ไอเดียโดนใจผู้บริโภค อิฐบล็อก ช่องลม จากฟางข้าว

07 มี.ค. 2561 | 13:30 น.
อัปเดตล่าสุด :07 มี.ค. 2561 | 21:43 น.
การทำธุรกิจใช่ว่าจะประสบความสำเร็จได้เพียงชั่วข้ามคืน แต่จะต้องอาศัยระยะเวลาและความอดทน ที่สำคัญจะต้องหากลุ่มลูกค้าที่ต้องการผลิตภัณฑ์นั้นๆให้เจอว่าอยู่ที่ใด เพื่อตอบรับความต้องการได้อย่างถูกจุด บริษัท เอมเฟรคแฟคทรอรีฯ (m flex factory) เกิดขึ้นมาจากความสนุกในการใช้ไอเดียสร้างสรรค์ของ “มนิษฐา ไรแสง” นักออกแบบที่ต้องการเห็นไอเดียของน้องในออฟฟิศเกิดเป็นผลงานที่สามารถขายได้จริงในเชิงพาณิชย์จนกลายเป็นจุดเริ่มต้นเล็กๆที่กำลังจะกลายเป็นธุรกิจมูลค่าหลักล้านบาทในปัจจุบัน

++ต่อยอดไอเดียสู่ธุรกิจ
มนิษฐา ซึ่งปัจจุบันมีตำแหน่งเป็นเจ้าของธุรกิจ และผู้ก่อตั้ง บริษัท เอมเฟรคฯ กล่าวกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ด้วยความที่ตนเองทำงานเป็นนักออกแบบ หรือดีไซเนอร์จึงทำให้มีไอเดียความคิดมากมายเกิดขึ้น โดยที่วันหนึ่งต้องการต่อยอดไอเดียความคิดของน้องที่ทำงานด้วยกันให้ได้มีโอกาสทดลองทำออกมาเพื่อสร้างรายได้ ดังนั้น จึงเลือกที่จะเช่าพื้นที่ขนาดไม่ใหญ่มากในการทำเป็นห้องทดลองเชิงปฏิบัติการ (Workshop) ที่ตลาดสมบัติบุรี ซึ่งมีหน้าร้านที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์ตกแต่งบ้าน และสวนอยู่แล้วเป็นฐานการผลิต

[caption id="attachment_264563" align="aligncenter" width="335"] มนิษฐา ไรแสง มนิษฐา ไรแสง[/caption]

ทั้งนี้ วัตถุประสงค์หลักของเอมเฟรค ก็คือ การนำวัสดุเหลือใช้จากธรรมชาติมาผสมผสานกับวัสดุก่อสร้างที่เป็นแบบสังเคราะห์ให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่ ภายใต้เงื่อนไขของความยืดหยุ่น (Flexible) ที่สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความต้องการของลูกค้า โดยมีกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการผลิตภัณฑ์ที่สามารถสร้างสรรค์ได้ด้วยตนเอง (D.I.Y.)อย่างไรก็ดีด้วยความที่ไม่ใช่นักธุรกิจ จึงไม่ได้มีการวางแผนเรื่องการทำตลาด เมื่อเวลาผ่านไป 6-12 เดือน จึงเริ่มไม่ไหว เพราะมีรายได้ไม่พอกับรายจ่าย

