สอบ 25 โรงนม-สหกรณ์สำแดงซื้อขายนํ้านมโคเป็นเท็จยังวุ่น เกษตรกรอ้างอนุฯนมโรงเรียนตัดสินแล้วไร้ความผิด ฟ้องกลับให้ตรวจสอบถูกกลั่นแกล้งจากผู้มีอิทธิพล อีกด้านรอง ผบก.กองปราบฯยันทำตามหน้าที่ ระบุผลสอบคืบ 5 รายส่อพิรุธหลักฐานซื้อขายส่อเท็จ
จากที่ “ฐานเศรษฐกิจ”ได้เปิดประเด็น “25 ผู้ประกอบการเบี้ยวหมายเรียกชี้แจงกองปราบฯ ส่อพิรุธปั้นตัวเลขเท็จ งาบงบนมโรงเรียน 1.4 หมื่นล้าน” ในหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 3,300 วันที่ 28-30 กันยายน 2560 ล่าสุดมีความคืบหน้า
[caption id="attachment_172273" align="aligncenter" width="503"]
นัยฤทธิ์ จำเล[/caption]
นายนัยฤทธิ์ จำเล ประธานสหกรณ์โคนมกำแพงแสน จำกัด 1 ในผู้ประกอบการ 25 ราย และในฐานะกรรมการในคณะอนุกรรม การบริหารนมทั้งระบบ เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าจากที่นายกิตติศักดิ์ เกียรติไกรวัลศิริ นายกสมาคมผู้ผลิตนม ยู.เอช.ที ได้ไปแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษกับกองบังคับการปราบปราม เพื่อให้ดำเนินคดีกับเกษตรกร โรงนมเอกชน และศูนย์รวบรวมนํ้านม 25 ราย ระบุมีการซื้อขายนํ้านมโคเป็นเท็จ ซึ่งทางกองปราบฯ มีหนังสือเรียกผู้เกี่ยวข้องมาสอบสวน ซึ่งเรื่องนี้มองว่ามีความไม่ชอบธรรม ทางกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมจึงมีหนังสือร้องขอความเป็นธรรมถึงรองนายกรัฐมนตรีให้ตรวจสอบข้อเท็จจริง
ในระหว่างการนั้นทางกรมส่งเสริมสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการบริหารนมทั้ง ระบบมีการประชุม เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2560 ได้มีการตรวจสอบ เช่นเดียวกัน พบว่ามีหลักฐานการซื้อขายตรงกับรายงาน จำนวน 13 ราย ส่วนที่เหลือไม่สามารถตรวจสอบได้ ทางคณะอนุกรรมการฯ จึงให้ส่งเอกสารภายในวันที่ 25 ธันวาคมที่ผ่านมา ซึ่งแต่ละบริษัทได้ส่งมาครบแล้ว และผลการพิจารณามีมติเห็นชอบทั้ง 25 รายไม่มีความผิด
“ล่าสุดทางสำนักนายกรัฐมนตรีได้ส่งเรื่องมายังกองปราบปราม ทางกองปราบฯ มีหนังสือลงวันที่ 11 มกราคม 2561 ให้ตรวจสอบและปราบปรามผู้มีอิทธิพลในวงการนมโรงเรียนซึ่งกีดกันและกลั่นแกล้งเกษตรกรรายอื่นที่ไม่ใช่พวกให้ได้รับความเดือดร้อนโดยอาศัยความสนิทสนมกับนายตำรวจในกองบังคับการปราบปรามออกหมายเรียกให้ไปรายงานตัวโดยไม่ทราบข้อกล่าวหา จึงมีการแต่งตั้ง พ.ต.อ.สุวัฒน์ แสงนุ่ม รองผู้บังคับการกองปราบปราม เป็นประธานกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ในวันที่ 26 มกราคม 2561 จะเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องมาให้ถ้อยคำ”
ด้าน พ.ต.อ.ชาคริต สวัสดี รองผู้บังคับการกองปราบปราม เผยว่า มีผู้มาร้องเรียนและขอให้ทำการตรวจสอบในโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน ที่รัฐบาลใช้งบอุดหนุนในแต่ละปี 1.4 หมื่นล้านบาท พบกลุ่มผู้ซื้อและผู้ขายที่มีพฤติกรรมน่าสงสัยว่า จะมีการแจ้งปริมาณการซื้อขายนํ้านมโคอันเป็นเท็จไม่เป็นไปตามเงื่อนไขหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม (มิลค์บอร์ด) ประกาศ รวมถึงขั้นตอนการจัดทำบันทึกข้อตกลง (เอ็มโอยู) การซื้อขายนํ้านมโค ปี 2559/2560 ลงวันที่ 28 กันยายน 2559 เพื่อประโยชน์แก่ตนเองและพวกพ้อง ทางกองปราบฯได้ออกหมายเรียกให้มาพบพนักงานสอบสวนแต่กลับเพิกเฉย จึงขอให้กรมส่งเสริมสหกรณ์ตรวจสอบสอบกลุ่มดังกล่าวนี้ว่ามีการซื้อขายนํ้านมโคเป็นเท็จหรือไม่
“ผลจากรายงานที่กรมส่งเสริมได้รายงานมาที่กองปราบฯ พบว่าในจำนวน 25 ราย ยังมี 5 ราย หลักฐานการซื้อขายต่างจากรายงาน ซึ่งในจำนวนทั้ง 5 รายนี้จะเรียกมาชี้แจง ถ้าไม่มาก็จะออกหมายจับต่อไป ทั้งนี้ยืนยันเป็นการตรวจสอบข้อเท็จจริงตามหน้าที่ เนื่องจากมีคนร้องเรียนก็ตรวจว่ามีมูลตามข้อกล่าวหาหรือไม่ แต่ผลที่ตามมาคือผมถูกตรวจสอบว่าทำหน้าที่ตามกฎหมายถูกต้องหรือไม่ แม้กระทั่งผู้บังคับบัญชาก็มาตรวจสอบ เรื่องนี้ยืนยันได้ว่าไม่ได้กลั่นแกล้งหรือรังแกใคร”
อย่างไรก็ตามผู้สื่อข่าวเห็นว่าข้อมูลทั้ง 2 ฝ่ายขัดแย้งกัน จึงได้สอบถามไปยังนายเชิดชัย พรหมแก้ว รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ที่ได้รับมอบหมายจากอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ให้เป็น
ประธานอนุกรรมการบริหารนมโรงเรียนฯเพื่อสอบถามว่าข้อมูลฝ่ายใดถูกหรือผิด ซึ่งนายเชิดชัยแจ้งว่าติดประชุมไม่สามารถให้ข้อมูลได้
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,333 วันที่ 21 - 24 มกราคม พ.ศ. 2561