ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) เปิดฐานข้อมูลวัสดุไทย (TCDC Materials Database) ฐานข้อมูลวัสดุและนวัตกรรมภูมิปัญญาของคนไทย หนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยให้เข้าถึงแหล่งข้อมูลวัสดุ ให้สามารถดำเนินธุรกิจสร้างสรรค์ได้อย่างมีศักยภาพ ทั้งนี้ ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ประกอบการส่งออกวัสดุ เพื่อเป็นส่วนประกอบในการผลิตสินค้าแบรนด์ดังระดับโลกจำนวนมาก อาทิ 1. ผลิตภัณฑ์แผ่นมาส์กหน้าจากน้ำมะพร้าว โดยบริษัท พีไอพี อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ผู้ผลิตแผ่นมาส์กไบโอเซลลูโลสให้กับแบรนด์เวชสำอางค์ชื่อดัง 2. ผลิตภัณฑ์สิ่งทอไหมไทย โดยบริษัท จุลไหมไทย จำกัด ผู้ผลิตเส้นไหมส่งออกให้กับแบรนด์เสื้อผ้าจากสวีเดน และ 3. ผลิตภัณฑ์ผ้าใยกัญชง โดยบริษัท ดีดี เนเจอร์ คราฟท์ จำกัด ผู้ผลิตผ้าใยกัญชงส่งออกให้กับแบรนด์รองเท้าผ้าใบชื่อดังจากอเมริกาและแบรนด์เครื่องหนังระดับโลกจากฝรั่งเศส ฯลฯ อย่างไรก็ตามผู้สนใจสามารถเข้าใช้บริการได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายที่ http://materials.tcdc.or.th
นายกิตติรัตน์ ปิติพานิช รักษาการผู้อำนวยการศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) กล่าวว่า ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ ได้รวบรวมฐานข้อมูลวัสดุไทย (TCDC Materials Database) ฐานข้อมูลวัสดุและนวัตกรรมภูมิปัญญาของคนไทย ที่มีรายละเอียดผลงาน และข้อมูลการติดต่อกับผู้ผลิต เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการและนักออกแบบสามารถเข้าถึงข้อมูลวัสดุไทยอย่างครบถ้วน อีกทั้งยังเพิ่มโอกาสในการต่อยอดผลิตภัณฑ์ของผู้ใช้และเป็นช่องทางการตลาด สร้างความแตกต่างให้กับสินค้าและส่งเสริมศักยภาพการแข่งขันของผู้ประกอบการไทย
ทั้งนี้ ฐานข้อมูลออนไลน์ดังกล่าวประกอบไปด้วยรายละเอียดข้อมูลวัสดุไทย รายละเอียดผู้ผลิตและช่องทางการติดต่อ โดยแบ่งเป็นหมวดหมู่ตามประเภทของวัสดุและการใช้งาน อาทิ พลาสติกชีวภาพ เซรามิก กระดาษ บรรจุภัณฑ์และสิ่งพิมพ์ ฯลฯ ทั้งนี้ ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบได้รวบรวม 3 ตัวอย่างผู้ประกอบการจากฐานข้อมูลห้องสมุดวัสดุ ที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างสรรค์ผลงานของแบรนด์ดังระดับโลก คือ
1. ผลิตภัณฑ์แผ่นมาส์กหน้าจากน้ำมะพร้าว โดยบริษัท พีไอพี อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ผู้ผลิตแผ่นมาส์กหน้าด้วยนวัตกรรมด้านชีวภาพ ส่งออกจำหน่ายให้กับแบรนด์เครื่องสำอางระดับโลก โดยเป็นแผ่นมาส์กหน้าเส้นใยชีวภาพที่มีความละเอียดกว่าเส้นใยกระดาษ 500 เท่า ทำจากน้ำมะพร้าวแก่เหลือใช้นำมาต้มสุกหยอดด้วยหัวเชื้อจุลินทรีย์สายพันธุ์ที่พัฒนามาโดยเฉพาะ ทิ้งไว้จนจับตัวกลายเป็นแผ่นวุ้นและนำไปผ่านกระบวนการรีดน้ำออกให้บาง
