.มาแล้วประมาณ 10 ราย ซึ่งมีทั้งรายเก่าและรายใหม่ ซึ่งในกลุ่มนี้ก็ต้องมาดูในรายละเอียด ว่ามีความเหมาะสมหรือมีศักยภาพขอจัดตั้งเป็นเขตส่งเสริมฯได้อย่างไร และเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดไว้หรือไม่
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,278 วันที่ 13 - 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2560