thansettakij
5 ปีส่งออก 1 ล้านล้าน ไทยศูนย์กลางอัญมณีโลก

5 ปีส่งออก 1 ล้านล้าน ไทยศูนย์กลางอัญมณีโลก

12 ธ.ค. 2560 | 23:08 น.
อัญมณีและเครื่องประดับ เป็นสินค้าส่งออกอันดับ 3 ของไทย (รองจากสินค้ารถยนต์ และคอมพิวเตอร์) ติดต่อกันมาหลายปี ขณะที่ไทยเป็นผู้ผลิตและผู้ค้าอัญมณีติด 10 อันดับแรกของโลก นำเม็ดเงินเข้าประเทศในปีที่ผ่านมากว่า 5 แสนล้านบาท และรัฐบาลชุดปัจจุบันได้ให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมนี้โดยมีมาตรการต่างๆ เพื่อผลักดันเป้าหมายไทยเป็นศูนย์กลางการค้าอัญมณีและเครื่องประดับชั้นนำของโลกภายในปี 2564

เป้า1ปีแรกนายกใหม่
“บุญกิต จิตรงามปลั่ง” นายกสมาคมผู้ค้าอัญมณีไทยและเครื่องประดับคนใหม่ให้สัมภาษณ์กับ “ฐานเศรษฐกิจ” โดยระบุว่าการผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตและการค้าอัญมณีฯ ชั้นนำของโลกจะช่วยให้อุตสาหกรรมนี้มีโอกาสขยายตัวได้อีกมาก อย่างไรก็ดีนโยบายการบริหารงานสมาคมในช่วง 2 ปีนับจากนี้ จะเน้น 6 ด้าน ซึ่งจะเป็นอีกส่วนหนึ่งในการผลักดันเป้าหมายข้างต้นของรัฐบาลให้เป็นจริงได้ ได้แก่ 1. การเสริมสร้างการมีส่วนร่วมและเอกภาพในการทำงาน 2. การสร้างองค์กรธรรมาภิบาลและความเชื่อมั่น 3. การแก้ไขอุปสรรคทางการค้าและการทำธุรกิจ 4. การประสานความร่วมมือกับภาครัฐและเอกชนไทยและต่างประเทศ 5. ส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจ และ6. การประชาสัมพันธ์และสร้างภาพลักษณ์สมาคม และอุตสาหกรรมอัญมณีฯในภาพรวม

สำหรับผลงานที่จะเร่งผลักดันให้ได้ภายใน 1 ปีแรกของการทำงานได้แก่ การสร้างความเชื่อมั่นในการจัดงานบางกอกเจมส์ แอนด์ จิวเวลรี่ แฟร์ ซึ่งเป็น 1 ใน 5 งานแฟร์อัญมณีฯที่สำคัญของโลก การแก้ไขปัญหาอุปสรรคทางการค้าและการทำธุรกิจ (ภาษี แหล่งเงินทุน บุคลากร และอื่นๆ) การพัฒนาระบบบัญชีและการเสียภาษีที่สอดคล้องกับธรรมชาติของธุรกิจ และการสร้างเอกภาพของสมาคมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าในต่างประเทศ

[caption id="attachment_240088" align="aligncenter" width="503"] บุญกิต จิตรงามปลั่ง นายกสมาคมผู้ค้าอัญมณีไทยและเครื่องประ บุญกิต จิตรงามปลั่ง นายกสมาคมผู้ค้าอัญมณีไทยและเครื่องประดับ[/caption]

เส้นทางสู่ศูนย์กลางค้า
“อุปสรรคทางการค้าในเรื่องภาษี ในส่วนของภาษีศุลกากร เวลานี้รัฐบาลได้ช่วยปลดล็อกไปมากแล้วโดยอัญมณีและเครื่องประดับหมวด 71 ได้รับยกเว้นภาษีนำเข้าเป็น 0% ไปหมดแล้ว แต่ยังมีสินค้าเกี่ยวเนื่องเช่น อุปกรณ์เครื่องจักรและชิ้นส่วนบางส่วนที่ไม่ได้อยู่ในหมวด 71 ยังมีภาษีอยู่บ้าง

ส่วนที่เป็นเรื่องภาษีสรรพากร ยังมีติดขัดในกลุ่มเครื่องประดับเงินที่ภาษีนำเข้าเป็น 0 แล้วแต่ยังต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มหรือแวต 7% ซึ่งยังเป็นภาระต้นทุนเรื่องเหล่านี้จะผลักดันแก้ไขต่อไป”

ทั้งนี้อุปสรรคทางการค้าและการทำธุรกิจอัญมณีฯทั้งในเรื่องภาษีและไม่ใช่ภาษีที่ยังมีอยู่ หากไทยจะเป็นศูนย์กลางอัญมณีและเครื่องประดับชั้นนำของโลกเรื่องเหล่านี้ต้องลดหรือต้องปลดล็อกออกไป เพื่อให้เกิด Free Flow ทั้งระบบเหมือนฮ่องกง และต้องเร่งผลักดันตลาดประมูลพลอยดิบในระดับนานาชาติให้เกิดขึ้นในประเทศเพื่อให้วัตถุดิบไหลเข้ามา

นอกจากนี้การต้องเร่งพัฒนาบุคลากรรองรับ ทั้งช่างฝีมือ พนักงานออฟฟิศหรือสตาฟฟ์ออฟฟิศที่ภาพรวมในปัจจุบันยังอ่อนเรื่องทักษะด้านภาษาอังกฤษ ขณะที่การติดต่อสื่อสารกับต่างประเทศ รวมถึงเครื่องมือเครื่องจักรต่างๆต้องมีความรู้เรื่องภาษาอังกฤษ รวมถึงเร่งพัฒนาการค้าอี-คอมเมิร์ซซึ่งเป็นเทรนด์การค้ายุคใหม่เพื่อใช้เป็นอีกช่องทางหนึ่งในการขายสินค้า การขยายสู่การสร้างแบรนด์ตัวเองเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้า จากที่ปัจจุบัน ผู้ประ กอบการส่วนใหญ่ยังเน้นการรับจ้างผลิตในแบรนด์ลูกค้า (โออีเอ็ม) เป็นหลัก

เล็ง 5 ปีส่งออก 1 ล้านล.
“บุญกิต”กล่าวอีกว่า ในวงการอัญมณีและเครื่องประดับของโลกเวลานี้ไทยติดอยู่ในกลุ่มท็อปเทนในหลายกลุ่มสินค้า โดยในส่วนของเครื่องประดับเงินไทยอยู่อันดับ 1, ทองคำไทยเป็นอันดับ 3

ส่วนพลอยอยู่อันดับ 5 หรือ 6 ของโลก เป็นต้น ซึ่งในปีที่ผ่านมาไทยมีการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ (รวมทองคำ)กว่า 5 แสนล้านบาท หากการผลักดันในเรื่องต่างๆ ข้างต้นให้บังเกิดผลและสามารถผลักดันไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตและการค้าอัญมณีของโลกได้มั่นใจว่ามูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของไทยจะส่งออกได้เกิน 1 ล้านล้านบาทใน 5 ปีอย่างแน่นอน ซึ่งโดยศักยภาพแล้วมีโอกาสเป็นไปได้สูง

อย่างไรก็ดีจากการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของไทยช่วง 10 เดือนแรกปีนี้มีมูลค่า 3.84 แสนล้านบาท ขยายตัวลดลง 11.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่หากหักการส่งออกทองคำ (1.78 แสนล้านบาท) ที่เป็นลักษณะซื้อมา-ขายไปแล้วการส่งออกอัญมณีฯในภาพรวม 10 เดือนแรกจะติดลบอยู่เพียง 2.1%

คาดปีนี้โต 2%ปีหน้าเป้า5%
“การส่งออกอัญมณีฯที่ยังติดลบในช่วง 10 เดือนแรกปีนี้ มีปัจจัยลบส่วนหนึ่งจากเงินบาทของไทยแข็งค่ามาก ทำให้รายรับรูปเงินบาทลดลง ขณะที่ภาพรวมตลาดโลกก็ไม่ค่อยดีเท่าไร ห้างในต่างประเทศปิดตัวลงเรื่อยๆ ทั้งในอเมริกา และยุโรป โดยเฉพาะในอเมริกาห้างและร้านค้าปลีกลดจำนวนสาขาลงเรื่อยๆส่งผลต่อไทยเพราะเราเป็นประเทศผลิตโออีเอ็มให้เขา ฉะนั้นถ้าช่องทางการจำหน่ายน้อยลง ยอดส่งออกเราก็น้อยลงตาม ขณะกำลังซื้อของคนในทุกภูมิภาคทั่วโลกก็ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ และในมุมกลับกันประเทศคู่แข่งขันเราก็พัฒนาสินค้ามากขึ้นเรื่อย ๆ จึงกระทบกับเรา”

อย่างไรก็ดียังมั่นใจว่าการส่งออกอัญมณีฯในภาพรวมของไทยในปีนี้ (ไม่รวมทองคำ) จะยังขยายตัวได้ไม่ตํ่ากว่า 2% โดยเชื่อว่าตัวเลข 2 เดือนสุดท้ายคือพฤศจิกายนและธันวาคมจะขยายตัวได้ดีเพราะเป็นช่วงไฮซีซันของการขาย ส่วนปี 2561 เบื้องต้นตั้งเป้าจะขยายตัวได้ที่ 5% ผลพวงจากเชื่อว่าเศรษฐกิจโลกน่าจะปรับตัวดีขึ้น และผลจากมาตรการสนับสนุนต่างๆของรัฐบาล

“ตลาดอัญมณีและเครื่องประดับโลกใหญ่มากปัจจุบันไทยมีส่วนแบ่งตลาดเพียง 2% กว่าๆ เท่านั้นเอง ดังนั้นจึงมีปลาให้จับอีกมาก หากเราพัฒนาศักยภาพและสามารถขยับส่วนแบ่งตลาดขึ้นได้อีกสัก 2% มูลค่าการส่งออก 1 ล้านล้านบาทจะเห็นแน่นอน แต่คงต้องใช้เวลา”

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,321 วันที่ 10 - 13 ธันวาคม พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว