เมื่อประมาณต้นปีที่แล้ว คงจำกันได้กับปรากฏการณ์“ไอศกรีมกูลิโกะ” ที่กระแสแรงสุดๆ ใครๆ ก็อยากลิ้มลองสักครั้ง แต่หาซื้อยาก วางขายเท่าไรก็หมด ไปช้าก็อด ถึงขนาดมีการตั้งกระทู้ในพันทิป แถมยังมีรีวิวไอศกรีมเป็นเรื่องเป็นราว
ปรากฏการณ์ครั้งนั้น น่าจะเป็นการทำตลาดที่ประสบความสำเร็จมากๆ ครั้งหนึ่งของกูลิโกะ หลังจากเคยนำไอศกรีมเข้ามาลองตลาดเมืองไทยแล้วเมื่อปี 2557 และเริ่มมาทำตลาดอีกครั้งต้นปี 2558 พร้อมตั้งบริษัท กูลิโกะโฟรเซ่น (ประเทศไทย) จำกัด ขึ้นเมื่อเดือนมิถุนายน 2558เพื่อดำเนินธุรกิจด้านไอศกรีมในเมืองไทย ซึ่งถือเป็นประเทศแรกที่กูลิโกะเลือกทำตลาดไอศกรีม และแม่ทัพที่ประธานใหญ่กูลิโกะ เลือกให้มาทำหน้าทีแม่ทัพก็คือ “คิโยทะคะ
ชิมะโมริ”
[caption id="attachment_233501" align="aligncenter" width="335"]
คิโยทะคะ ชิมะโมริ[/caption]
“ คิโยทะคะ” กรรมการผู้จัดการ บริษัท กูลิโกะโฟรเซ่น (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท ไทย กูลิโกะจำกัด คนนี้ ถือเป็นลูกหม้อที่อยู่กับกูลิโกะมากว่า 40ปี ได้ดูแลผลิตภัณฑ์กูลิโกะมาเกือบทุกตัว เริ่มงานกับกูลิโกะในตำแหน่งมาร์เก็ตติ้งและพัฒนาผลิตภัณฑ์สแน็ก ซึ่งขณะนี้ สินค้าเหล่านั้นไม่มีในตลาดแล้ว หลังจากนั้น ก็ทำเรื่องการขาย และโปรโมชัน 4-5 ปี แล้วก็มาทำมาร์เก็ตติ้ง ดูแลผลิตภัณฑ์ ป๊อกกี้ และเพรสสินค้าหลักของกูลิโกะ และได้รับมอบหมายให้มาเป็นผู้พัฒนาผลิตภัณฑ์ไอศกรีมอีก 10 ปี ผลงานชิ้นเอกของเขาก็คือ ไอศกรีม “พาลิตเต้ (Palitte)” ที่เขาคิดค้นขึ้นมา
ครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่เขาได้รับมอบหมายออกมาบริหารที่ต่างประเทศ โจทย์ใหญ่ที่ได้รับมอบหมาย คือ… เราขยายกิจการไอศกรีมครั้งแรกในไทย ต้องปลูก และฝังรากไอศกรีมกูลิโกะในตลาดไทยให้ได้… ซึ่ง “คิโยทะคะ” มองว่าต้องใช้เวลาราว 10 ปี ในการฝังรากลึก เป็นงานที่ต้องใช้เวลาขณะที่ขนมกูลิโกะ ทำตลาดในเมืองไทยมานานกว่า 47 ปี
แนวคิดในการทำงานของแม่ทัพกูลิโกะท่านนี้ คือเรื่องของการตลาด ที่ผสมผสานเป็นเนื้อเดียวกับการบริหาร เขาปลูกฝังให้ทีมงานมีแนวคิดทางการตลาด เป็นพื้นฐานความคิดในการทำงาน เพราะหากมีความคิดเช่นนั้นแล้ว จะสามารถต่อยอดและผลักดันให้ผลิตภัณฑ์ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าให้ได้มากที่สุด การทำให้ทุกคน ทุกแผนก มีแนวคิดพื้นฐานเป็นมาร์เก็ตติ้ง จะทำให้เราไม่ทรยศลูกค้า เช่น ในบริษัททุกแผนกมีหน้าที่ต่างกัน แต่ไม่ใช่ให้แค่แผนกมาร์เก็ตติ้งที่คิด การตลาด แต่ทุกแผนกต้องคิด เซลส์นอกจากการขาย ก็ต้องคำนึงว่าจะส่งสินค้าถึงมือลูกค้าอย่างไรทำให้เขาหาซื้อได้ง่ายการจัดดิสเพลย์ การติดพีโอพี การวางตู้สินค้าให้หยิบง่ายแบบนั้นงานจึงจะสมบูรณ์
[caption id="attachment_233503" align="aligncenter" width="503"]
คิโยทะคะ ชิมะโมริ[/caption]
“งานบริหารและมาร์เก็ตติ้ง เป็นงานที่ใกล้เคียงกันมาก…คีย์ในการบริหาร คือ การทำเพื่อลูกค้า เพราะฉะนั้น เราต้องทำความเข้าใจให้ได้ว่า อะไรที่จะเป็นประโยชน์กับลูกค้า ลูกค้าคิดอะไร ต้องการอะไร ทำอย่างไรให้ลูกค้าเกิดรอยยิ้มได้ นั่นคือโจทย์ใหญ่ของเรา… ถ้าเราตีโจทย์แตก ลูกค้าจะสนับสนุนเราการทำตลาดของผมไม่ได้แค่คิดเรื่องการแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดอย่างเดียว แต่ให้ความสำคัญกับทางลูกค้าด้วย”
แม่ทัพใหญ่กูลิโกะ มีหลักคิดในการบริหารที่มุ่งมั่นสร้างความเชื่อถือ เพื่อให้ได้รับความเชื่อใจจากลูกค้า ซึ่งมีหลายๆอย่างที่ต้องทำให้ลูกค้าเกิดความไว้วางใจและสิ่งสำคัญที่สุดคือ คุณภาพของสินค้า
ขณะนี้กูลิโกะ ไอศกรีมกำลังเดินไปสู่เป้าหมาย “คิโยทะคะ” ยอมรับว่าปรากฏการณ์เมื่อต้นปี 2557 ไม่ใช่เหตุการณ์ปกติ แต่ปีนี้ทุกอย่างเริ่มเข้าที่ กำลังผลิตเพียงพอต่อความต้องการของตลาด สิ่งที่ต้องทำต่อไปคือการเพิ่มช่องทางการขายให้ครอบคลุม และสร้างแบรนด์ผลิตภัณฑ์ไอศกรีมให้เป็นที่จดจำและยอมรับของผู้บริโภค หลังจากนั้น จึงจะเดินแผนอื่นๆ ต่อไปการเปิดตัวครั้งแรกและต้นปีที่แล้วเป็นครั้ง 2 ล้วนเจอปัญหาแต่ผู้นำคนนี้ไม่เคยยอมแพ้ และศึกษาเรียนรู้ตลาดเพิ่มเติม
ต่อจากนี้ “คิโยทะคะ ชิมะโมริ” ยังพร้อมที่จะเรียนรู้อะไรใหม่ๆ เพื่อนำมาพัฒนาตลาดผลิตภัณฑ์ของกูลิโกะ ทั้งไอศกรีมและขนม ซึ่งนั่นคืองานที่เขาชอบและสนุกที่ได้ทำ เขามองว่างานตลาดเป็นงานที่ท้าทาย และนี่คือ โอกาสที่มีค่ามากสำหรับเขา ดูแลผลิตภัณฑ์ บริหาร ได้ค้นพบทักษะใหม่ๆ นั่นคือ ความสุขและความสนุกของการทำงาน และนั่นคือสิ่งที่ทำให้เติบโตขึ้นเรื่อยๆ
ผู้บริหารท่านนี้ทิ้งท้ายว่า… บริษัทมีแนวทางในการเติบโตของพนักงาน ถ้าประสบความสำเร็จที่นี่ ก็คงมีวาระใหม่เข้ามา
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,316 วันที่ 23 - 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560