ผุดศูนย์ขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟ นำร่องแหลมฉบังเฟส3

30 ธ.ค. 2560 | 08:39 น.
อัปเดตล่าสุด :30 ธ.ค. 2560 | 15:39 น.
โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 ถูกออกแบบมา เพื่อเพิ่มศักยภาพของท่าเรือแหลมฉบังเอง และเป็น 1 ใน 5 โครงการที่รัฐบาลต้องการให้ดำเนินการแล้วเสร็จโดยเร่งด่วนเพื่อรองรับโครงการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) จึงเป็นแผนงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับอีอีซี และจะเพิ่มศักยภาพ ตลอดจนสมรรถนะการแข่งขันให้กับท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งเป็นท่าเรือนํ้าลึกเพียงแห่งเดียวของไทย ให้สามารถรองรับการขนส่งสินค้าเพิ่มมากขึ้นเกือบ 2 เท่า (เมื่อเทียบกับเฟส 1) เนื่องจากจะสามารถให้บริการเรือบรรทุกสินค้าที่มีขนาดใหญ่ขึ้น บรรทุกสินค้าได้มากขึ้น และท่าเรือเองก็จะสามารถรองรับจำนวนตู้สินค้าได้มากขึ้นด้วย (ดังภาพประกอบ)

tp7-3326-a แต่ก่อนที่เฟส 3 จะเริ่มขึ้นอย่างเป็นรูปเป็นร่าง หนึ่งในโครงการส่วนย่อยของการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังที่กำลังจะเปิดตัวแล้วในเร็วๆนี้ คือ โครงการบูรณาการเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าทางรางในพื้นที่ท่าเรือเข้ากับแผนการพัฒนาระบบขนส่งคมนาคมนอกเขตพื้นที่ท่าเรือ โดยการจัดสร้างศูนย์การขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟ (Single Rail Transfer Operator: SRTOพื้นที่สีฟ้าในภาพ)ภายในท่าเรือแหลมฉบัง ที่กำลังจะแล้วเสร็จและพร้อมเปิดใช้ในเร็วๆนี้ ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับตู้สินค้าได้ถึง 1 ล้านTEU/ปี และสามารถขนถ่ายตู้สินค้าได้ถึง 6 รางในเวลาเดียวกัน ทำให้สามารถลดขั้นตอนในการขนส่งตู้สินค้าและการให้บริการในท่าเรือจะมีความสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

“ศูนย์การขนส่งทางรถไฟที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้ เมื่อแล้วเสร็จจะช่วยลดการขนส่งทางถนนได้เป็นจำนวนมาก ช่วยลดความแออัดของรถบรรทุกที่มารอรับถ่ายโอนสินค้าในบริเวณท่าเรือ โดยในปีหน้า (2561) ท่าเรือแหลมฉบังจะเริ่มใช้ศูนย์การขนส่งทางรถไฟนี้ ทำให้สินค้าสามารถออกจากท่าเรือตรงไปที่สถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่องลาดกระบัง หรือ ไอซีดีลาดกระบัง ได้ทันที “พรทิพา ทวีนุช” ผู้อำนวยการ กองบริหารงานทั่วไป ท่าเรือแหลมฉบัง กล่าวและให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าท่าเรือแหลมฉบังยังได้ตัดขยายถนนเพิ่มเติมในพื้นที่เพื่อให้สอดรับกับการขยายถนนนอกท่าเรือรองรับการขนส่งสินค้าด้วยรถบรรทุก ซึ่งหลังการขยายถนนเสร็จสิ้นจะทำให้มีช่องทางเข้า-ออกท่าเรือแหลมฉบังถึง 37 ช่องทาง นอกจากนี้ยังจะมีการนำระบบอิเล็กทรอนิกส์จองและจัดคิวล่วงหน้าสำหรับรถบรรทุกสินค้ามาใช้ เพื่อหลีกเลี่ยงช่วงเวลาที่การจราจรในบริเวณท่าเรือติดขัดมากและเพื่อประหยัดเวลาในการบริหารคิวรถบรรทุกสินค้า

ปัจจุบันท่าเรือแหลมฉบังติดอันดับ Top 20ท่าเรือขนส่งสินค้าที่ใหญ่ที่สุดในโลก แต่ถ้าพูดถึงการเป็นท่าเรือส่งออกรถยนต์ ท่าเรือแหลมฉบังใหญ่เป็นอันดับ 5ของโลก มีสมรรถนะรองรับรถยนต์ส่งออก 1.3 ล้านคัน/ปี แต่หากท่าเรือเฟส 3แล้วเสร็จจะมีขีดความสามารถในการรองรับรถยนต์ส่งออกได้มากถึง 3 ล้านคัน/ปี

โปรโมทแทรกอีบุ๊ก-6-15

“มีบริษัทเอกชนจำนวนมากแสดงความสนใจอยากจะเข้ามาร่วมลงทุนในโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังเฟส3 รวมทั้งเอกชนจากต่างประเทศ เช่น จีน และเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นแนวโน้มที่ดี ในส่วนของการทำสัญญาเช่าท่าเรือของแต่ละเฟสนั้นอาจแตกต่างกันไป ยกตัวอย่างเช่นเฟส 1มี 11ท่า เรามีสัญญาแยกย่อยออกไปสำหรับแต่ละท่า ขณะที่เฟส 2 เราทำสัญญา 6 ท่าให้กับ 1บริษัทไปเลย (ฮัทชิสัน) ส่วนเฟส3 จะเป็นอย่างไรนั้น เรากำลังศึกษาอยู่ว่าจะใช้รูปแบบใด”

ทั้งนี้ ปัจจุบันได้มีการจัดทำรายงานการศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเสร็จเรียบร้อยแล้ว พร้อมนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นประธานคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(กนศ.) เพื่อพิจารณาอนุมัติ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,326 วันที่ 28 - 30 ธันวาคม พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9-10