‘ไอซีที’โชว์ผลงาน1ปี ขับเคลื่อน Digital Thailand

01 ม.ค. 2559 | 03:30 น.
อัปเดตล่าสุด :02 มิ.ย. 2559 | 11:23 น.
ครบรอบ 1 ปีรัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ปรากฏว่ารัฐบาลและกระทรวงต่างๆ ได้แถลงผลงานออกมาเป็นรูปธรรม

ขณะที่ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือ ไอซีที โดย นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีที ได้แถลงผลงานครบรอบ 1 ปี

[caption id="attachment_24173" align="aligncenter" width="600"] 8 ผลงานขับเคลื่อน Digital Thailand ของกระทรวง ICT 8 ผลงานขับเคลื่อน Digital Thailand ของกระทรวง ICT[/caption]

ทุ่มงบ 3.75 ล. เครือข่ายศูนย์ดิจิตอลชุมชน

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีกระทรวงไอซีที ได้เขียนเฟซบุ๊กส่วนตัวแถลงผลงานครบรอบ 1 ปีว่า ในเรื่อง งบ 3,755 ล้านบาท เพื่อเร่งพัฒนาเครือข่ายศูนย์ดิจิตอลชุมชน โครงสร้างพื้นฐานด้านคอมพิวเตอร์และโครงข่ายหนุนใช้เทคโนโลยีดิจิตอลในธุรกิจ SMEs ยกระดับบริการภาครัฐ พัฒนาบุคลากรพร้อมเดินหน้า Smart City

ขับเคลื่อน 8 แผนงาน

สำหรับงบประมาณ 3,755 ล้านบาทนั้น กระทรวงไอซีที จะมีแผนขับเคลื่อน 8 แผนงานได้แก่ 1.พัฒนาเครือข่ายดิจิตอลชุมชนและปรับรูปแบบศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชน โดยมีโครงการนำร่องที่กำลังดำเนินการจำนวน 600 แห่ง ,2.พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคอมพิวเตอร์และโครงข่าย ได้แก่โครงการบริหารอินเตอร์เน็ตสาธารณะสู่ชุมชน จำนวน 1 หมื่นแห่งทั่วประเทศ เพิ่มประสิทธิภาพ Free Wi-Fi และโครงการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงใน Smart City ภูเก็ต , 3.สร้างสังคมคุณภาพ เช่น พัฒนามหาวิทยาลัยไซเบอร์ไทยเพื่อจัดการเรียนการสอนในระบบเปิดหรือ Thai-MOOC โครงการ ICT เพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิตในชุมชนชายขอบ,

4.ส่งเสริมการใช่เทคโนโลยีดิจิตอลใน SMEs ให้ภาคอุตสาหกรรมทำธุรกรรมแบบ B2B ในช่องทางออนไลน์ โครงการ SMEs GO Online การซื้อขายมั่นใจและปลอดภัย รวมถึงการทำมาตรฐานสินค้าด้วยมาตรฐานสากลสำหรับแผนงานที่ 5. พัฒนาบริการดิจิตอลในภาครัฐ ได้แก่การปรับปรุงการดำเนินการภาครัฐและอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนที่มาใช้บริการต่างๆ , 6.พัฒนาทุนมนุษย์สำหรับโลกยุคดิจิตอล เช่นพัฒนากำลังคนด้านดิจิตอลเพื่อสร้าง Tech Startup , 7.Smart City ที่จังหวัดภูเก็ต เป็นโครงการนำร่องให้แก่การดำเนินการในจังหวัดอื่นๆ เพื่อการต่อยอดในธุรกิจการท่องเที่ยวและดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ และ 8.สนับสนุนการบริหารโครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมดิจิตอล เช่นการปรับเปลี่ยนเป็นกระทรวงดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิตอลรวมทั้งสนับสนุนการขับเคลื่อนตามนโยบายเศรษฐกิจและสังคมดิจิตอล

ทั้งที่กล่าวมาข้างต้น ทางกระทรวงจะเริ่มดำเนินการในเดือนมกราคม 2559 และจะเร่งเสนอร่างแม่บทต่างๆให้ผ่านการพิจารณาเพื่อนำแผนเหล่านั้นไปพัฒนาประเทศต่อไป

เสริมแกร่ง "ไอซีที"

นอกจากนี้เร่งพัฒนาเครือข่ายเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีดิจิตอล ด้วยการขยายบริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง (บรอดแบนด์)1.36 ล้านพอร์ต ภายในปี 2558 ครอบคลุมพื้นที่ระดับหมู่บ้านและชุมชน สร้างโอกาสการทำธุรกิจแก่ชุมชนผ่านศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชน รวมทั้งปรับเปลี่ยนโมเดลศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชน เป็นศูนย์ดิจิตอลชุมชนนำร่อง 600 แห่ง สามารถสร้างโอกาสในการเข้าถึงและนำไปใช้ประโยชน์เพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจผ่านศูนย์ ICT ชุมชนกว่า 2 แสนคน โครงการพัฒนาประสิทธิภาพเพื่อการเตือนภัยพิบัติและอุตุนิยมวิทยา เช่น จัดทำแอพพลิเคชันสภาพอากาศ Thai Weather และพัฒนาระบบเรดาร์ตรวจอากาศ สามารถตรวจวัดและพยากรณ์ฝนล่วงหน้า ครอบคลุมถึงระดับตำบลเพื่อสนับสนุนการเตือนภัยในระดับท้องถิ่น นอกจากนี้ยังมีศูนย์บริการด้าน ICT และเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการ ตลอดจนการจัดฝึกอบรมความรู้ด้าน ICT ให้กับคนพิการและด้อยโอกาส ภาคบุคลากร ได้พัฒนาบุคลากรด้านเทคโนโลยีดิจิตอลในทุกระดับผ่านหลักสูตรการฝึกอบรม เช่น การฝึกอบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพผู้ดูแลศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชนทั่วประเทศ การพัฒนาบุคลากรซอฟต์แวร์ไทยให้มีมาตรฐานในระดับสากลและตรงกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม การพัฒนาผู้ประกอบการให้ได้มาตรฐาน CMMI และ ISO 29110 การอบรมผู้ประกอบการ

ด้านสิทธิประโยชน์ทางภาษีจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) โครงการอบรมการทำ e-Commerce และหลักสูตรการอบรมประจำปีสำหรับผู้บริหาร ICT ระดับสูงภาครัฐ หลักสูตรด้าน Digital Government Capability เพื่อยกระดับและสร้างความพร้อมเกี่ยวกับรัฐบาลดิจิตอล

"ทีโอที-แคท" นำคลื่นประมูล

ขณะที่ในด้านการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงไอซีที 3 หน่วยงาน ได้แก่ บมจ.ทีโอที , บมจ. กสท โทรคมนาคม (แคท) และ บจ.ไปรษณีย์ไทย ได้ดำเนินการตามนโยบายของคณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ (คนร.) โดยทำความเข้าใจกับ ทีโอที และ แคท ด้านบริหารจัดการคลื่นความถี่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติ ซึ่งทุกฝ่ายเข้าใจตรงกันและได้คืนคลื่นความถี่ย่าน 1800 เมกะเฮิรตซ์ ของ แคท และย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์ ของ ทีโอที ให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) นำไปประมูล ซึ่งการประมูลคลื่น 4 จีจะทำให้ประชาชนเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิตอลได้สะดวกยิ่งขึ้น ทั้งยังเป็นการนำรายได้เข้ารัฐ ส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนแข่งขันกันอย่างเสรีและเป็นธรรม รวมทั้งเร่งรัดให้จัดทำแผนธุรกิจเพื่อพลิกฟื้นองค์กรและปรับโครงสร้างองค์กร ทีโอที และ แคท เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ส่วนบจ.ไปรษณีย์ไทย ได้มีการพัฒนาองค์กรจนสามารถจัดตั้งบริษัทลูกและขยายธุรกิจด้านโลจิสติกส์

ร่างก.ม.ดิจิตอลคาด3กลุ่มเสร็จQ2 ปี59

นอกจากนี้ ในปี 2558 กระทรวงไอซีทีได้ยกร่างกฎหมายเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมดิจิตอล โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มกฎหมายส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิตอล กลุ่มกฎหมายที่สนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิตอล และกลุ่มกฎหมายด้านความมั่นคง ซึ่งนับเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่ได้มีการดำเนินการจัดทำร่างกฎหมายเพื่อรองรับเศรษฐกิจและสังคมดิจิตอล ขณะนี้อยู่ระหว่างรอการพิจารณาเห็นชอบของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คาดว่าส่วนหนึ่งจะแล้วเสร็จภายในไตรมาส 2 ปี 2559

"สำหรับปี 2559 กระทรวงไอซีทียังคงสานต่อการดำเนินงานตาม 4 เป้าหมาย 6 ยุทธศาสตร์ 7 แผนงาน โดยกำหนดโครงการนำร่องเพื่อการขับเคลื่อนไว้อย่างครบถ้วน และในโอกาสปีใหม่นี้ กระทรวงไอซีทีขอมอบของขวัญแก่ประชาชนด้วยบริการแอพพลิเคชันตัวใหม่ คือ ระบบภาษีไปไหน (Thailand Government Spending) เพื่อการรับรู้ การมีส่วนร่วม และสามารถตรวจสอบได้ว่ารัฐบาลนำเงินภาษีของประชาชนไปใช้ในเรื่องใดบ้าง และระบบแจ้งข้อมูลข่าวสาร (Government News : G-News) เพื่อแจ้งข้อมูลข่าวสาร หรือมาตรการต่างๆ จากภาครัฐที่มีความถูกต้อง ฉับไว และเชื่อถือได้ไปสู่ประชาชนโดยตรง"

นี่คือแผนงานของกระทรวงไอซีทีในช่วง 1 ปีเพื่อขับเคลื่อนดิจิตอล ไทยแลนด์

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 35 ฉบับที่ 3,118
วันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2558 - 2 มกราคม พ.ศ. 2559