จุดเด่นของแผ่นมาส์กเส้นใยชีวภาพคือสามารถกักเก็บสารบำรุงไว้ในเนื้อมาส์กได้มากกว่า จึงสามารถปลดปล่อยเข้าสู่ผิวผู้ใช้ได้มากกว่าแผ่นมาส์กที่ทำจากกระดาษทั่วไปถึง 300% ซึ่งบริษัท พีไอพี อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เป็นรายแรกๆ ในประเทศไทยที่ผลิตแผ่นมาสก์ไบโอเซลลูโลสตั้งแต่ปี 2550 และได้รับรางวัลนวัตกรรมจากรัฐบาลเกาหลีใต้ ซึ่งต่อมาได้ต่อยอดเป็นช่องทางในการส่งออกแผ่นมาสก์ให้กับแบรนด์เครื่องสำอางชั้นนำหลายแบรนด์ โดยมีมูลค่าการส่งออกกว่า 2.5 ล้านแผ่นภายใน 3 ปีหลังการเปิดตลาด
2. ผลิตภัณฑ์สิ่งทอไหมไทย โดยบริษัท จุลไหมไทย จำกัด ผู้ผลิตเส้นไหมรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทยส่งออกให้กับแบรนด์เครื่องนุ่งห่มแฟชั่นทั้งในและต่างประเทศ ดำเนินกิจการมากว่า 5 ทศวรรษ 70% ของกำลังการผลิตในประเทศป้อนให้กับผู้ผลิตผ้าไหมชื่อดังประมาณ 90 % อีก 10 %ส่งออกไปญี่ปุ่น จีน อินเดีย และยุโรป ด้วยเอกลักษณ์ของเส้นไหมออร์แกนิค ซึ่งเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและกำลังเป็นที่ต้องการของตลาด ประกอบกับการผสมไหมพันธุ์ไทย เพื่อให้ได้เส้นไหมที่มันเงาที่สุดและทนต่อสภาพอากาศร้อนชื้นได้ดี ด้วยคุณสมบัติที่โดดเด่นดังกล่าว จึงทำให้แบรนด์เสื้อผ้าระดับโลกจากสวีเดนติดต่อเข้ามาเป็นคู่ค้ายาวนานกว่า 6 ปี สร้างมูลค่ากว่า 26 ล้านบาทต่อปี
3. ผลิตภัณฑ์ผ้าใยกัญชง หรือผ้าเฮมพ์ โดยบริษัท ดีดี เนเจอร์ คราฟท์ จำกัด ผู้ผลิตผ้าเฮมพ์ พืชวัฒนธรรมของชาวม้ง โดยนำใยจากเปลือกมาปั่นทำเป็นเส้นด้ายแล้วทอเป็นผืนผ้า ซึ่งมีคุณสมบัติพิเศษคือแข็งแรงกว่าฝ้ายถึง 10 เท่า ไม่มีเชื้อรา ไม่เก็บกลิ่นอับชื้น ระบายความชื้นและระบายความร้อนได้ดี โดยได้เป็นวัสดุส่งออกให้กับแบรนด์รองเท้าผ้าใบชื่อดังจากอเมริกาและแบรนด์เครื่องหนังระดับโลกจากฝรั่งเศส จนสามารถขยายตลาดส่งออกต่างประเทศได้อย่างรวดเร็ว ปัจจุบันผลิตภัณฑ์จากเฮมพ์ ที่ผลิตโดยบริษัท ดีดี เนเจอร์ คราฟท์ จำกัด มีทั้งหมดกว่า 20 รายการ อาทิ ผ้าผืนเฮมพ์100% ใยเฮมพ์ กระเป๋า หมวก รองเท้า โดยมีตลาดหลักที่ญี่ปุ่นกว่า 70% ที่เหลือเป็นยุโรป อเมริกา ออสเตรเลีย และจำหน่ายในประเทศไทยประมาณ 10%เท่านั้น
จากตัวอย่าง 3 ผู้ประกอบการข้างต้น สะท้อนถึงสถานการณ์ปัจจุบันของผู้ประกอบการไทยที่เน้นการส่งออกวัสดุให้กับต่างชาติเพื่อผลิตสินค้าเป็นหลัก ซึ่งผลิตภัณฑ์ประเภทวัสดุที่มีคุณภาพเหล่านั้นได้รับความเชื่อถือจากผู้ประกอบการหลากหลายแบรนด์ดังระดับโลก ฉะนั้นแล้วผู้ประกอบการในประเทศไทยเองควรหันมาให้ความสนใจ และศึกษาอย่างละเอียดถึงวัสดุสร้างสรรค์ที่สามารถผลิตขึ้นมาในประเทศไทย และหาวิธีประยุกต์ สร้างสินค้าที่มีทั้งคุณค่าและมูลค่าที่เพิ่มมากขึ้น เพื่อขับเคลื่อนให้อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของประเทศไทยเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง นายกิตติรัตน์ กล่าวทิ้งท้าย