ดอนเมืองโทลล์เวย์ ช่วงรังสิต-บางปะอินยกระดับคมนาคมขนส่งสู่เส้นทางสายเหนือ

31 ต.ค. 2560 | 23:10 น.
เมื่อมีข่าวอุทกภัยครั้งใหญ่โดยเฉพาะมวลนํ้าจำนวนมากที่มาจากทางภาคเหนือ ดูเหมือนว่าหลายฝ่ายจะกล่าวถึงพื้นที่นํ้าท่วมกรุงเทพมหานครโซนเหนือมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นย่านรังสิต บางปะอิน จังหวัดปทุมธานี หรือเขตพื้นที่จังหวัดพระนคร ศรีอยุธยา เช่นเดียวกับขณะนี้ที่มวลนํ้าจำนวนมากเริ่มเคลื่อนเข้าสู่พื้นที่กรุงเทพมหานครจนหลายฝ่ายหวั่นผลกระทบจากปัญหานํ้าท่วมจะกลับมาหลอนหลายคนอีกครั้งเช่นเดียวกับปี 2554 ที่ผ่านมา

ขณะนี้กรมทางหลวง (ทล.) อยู่ระหว่างการเร่งศึกษาข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับโครงการส่วนต่อขยายทางยกระดับอุตราภิมุข (ดอนเมืองโทลล์เวย์) ช่วงรังสิต-บางปะอินระยะทางประมาณ 18 กิโลเมตร คาดว่าจะใช้งบประมาณกว่า 3 หมื่นล้านบาทรูปแบบการร่วมลงทุน PPP-Net Cost โดยรัฐรับผิดชอบค่าเวนคืน ส่วนเอกชนลงทุนก่อสร้างทางและระบบจัดเก็บค่าผ่านทาง รวมถึงการบำรุงรักษา ระยะเวลาสัมปทาน 30 ปี

โครงการดังกล่าวนี้มีรูปแบบเป็นทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) มีจุดเริ่มต้นที่บริเวณจุดสิ้นสุดของทางยกระดับอุตราภิมุขในปัจจุบัน(ประมาณ กม.33+942 ของถนนพหลโยธิน และจุดสิ้นสุดโครงการประมาณ กม.51+924 ของถนนพหลโยธิน) บริเวณทางต่างระดับบางปะอินซึ่งเชื่อมต่อกับทางหลวงหมายเลข 32 หรือถนนสายเอเซีย (AH1) ที่จะสามารถเชื่อมกับมอเตอร์เวย์ เส้นทางบางปะอิน-นครราชสีมา ได้อีกด้วย รูปแบบทางยกระดับขนาด 3 ช่องจราจรต่อทิศทาง (6 เลน) มีจุดขึ้น-ลง 7 จุด ได้แก่ บริเวณด่านโรงกษาปณ์ ด่านคลองหลวง ด่านมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ด่านนวนคร ด่านมหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ด่านประตูนํ้าพระอินทร์ และด่านบางปะอิน

สำหรับแนวเส้นทางใช้พื้นที่เกาะกลางถนนพหลโยธินเป็นส่วนใหญ่ จะมีการเวนคืนบริเวณปลายทางไม่มากเพื่อทำแลมป์เชื่อมกับทางหลวงพิเศษบางปะอิน-นครราชสีมา โดยมีค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินประมาณ 500 ล้านบาท ทั้งนี้ตามผลการศึกษาโครงการถือว่ามีความคุ้มทุน โดยมีอัตราส่วนผลตอบแทนทางเศรษฐศาสตร์ (EIRR) 18.2% มูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) เท่ากับ 15,531 ล้านบาท และอัตราส่วนผลประโยชน์ต่อต้นทุน (B/C Ratio) เท่ากับ 1.98
ความคืบหน้าปัจจุบันโครงการได้ออกแบบรายละเอียดแล้วเสร็จและได้รับความเห็นชอบผลการศึกษาด้านผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA) เรียบร้อยแล้ว โดยขณะนี้ ทล.อยู่ระหว่างศึกษาผลกระทบกับโครงการอื่นๆในพื้นที่โซนเหนือหรือไม่ มีแนวทางปรับแก้ไขอย่างไร

คาดว่าจะได้รับการบรรจุในแผนปฏิบัติการปี 2561-2562 เพื่อเร่งผลักดันโดยเร็วต่อไป คาดว่าเมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จเส้นทางนี้จะสามารถรองรับปริมาณการจราจรได้ถึง 8.8 หมื่นคันต่อวัน และเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 1.46 แสนคันต่อวันในปี 2582 จะช่วยเพิ่มโครงข่ายถนนเพื่อแก้ปัญหาอุทกภัยในพื้นที่แล้วยังจัดได้ว่าเป็นถนนสายหลักสู่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย อีกทั้งยังส่งเสริมเศรษฐกิจและการค้าระหว่างภูมิภาค ยกระดับสู่การเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ในระดับอาเซียนในอนาคตได้อีกด้วย

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,309
วันที่ 29 ตุลาคม - 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว