thansettakij
TCDC เผย 9 อุตสาหกรรมสร้างสรรค์มาแรง

TCDC เผย 9 อุตสาหกรรมสร้างสรรค์มาแรง

29 ธ.ค. 2560 | 00:45 น.
อัปเดตล่าสุด :29 ธ.ค. 2560 | 07:44 น.
ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) เจาะลึก 9 อุตสาหกรรมสร้างสรรค์โลกยุคปัจจุบันที่สามารถสร้างมูลค่าได้มหาศาล และเป็นที่นิยมของกระแสโลก ได้แก่ ศิลปะและหัตถกรรม (Art & Craft) ความงามและแฟชั่น (Beauty & Fashion) สุขภาพและความเป็นอยู่ (Health & Wellbeing) การขนส่งและวิวัฒนาการของเทคโนโลยีท่องอวกาศ (Transport & Space) อุตสาหกรรมค้าปลีก (Retail) ท่องเที่ยว (Travel) สถาปัตยกรรมและการตกแต่ง (Architecture & Decoration) สื่อและความบันเทิง (Media & Entertainment) และอาหาร (Food) โดยผู้ประกอบการในแต่ละอุตสาหกรรมดังกล่าว ต่างต้องปรับตัวเพื่อให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปตามนวัตกรรม เทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้น และวิถีชีวิต ไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไป ผู้สนใจสามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ในหนังสือบทสรุป “เจาะเทรนด์โลก 2018 IN/TO the future” (INdividual and Together  with the New State of Mind) โดยดาวน์โหลด e-Book ได้ฟรีที่ www.tcdc.or.th หรือแอปพลิเคชัน TCDC Digital Resource บนกูเกิลเพลย์ (Googleplay) และแอปสโตร์ (Appstore)

นายกิตติรัตน์ ปิติพานิช รักษาการผู้อำนวยการศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ นายกิตติรัตน์ ปิติพานิช รักษาการผู้อำนวยการศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) กล่าวว่า กระแสโลกที่เปลี่ยนผันในทุกปีส่งผลกระทบโดยตรงต่อแนวโน้มพฤติกรรมผู้บริโภค อันนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจ ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ ในฐานะศูนย์กลางแห่งการจุดประกายความคิดสร้างสรรค์ให้สังคมไทย จึงได้ทำการรวบรวมข้อมูลเทรนด์ใหญ่ของโลก กระแสโลก ศึกษาวิจัย และสรุปสู่การประยุกต์ใช้จริงทางธุรกิจและในชีวิตประจำวันเพื่อเผยแพร่ความรู้ที่เป็นประโยชน์แก่สังคมไทย โดยในปีนี้ ได้ทำการเจาะลึกถึง 9 อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของโลกยุคปัจจุบัน ที่สามารถสร้างมูลค่าได้มหาศาล และเป็นที่นิยมของกระแสโลก ดังนี้

ภาพประกอบ_Art & Craft (2) 1. ศิลปะและหัตถกรรม (Art & Craft) สินค้าหมวดหมู่งานฝีมือและหัตถกรรมของประเทศไทย สร้างมูลค่าถึง 87,306 ล้านบาท ในปี 2557 เมื่อนำมาผนวกกับทิศทางเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศไทยในปัจจุบันแล้วนั้น อุตสาหกรรมศิลปะและหัตถกรรมจะเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีความโดดเด่น โดยต้องเน้นการสร้างมูลค่าเพิ่มผ่านการใช้ประโยชน์จากจุดเด่นของแต่ละภูมิภาค ประสานกระบวนการผลิตแบบใหม่เข้ากับทักษะฝีมือดั้งเดิมอย่างเข้าใจ ซึ่งสินค้าศิลปะและหัตถกรรมนี้สามารถตอบโจทย์กระแสโลกที่หันมาให้ความนิยมกับสินค้าดีไอวายได้อย่างดีเยี่ยม

ภาพประกอบ_Beauty&Fashion (2) 2. ความงามและแฟชั่น (Beauty & Fashion) ประเทศไทยมีอุตสาหกรรมความงามขนาดใหญ่ที่สุดในอาเซียน และเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนทั้งภูมิภาค มีอัตราการเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยโตขึ้น 6.5 เปอร์เซ็นต์ มีมูลค่ารวม 150,000 ล้านบาทในปี 2558 ในขณะที่อุตสาหกรรมแฟชั่นของประเทศไทยสร้างมูลค่าถึง 18,000 ล้านบาทในปี 2559 และมีแนวโน้มที่จะเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามทั้งอุตสาหกรรมความงามและแฟชั่นต่างมีการปรับเปลี่ยนตามกระแสโลก โดยอินเทอร์เน็ตและข้อมูลบนโลกไซเบอร์เป็นปัจจัยหลักที่กระทบกับทั้งสองอุตสาหกรรม อาทิ ปรากฏการณ์วล็อกเกอร์ (Vlogger) รีวิวหรือสอนแต่งหน้า ที่มีอิทธิพลอย่างมากต่อการเลือกซื้อเครื่องสำอาง หรือแม้แต่แฟชั่นที่ใช้คำพูดหรือแนวคิดของบุคคลที่มีชื่อเสียงในปัจจุบัน มาเป็นคอนเซ็ปต์ในการออกแบบ เพื่อสะท้อนถึงตัวตนของแบรนด์

ภาพประกอบ_Food (2) 3. สุขภาพและความเป็นอยู่ (Health & Wellbeing) ตลาดสินค้าและธุรกิจบริการสุขภาพของประเทศไทยมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สามารถสร้างรายได้ไม่ต่ำกว่า 100,000 ล้านบาท ประกอบกับความได้เปรียบของประเทศไทยในการเป็นผู้นำด้านการจัดการบริการสุขภาพระดับโลก ที่มีสถานพยาบาลที่ได้รับรองด้านคุณภาพและบริการโดยมาตรฐานสากลและรางวัลระดับโลกถึง 53 แห่ง เมื่อผนวกกับธุรกิจด้านสปาและนวดในปี 2558 ที่มีอัตราการขยายตัวจนสูงถึง 31,000 ล้านบาท และมีความต้องการใช้บริการและซื้อผลิตภัณฑ์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยอุตสาหกรรมด้านสุขภาพและความเป็นอยู่ จะตอบโจทย์กระแสโลกที่มีผู้คนทุกข์ทรมานจากความเครียดและวิตกกังวลเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

eBook - TCDC TREND2018 4. การขนส่งและวิวัฒนาการของเทคโนโลยีท่องอวกาศ (Transport & Space) ปี 2559 ที่ผ่านมาถือเป็นจุดเปลี่ยนด้านเทคโนโลยีที่กระทบต่อการขนส่งเชิงพาณิชย์ ประกอบกับสถานการณ์การผลิตน้ำมันดิบ ที่ไม่สอดคล้องกับความต้องการที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้หลายประเทศให้ความสนใจกับรถยนต์พลังงานทางเลือก หรือรถยนต์พลังงานสะอาด ซึ่งสำหรับประเทศไทยในครึ่งปีแรก 2560 มีการส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์กว่า 7,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เติบโตขึ้นจากครึ่งปีแรก 2559 ถึง 12 เปอร์เซ็นต์ อย่างไรก็ตามหน่วยวิจัยอีไอซี (Economic Intelligence Center) คาดว่าต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 10 ปีที่รถยนต์ไฟฟ้าจะสามารถเริ่มทำตลาดในไทย ซึ่งสิ่งที่ไทยควรทำคือ การสร้างระบบนิเวศและวางโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่ออุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าให้พร้อม ในขณะเดียวกันต่างประเทศกำลังให้ความสนใจกับการขนส่งอวกาศ และการขนส่งสาธารณะความเร็วสูง อย่าง ไฮเปอร์ลูป

ภาพประกอบ_Retail (2) 5. อุตสาหกรรมค้าปลีก (Retail) พฤติกรรมและทัศนคติของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปทำให้ร้านค้าปลีกทั่วโลกปิดตัวลงเป็นจำนวนมาก สำหรับอุตสาหกรรมร้านค้าปลีกในไทยเองก็ต้องปรับตัวครั้งใหญ่ เมื่อผู้บริโภคหันมาซื้อผ่านอีคอมเมิร์ซมากขึ้น จนทำให้มูลค่าการซื้อขายออนไลน์เติบโตขึ้นมากกว่า 100 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่ยอดซื้อสินค้าจากร้านค้าที่มีหน้าร้านเติบโตเพียง 10 เปอรเซ็นต์ ทำให้มูลค่าธุรกิจอีคอมเมิร์ซในประเทศไทยมีมูลค่าถึงราวๆ 3 ล้านบาท ฉะนั้นแล้วธุรกิจค้าปลีกต้องเร่งปรับตัว อาทิ เน้นการสร้างประสบการณ์ร่วมระหว่างลูกค้ากับแบรนด์ หรือแม้แต่การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาอำนวยความสะดวกผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น

6. ท่องเที่ยว (Travel) อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในประเทศไทยยังคงสร้างรายได้เข้าประเทศได้อย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2561 กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาแห่งประเทศไทยคาดการณ์ว่าจะมีรายได้จากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวถึง 3.1 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 2.7 ล้านล้านบาทในปี 2560 ที่ผ่านมา พร้อมคาดการณ์ว่าอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจะครองสัดส่วนจีดีพีไทยถึง 14.3 เปอร์เซ็นต์ในอีก 10 ปีข้างหน้า อย่างไรก็ตามกระแสที่มาแรงในวงการการท่องเที่ยวคือ การท่องเที่ยวแบบสั่งตัด (Tailor-made Travel) ที่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมต้องให้ความสนใจ และพร้อมให้บริการเพื่อตอบโจทย์ความต้องการเฉพาะกลุ่มของนักท่องเที่ยวให้ได้มากที่สุด

7. สถาปัตยกรรมและการตกแต่ง (Architecture & Decoration) กระแสโลกทางด้านอุตสาหกรรมสถาปัตยกรรมและการตกแต่งที่กำลังได้รับความสนใจ คือ เมืองสีเขียว (Green Urban) เพื่อการเป็นเมืองแห่งอนาคตและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สร้างคุณค่าในระยะยาวที่ยั่งยืน และอีกหนึ่งกระแสสำคัญคือ การออกแบบแบบมัลติฟังก์ชั่น (Multifunction) เพื่อรองรับการใช้งานอย่างหลากหลายรูปแบบ และตอบโจทย์ผู้ใช้ในทุกเพศ ทุกวัย ทุกเชื้อชาติ วัฒนธรรม

8. สื่อและความบันเทิง (Media & Entertainment) ในยุคของโซเชียลมีเดียปัจจุบัน อุตสาหกรรมสื่อและความบันเทิงมีการเปลี่ยนแปลงอย่างตลอดเวลา โดยในปี 2560 มีผู้ใช้งานเฟซบุ๊กถึง 76 เปอร์เซ็นต์ของผู้ใช้สื่อทั้งหมด รองลงมาคือ อินสตาแกรม 51 เปอร์เซ็นต์ และทวิตเตอร์ 42 เปอร์เซ็นต์ โดยผู้บริโภคให้ความสนใจกับไลฟ์ทีวีและเสพข้อมูลบนหน้าจอมากขึ้นจนทำให้บทบาทสื่อและการโฆษณาที่เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายเปลี่ยนแปลงไป เกิดสื่อรูปแบบใหม่คือโฆษณาที่ถูกปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ทางการตลาดตามสื่อดิจิทัลที่ครองโลกแห่งภาพและวิดีโอ

9. อาหาร (Food) จากเทรนด์ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเกี่ยวกับการเลือกทานอาหารเพื่อสุขภาพ ที่สร้างมูลค่ากว่า 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2560 จนมาถึงกระแส ฟาร์มถึงโต๊ะอาหาร (Farm to Table) อาหารออร์แกนิก (Organic) และบรรจุภัณฑ์รักษ์โลก (Sustainable Packaging) ทำให้ธุรกิจอาหารที่จะเกิดในปี 2561 ต้องเป็นอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายและจิตใจควบคู่กัน นอกจากนี้กระแสจากโลกโซเชียลมีเดียในรูปแบบ ฟู้ดเน็ทเวิร์ค (Food Network) หรือการแชร์เมนูและประสบการณ์ทำอาหารบนโลกออนไลน์ ทำให้ผู้บริโภคหันมาทำอาหารเพื่อบริโภคเองมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ทั้งหมดนี้เป็นส่วนหนึ่งของหนังสือบทสรุป “เจาะเทรนด์โลก 2018 IN/TO the future” (INdividual and TOgether with the New State of Mind) ที่ทางศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) ได้ทำการศึกษาวิจัย และสรุปเพื่อเผยแพร่ความรู้ที่เป็นประโยชน์แก่สังคมไทย เพื่อให้สามารถเข้าใจ และรู้เท่าทันความต้องการของตลาดโลก โดยผู้ที่สนใจสามารถดาวน์โหลดโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายจาก www.tcdc.or.th หรือแอปพลิเคชัน TCDC Digital Resource บนกูเกิลเพลย์ (Googleplay) และแอปสโตร์ (Appstore) e-book