FTA อาเซียน-จีน ป่วน! กระทบแผนปั้น “ไทย” ขึ้นเป็นฮับผลิตรถยนต์ไฟฟ้าภูมิภาค เหตุซุกภาษี 0% “รถอีวี” มีผล 1 ม.ค. 61 ... กรมศุลกากรปวดขมับภาษี 2 มาตรฐาน กระทบหนักทั้งนำเข้า-ผลิตในประเทศ “นิสสัน” ยื่นรัฐทบทวนด่วน!
กลายเป็นประเด็นร้อนฉ่าขึ้นมาทันที จากข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน (ACFTA) นี้ หลังจากกระทรวงการคลังออกประกาศมาตั้งแต่ปี 2547 สินค้าภายใต้ข้อผูกพัน ACFTA จำนวน 703 รายการ มีอัตราอากรลดลงจากปีนี้ แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มที่เคยเสียภาษีนำเข้าในอัตรา 20%, 15%, 12% และ 10% เหลือเสีย 5% และกลุ่มที่ 2 อัตราภาษีนำเข้าทั่วไป ต่ำกว่า 5% จะมีตั้งแต่ 5%, 3% และ 0% จะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2561 โดย 1 ในสินค้าที่กระทบอย่างหนัก คือ รถยนต์นั่งไฟฟ้า ที่จะจัดเก็บ 0%
นายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากร กล่าวว่า สินค้าเกษตร, รถยนต์นั่งไฟฟ้า (Electric Vehicle : EV), อุปกรณ์ส่วนควบคุมและอุปกรณ์เสริมสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า, แบตเตอรี่, เครื่องอัดประจุไฟฟ้า จะมีอัตราภาษีเหลือ 0% ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2561 ไม่นับรถเมล์ไฟฟ้าที่ยังคงเสียภาษีนำเข้าในอัตรา 30% ซึ่งหากมีการนำเข้าจากจีนจำนวนมากก็จะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการในประเทศ โดยเฉพาะการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งรัฐบาลกำลังส่งเสริมและดึงให้ผู้ประกอบการผลิตรถยนต์ต่างชาติเข้ามาใช้ไทยเป็นฐานในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของภูมิภาค
“รัฐบาลเองก็กังวลเรื่องนี้ว่า หากไม่เสียภาษีแล้ว จะมีการนำเข้าจากจีนมาในไทยมากน้อยแค่ไหน เพราะการนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าจากประเทศอื่น ๆ ที่ไม่มีกรอบเอฟทีเอ จะต้องเสียภาษี 30% และหากนำเข้ามามากอาจกระทบต่ออุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ในประเทศด้วย เพราะรถยนต์ไฟฟ้าจากจีนมีราคาถูกมาก เริ่มต้นเพียงคันละ 2 แสนบาทเท่านั้น รวมถึงต้องตรวจสอบมาตรฐานด้วย” นายกุลิศ กล่าว
บีโอไอประกาศส่งเสริมผลิต “รถยนต์ไฟฟ้า” ด้วยการให้สิทธิประโยชน์ภาษี ทั้งในส่วนของโรงงานแบตเตอรี่และโรงงานผลิตรถยนต์ ขณะที่ กรมสรรพสามิตจะเก็บภาษีเพียง 2% สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าที่ใช้แบตเตอรี่ที่ผลิตโดยได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ
- ดึงออก-ตั้งมาตรฐานสูง -
ขณะนี้กรมศุลกากรทำงานร่วมกับกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กรมการค้าต่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม เพื่อหาผลสรุปจากผลกระทบจากรถยนต์ไฟฟ้า และหาแนวทางป้องกันว่า จะทำได้มากน้อยเพียงใด ก่อนที่ ACFTA จะมีผลบังคับใช้
“ข้อตกลงนี้ ทำไว้เมื่อ 10 ปีที่แล้ว เราต้องปฏิบัติตามนั้น และยังเป็นข้อตกลงร่วมกับอาเซียนด้วย จึงต้องมาดูว่า เราจะทำอะไรได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งก็ยังไม่สามารถบอกรายละเอียดได้มากนัก เพราะเป็นเรื่องกลยุทธ์ประเทศ หากพูดมากไป เราอาจจะเสียเปรียบได้ แต่จะทำให้ดีที่สุด” นายกุลิศ กล่าว
นายกุลิศ กล่าวว่า แนวทางที่อาจจะทำได้ คือ เจรจาขอเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขใหม่ได้หรือไม่ จะดึงรถยนต์ไฟฟ้าออกจากหมวดอื่น ๆ หรือจำเป็นต้องหาแนวทางกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช้ภาษีขึ้นมา เช่น กำหนดมาตรฐานรถยนต์นำเข้าให้เข้มงวดขึ้น
ส่วนผลกระทบด้านรายได้จากกรอบข้อตกลงเอฟทีเอ ในปีงบประมาณ 2560 รายได้จากภาษีของกรมศุลกากรหายไป 2,000 ล้านบาทจากกรอบอาเซียน และในปี 2561 คาดว่า จะสูญเสียรายได้เพิ่มขึ้นอีก 800 ล้านบาทจากกรอบอาเซียน-จีน
- “นิสสัน” จี้รัฐทบทวน -
นางเพียงใจ แก้วสุวรรณ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งมีแผนนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้า รุ่น “LEAF” มาจำหน่ายปีหน้า เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า กระทบกับผู้ผลิตรถยนต์ที่กำลังจะตัดสินใจเข้าร่วมลงทุนในโครงการรถยนต์ไฟฟ้าที่รัฐบาลต้องการผลักดันอย่างแน่นอน ในส่วนของนิสสันอาจจะมีการพูดคุยและนำเสนอขอนำเข้ารถยนต์อีวีมาจากญี่ปุ่นก่อน จากเดิมที่ต้องมีเงื่อนไขการลงทุนและมีฐานการผลิตในประเทศไทย อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ยังคงต้องรอดูและไม่รู้ผลจะออกมาเป็นอย่างไร
“เดิมทีการตัดสินใจลงทุนในโครงการนี้ยากอยู่แล้ว เพราะดีมานด์ของรถยนต์ไฟฟ้าในปัจจุบันยังน้อยอยู่ และการลงทุนค่อนข้างสูง เมื่อมาเจอกรณีเอฟทีเออาเซียน-จีน ยิ่งทำให้ยากขึ้นไปอีก”
ความคืบหน้าในขณะนี้ ผู้ผลิตรถยนต์ได้มีการพูดคุยกับกลุ่มยานยนต์ และทำหนังสือยื่นให้กับกระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงพาณิชย์ เพื่อทบทวนและพิจารณาเงื่อนไขรายละเอียดด้านต่าง ๆ
“ผู้ผลิตรถยนต์ก็มีการพูดคุยกันบ้างเบื้องต้น ยังไม่รู้ว่าผลจะออกมาในลักษณะไหน แต่ต้องยอมรับว่า เป็นปัญหาที่ค่อนข้างจะแรงทีเดียว”
- ลุ้นต่อรองให้เก็บ 20% -
แหล่งข่าวจากวงการอุตสาหกรรมยานยนต์ เปิดเผยว่า ยังไม่มีทุนกลุ่มไหนยื่นคำขอรับการส่งเสริมผลิตรถยนต์ไฟฟ้ากับบีโอไอ เพราะยังมีเวลาถึงปลายปี 2561 ปัจจุบันมีเพียงนำเข้ามา เพื่อทดลองตลาด ถ้าขายทั่วไปยังต้องใช้เวลา นอกจากนี้ ภาษีอากรขาเข้ารถไฟฟ้าอาเซียน-จีน 0% เป็นประเด็นที่น่าห่วง แต่รัฐบาลกำลังแก้ไขอยู่ จะต้องเจรจาใหม่ จาก 0% เป็น 20% เท่ากับความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) ได้หรือไม่
แหล่งข่าวจากกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เผยว่า ภายใต้ความตกลงเขตการค้าอาเซียน-จีน ไทยเคยเปิดตลาดรถยนต์ไฟฟ้าให้กับรถนำเข้าจากจีน โดยยกเลิกภาษีนำเข้าเป็น 0% ขณะที่จีนก็ได้เปิดตลาดรถยนต์ BEV ให้ไทยในอัตราภาษี 0% เช่นกัน ตั้งแต่ปี 2553 โดยจากสถิติของกรมศุลกากรไทยมีการนำเข้ารถ BEV จากจีนภายใต้สิทธิประโยชน์ภาษี 0% ยังไม่มาก ข้อมูลช่วงปี 2555-2559 มีจำนวน 7 คัน คิดเป็นมูลค่า 8.7 ล้านบาท
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,305 วันที่ 15-18 ต.ค. 2560