อย่างไรก็ตาม จุดเปลี่ยนสำคัญของเอมเฟรคคือ ช่วงต้นปี 2560 ซึ่งแม้ว่ายอดขายแทบจะไม่มี แต่ลูกค้าที่มาเห็นผลิตภัณฑ์หน้าร้านให้การตอบรับที่ดีมาก และให้จุดสังเกตว่าเหตุใดผลิตภัณฑ์ที่ดีจึงมาหลบอยู่ในที่ที่ไม่ค่อยมีใครได้รู้จัก หรือได้เห็น ทำให้เริ่มมองเห็นแนวทางในการทำตลาด ดังนั้น จึงเริ่มวางแผนธุรกิจโดยมีการกำหนดแผนเป็นรายไตรมาส เพื่อทำให้ผลิตภัณฑ์เข้าถึงกลุ่มผู้บริโภค หลังจากนั้นจึงเริ่มทำตลาดออนไลน์ทั้งทางเว็บไซต์ และเฟซ บุ๊ก ซึ่งได้ผลลัพธ์ที่ดีมาก บวกกับการที่ได้เข้าร่วมฝึกอบรมกับศูนย์ความรู้ด้านการออกแบบ และความคิดสร้างสรรค์ (TCDC) ส่งผลให้ได้นำกลับมาพัฒนาผลิตภัณฑ์จนกลายเป็น “อิฐบล็อกช่องลมที่ทำจากฟางข้าว”

“รูปแบบอิฐบล็อกช่องลมจากฟางข้าวของบริษัทเป็นผลิตภัณฑ์ที่ถูกออกแบบให้ตอบรับกับตลาดยุคใหม่ เช่น การทำให้เป็นรูปสามเหลี่ยม หกเหลี่ยม และวงกลม เป็นต้น อีกทั้งลูกค้ายังสามารถกำหนดได้เอง (Custom) ว่าต้องการรูปทรงแบบไหน หรือสีอะไรนอกเหนือไปจากผลิตภัณฑ์พื้นฐานของบริษัทที่จำหน่ายอยู่ จากเดิมที่ในตลาดจะเป็นรูปแบบและลวดลายเดิมๆ และยังไม่มีการกำหนดจำนวนของการสั่งขั้นต้น ทำให้ตอบโจทย์ลูกค้าได้เป็นอย่างดี”

TP13-3345-A ++พัฒนาการผลิตรองรับออร์เดอร์
มนิษฐา กล่าวต่อไปอีกว่า จากกระแสตอบรับจากลูกค้าที่ดีเป็นอย่างมาก ทำให้ปี 2561 บริษัทมีแผน หรือเป้าหมายทางธุรกิจในการปรับปรุงองค์กรเพื่อขยายฐานการผลิตให้ตอบรับกับความต้องการของลูกค้า เพราะปัจจุบันมีออร์เดอร์จากลูกค้าสั่งเข้ามาเป็นจำนวนมาก ซึ่งเร็วที่สุดลูกค้าจะต้องรอคิวประมาณ 2 เดือน ถึงจะได้รับผลิตภัณฑ์หากเป็นออร์เดอร์ขนาดใหญ่ โดยบริษัทจะเพิ่มจำนวนแรงงานและแบ่งงานอย่างชัดเจน เช่น ทีมผลิตออเดอร์สำหรับลูกค้ารายใหญ่ และทีมผลิตสำหรับลูกค้ารายเล็ก

รวมถึงการขยายโรงงานการผลิตในช่วงกลางปี โดยล่าสุดอยู่ในขั้นตอนของการหาทำเลที่เหมาะสมซึ่งตอบโจทย์กับความต้องการให้เป็นโรงานที่ร่มรื่น มีบรรยากาศที่สบายท่ามกลางธรรมชาติ นอกจากนี้ ยังเตรียมสร้างจุดสต๊อกและกระจายผลิตภัณฑ์เพิ่มอีก 2 แห่งที่จังหวัดเชียงใหม่ และภูเก็ต เพื่อให้ลูกค้าได้เข้าถึงผลิตภัณฑ์ของบริษัทมากยิ่งขึ้น ที่สำคัญยังช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายเรื่องต้นทุนในการขนส่งให้กับลูกค้าได้อีกด้วย เนื่องจากปัจจุบันลูกค้าจะต้องเป็นผู้รับภาระดังกล่าวเองทั้งหมดจากการส่งผลิตภัณฑ์ทั่วประเทศไทย

หลังจากนั้น เมื่อโครงสร้างภายในมีความแข็งแกร่ง บริษัทก็จะเริ่มเดินหน้าทำตลาดมากยิ่งขึ้นในส่วนของออฟไลน์ เช่น การออกงานแสดงสินค้าเกี่ยวกับของตกแต่งบ้าน จากเดิมที่ไม่ได้ทำตลาดในรูปแบบดังกล่าวเลย เพราะเกรงว่าจะมีกำลังการผลิตที่ไม่เพียงพอ ขณะที่ช่องทางออนไลน์ก็จะมีการพัฒนาเนื้อหาในเว็บไซต์ และอัพเดตผลิตภัณฑ์ในเฟสบุ๊กอย่างต่อเนื่อง เพื่อกระตุ้นความต้องการ และให้ความรู้กับลูกค้าว่าอิฐบล็อกช่องลมจากฟางข้าวสามารถนำไปทำอะไร และมีรูปแบบอะไรให้เลือกบ้าง

“ช่วงแรกที่เริ่มทำธุรกิจมีรายได้ไม่ถึงหลักพันบาทต่อเดือน แต่เมื่อเริ่มทำตลาดอย่างเป็นระบบทำให้ช่วงปลายปี 60 มีรายได้เป็นแสนบาทต่อเดือน และเพิ่มเป็น 5 แสนบาทต่อเดือนในช่วงเริ่มต้นปี 2561 จนถึงปัจจุบัน โดยคาดว่าหลังจากไตรมาสแรกไปแล้วน่าจะมีรายได้ขยับเข้าสู่หลักล้านบาทต่อเดือน และในปี 2562 คาดว่ารายได้จะอยู่ที่ประมาณเดือนละ 3 ล้านบาท หรือปีละ 36 ล้านบาท ซึ่งก็ต้องขึ้นอยู่กับโอกาสและความสามารถของบริษัท เนื่องจากที่ผ่านมารายได้ของบริษัทหายไปกว่า 50% จากการปฏิเสธออร์เดอร์จากลูกค้า เพราะไม่สามารถผลิตได้ทันตามความต้องการ แต่เมื่อพัฒนาฐานการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็จะสามารถรับออร์เดอร์จากลูกค้าได้อย่างเต็มที่”

แบนเนอร์ชั่วโมงฐานเศรษฐกิจ01-3-1 ++น้ำหนักเบาทนทาน
มนิษฐา กล่าวต่ออีกว่า นวัตกรรมอิฐบล็อกช่องลมจากฟางข้าวเกิดขึ้นจากความต้องการลดนํ้าหนักของอิฐบล็อกที่ทำจากคอนกรีต โดยวิเคราะห์จากส่วนผสมที่เป็นกากใยทำให้รู้ว่าสามารถนำวัสดุจากธรรมชาติเข้าไปทดแทนการใช้ทรายได้ ซึ่งบริษัทเลือกใช้ฟางข้าวเพื่อสร้างความแตกต่าง เนื่องจากมีหลายแห่งใช้หญ้าแฝก หรือแกลบมาเป็นส่วนผสมเพื่อลดนํ้าหนัก โดยผลลัพธ์ที่ได้คืออิฐบล็อกช่องลมที่มีขนาดเบาลง 25% และพื้นผิวขรุขระที่ดูมีเอกลักษณ์ ส่งผลให้ถูกใจกลุ่มลูกค้าที่เป็นนักออกแบบ ขณะเดียวกันบริษัทก็มีอิฐบล็อกที่เป็นแบบฟางบดละเอียดที่ให้พื้นผิวเรียบด้วย เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่มีความชอบแตกต่างกัน

“กุญแจที่ไขประตูไปสู่ความสำเร็จมาจากคำว่า Do all things with love ซึ่งหมายถึงการให้เราทำทุกอย่างด้วยความรัก โดยจะนำมาซึ่งความสุขในการทำงาน และก่อให้เกิดรายได้อีกมหาศาลตามมา”

สัมภาษณ์ : นิธิโรจน์ เกิดบุญภาณุวัฒน์
ภาพ : ประเสริฐ ขวัญมา
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,345 วันที่ 4 - 7 มีนาคม พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว