‘ฉัตรชัย’แจง 2 ประเด็นร้อน ซื้อยาง1แสนตันพ่วงไอยูยู
ถือเป็น 2 ประเด็นร้อนของประเทศในเวลานี้ ที่มีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นแม่งานหลักในการแก้ไขปัญหาทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราคายางพาราตกต่ำ การแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม หรือ IUU Fishing ที่สหภาพยุโรป(อียู)ให้ใบเหลืองกับประเทศ และให้เร่งแก้ไขปัญหาให้เข้าตา มิฉะนั้นจะถูกให้ใบแดง และจะถูกห้ามส่งสินค้าประมงไทยเข้าอียู ดังนั้นผู้ที่จะตอบคำถามความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาข้างต้น หนีไม่พ้น "พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่เปิดห้องให้สัมภาษณ์พิเศษกับ "ฐานเศรษฐกิจ"เมื่อ 21 มกราคมที่ผ่านมา
แจงขั้นตอนซื้อยาง
สำหรับในส่วนของการแก้ไขปัญหายางพาราราคาตกต่ำ ที่รัฐบาลได้ประกาศจะเข้าซื้อยางในราคาชี้นำตลาดที่ 45 บาทต่อกิโลกรัมจากเกษตรกรโดยตรง จำกัดที่คน/รายละ 150 กิโลกรัม โดยในส่วนของยางแผ่นดิบชั้น 3 จะรับซื้อในราคา 45 บาทต่อกิโลกรัม ส่วนน้ำยางสด และยางก้อนถ้วยในราคาลดหลั่นลงมาเฉลี่ยที่ 41-42 บาทต่อกิโลกรัม ดีเดย์จะเริ่มรับซื้อตั้งแต่วันนี้ 25 มกราคานี้นั้น
"ในส่วนของงบที่จะใช้ในการดำเนินการซื้อยางครั้งนี้ตั้งไว้ที่ 4.5 พันล้านบาท เพื่อซื้อยางจากเกษตรกร 1 แสนตัน เมื่อรวมกับค่าดำเนินการ เช่น ค่าจ้างเอกชนแปรสภาพน้ำยางสดเป็นน้ำยางข้น หรือยางแบบอื่นๆ ค่าขนส่ง ค่าเบี้ยเลี้ยงเจ้าหน้าที่ และค่าดำเนินการอื่นๆ รวมแล้วจะตกประมาณ 5.3 พันล้านบาท ระยะเวลาบริหารจัดการโครงการนี้ 1 ปี ซึ่งในส่วนของโรงงานแปรสภาพยางเราต้องมีการคัดเลือก โดยเมื่อยางเข้ามาแล้วต้องแปรสภาพ และเก็บรักษาไว้ระยะสั้น ๆ ก่อนส่งให้โรงงานแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อให้ 8 กระทรวงนำไปใช้ต่อไป"
เงินซื้อ4.5พันล.ยังไม่ลงตัว
สำหรับงบประมาณที่จะเข้าซื้อยางจำนวน 1 แสนตัน งบ 4.5 พันล้านบาทในครั้งนี้ ขณะนี้เรื่องยังอยู่ในขั้นตอนของสำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง และกฤษฎีกาต้องไปดูในแง่ของกฎหมายว่าจะสามารถใช้เงินจากกองทุนการยางแห่งประเทศไทย(กยท.)ได้หรือไม่ ในช่องทางไหน หรือจะได้มากน้อยเพียงใด ซึ่งหากสามารถใช้ได้ก็โอเค แต่หากใช้ไม่ได้ หรือใช้ได้แต่ไม่เพียงพอต้องขอเพิ่มเติม กระทรวงการคลังก็ต้องไปดูเพื่อจัดงบประมาณมาสนับสนุน
8 กระทรวงใช้ 7 หมื่นตัน
ส่วน 8 กระทรวงที่จะนำผลิตภัณฑ์ยางไปใช้ "พล.อ.ฉัตรชัย"อธิบายในรายละเอียดว่า จะใช้งบประมาณของแต่ละกระทรวงมาจัดซื้อ ซึ่งจะเป็นเงินคนละส่วนกับเงินที่จะนำมาใช้ในการซื้อยางจากเกษตรกร 4.5 พันล้านบาท โดยในหลักการ ส่วนราชการที่นำผลิตภัณฑ์ยางไปใช้งาน ต้องมีแผนงาน/โครงการที่จะนำยางไปใช้เช่น ทำสนามฟุตซอล ทำสนามเด็กเล่น ยางปูพื้นบ่อเลี้ยงปลา ต้องเปิดให้เอกชนเข้าประมูลงานตามระเบียบการพัสดุ เพื่อประกวดราคา และหาผู้รับจ้างทำ เพื่อที่โรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์ยาง จะได้แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ยางต่างๆ ตามที่ต้องการและนำไปใช้งานต่อไป
"สรุปง่ายๆ ก็คือ ส่วนราชการต้องมีขบวนการจัดซื้อจัดจ้างก่อน ได้ตัวผู้รับจ้างแล้วค่อยมาเอายางไปไป เบื้องต้นจากข้อมูลที่รวบรวมได้ประมาณกว่า 2 หมื่นตัน แต่ขณะเดียวกันทางกระทรวงมหาดไทยโดยท่านรัฐมนตรีว่าการ ก็ให้สัญญามากับผมว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศเขามีความต้องการยางไปใช้จำนวนมาก ตรงนั้นตกถึงประมาณ 5 หมื่นตันได้ ทั้งหมดนี้เราจะใช้งบประมาณปี 2559 ยังไม่ได้ไปใช้งบอื่น อย่างเช่นของกระทรวงเกษตรที่เราจะไปทำแผ่นปูบ่อน้ำ เราก็เอางบประมาณที่มีอยู่แล้ว หรือบางอย่างที่อาจจะปรับเปลี่ยนงบประมาณมาก็มาทำตรงนี้แทน"
ลุ้นผลตรวจไอยูยู
ส่วนเรื่องการแก้ไขปัญหาไอยูยู ฟิชชิ่งที่อียูให้ใบเหลืองกับประเทศไทยเมื่อ 21 เมษายน 2558 และให้เวลาแก้ไขปัญหามาจนถึงปัจจุบัน เรื่องนี้ พล.อ.ฉัตรชัย ระบุว่ามีหลายหน่วยงานช่วยกันดูแลแก้ไขปัญหา โดยในส่วนของกระทรวงเกษตรฯ มีกรมประมงเป็นหน่วยงานหลักเข้าไปดูแล ณ วันนี้กรมประมงก็ได้ดำเนินการตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ เป็นมาตรฐานที่อียูรับได้ อาทิ เช่น เรื่องของกฎหมายการแก้ไขกฎหมายการประมงก็ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยหมดแล้ว ในเรื่องของระบบ ไม่ว่าจะเป็นการติดตั้งระบบติดตามตำแหน่งเรือ(VMS) ระบบการตรวจสอบย้อนกลับของสินค้า มีกฎหมายที่ห้ามการขนถ่ายปลากลางทะเล รวมถึงการเรียกมาตรวจสอบว่าได้ปฏิบัติตามกติกา กฎเกณฑ์อย่างไร
" วันนี้กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมประมงได้ดำเนินการในเรื่องพวกนี้เรียบร้อยหมด ซึ่งผมก็คิดว่า เจ้าหน้าที่ของอียูก็คงจะเห็นว่าเราทำก็คือตามกติกา ตามมาตรฐานอยู่แล้ว แต่วันนี้มันยังมีเรื่องเลยไปถึงเรื่องแรงงานผิดกฎหมาย เรื่องของการใช้แรงงานเด็ก แรงงานทาส แรงงานเถื่อนบ้าง อันนี้ก็จะเข้ามาเชื่อมโยง กระทรวงแรงงานก็ดำเนินการเรียบร้อยแล้ว เขาก็ทำอย่างเต็มที่ ผมเชื่อว่าวันนี้ในส่วนของเจ้าหน้าที่ของอียูที่เข้ามาตรวจสอบของเราที่มาตั้งแต่วันที่ 18 ถึง 22 มกราคม 2559 ก็เชื่อว่าวันนี้เขาคงเห็นความตั้งใจของประเทศไทย และในความรับผิดชอบของกรมประมงเองในส่วนของกระทรวงเกษตรก็ทำอย่างเต็มที่ รวมถึงในส่วนของกระทรวงอื่นๆ ก็มีการบูรณาการการทำงานกันให้ได้ตามมาตรฐานอียูอย่างเต็มที่ แต่ว่าผลลัพธ์จะออกมาเป็นอย่างไรนั้น ก็ยังคาดการณ์ไม่ได้ แต่วันนี้เราทำเยอะแล้ว"
เลิกสัญญาไห่หนาน-สั่งฟ้อง
พล.อ.ฉัตรชัยยังให้ข้อมูลถึงการบริหารจัดการยางพาราในสต๊อกรัฐบาล กรณีสัญญาซื้อขายยางพาราระหว่างองค์การสวนยาง กับบริษัท ไชน่าไห่หนาน รับเบอร์ อินดัสทรี กรุ๊ป จำกัด จากจีนที่มีความอึมครึมมาโดยตลอดว่า เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2558 ที่ประชุมคณะกรรมการฯได้มีมติยกเลิกสัญญาตั้งแต่วันที่ 3 ธันวาคม 2558 ทั้งสัญญาหลัก (ยางเก่า 2.08 แสนตัน) และสัญญาแนบท้าย(ยางใหม่ 2 แสนตัน) โดยเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2558 ได้มีหนังสือแจ้งบริษัทเพื่อยกเลิกสัญญา
โดยให้เหตุผล 3 ข้อดังนี้ 1.บริษัทรับมอบยางจำนวนน้อยกว่าที่ตกลงในสัญญามาก 2.มีปัญหาการส่งมอบยาง เช่น การตกลงราคา คุณภาพ การชั่งน้ำหนัก 3.หนังสือค้ำประกันที่บริษัทใช้เป็นหลักประกัน หมดอายุในวันที่ 3 ธันวาคม 2558 ซึ่งบริษัทไม่ได้ดำเนินการต่ออายุ แต่กลับส่งหนังสือค้ำประกันใหม่มาแทน ซึ่งไม่ครอบคลุมสัญญาเดิม ทั้งนี้บริษัทได้รับทราบแล้ว
"การดำเนินการในขั้นต่อไป คือการฟ้องร้องบริษัทเพื่อเรียกค่าปรับ และค่าเสียหาย การตรวจสอบสต๊อกยางพารา และดำเนินการจำหน่ายยางพาราที่ค้างสต๊อกอยู่ โดยวิธีการประมูล"
แจงสัญญาจีทูจีใหม่จีน
ขณะที่สัญญาซื้อขายยางพาราแบบรัฐต่อรัฐ หรือจีทูจี ระหว่างรัฐบาลไทย-จีน ที่ได้มีการลงนามสัญญาเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2558 แบ่งเป็นยางแผ่นรมควันจำนวน 1.5 แสนตัน และยางแท่ง STR 20 จำนวน 5 หมื่นตัน รวมจำนวน 2 แสนตัน กำหนดส่งมอบภายใน 12 เดือน ซึ่งจะส่งมอบงวดแรกภายใน 3 เดือน หลังจากลงนามในสัญญา โดยส่งมอบงวดละ 1.66 หมื่นตัน ส่วนราคาซื้อขายเป็นราคาเอฟโอบี(ราคา ณ ท่าเรือต้นทาง) ท่าเรือกรุงเทพฯ สงขลา และปีนัง ดังนี้ ยางแผ่นรมควันใช้ราคาเฉลี่ยย้อนหลัง 2 เดือนจากวันส่งมอบ ณ ตลาดเซี่ยงไฮ้ที่จีน และตลาดโตคอม ที่ญี่ปุ่น ส่วนยางแท่ง STR 20 ใช้ราคาเฉลี่ยย้อนหลัง 2 เดือนจากวันส่งมอบ ณ ตลาดไซคอมที่สิงคโปร์
"การแก้ไขปัญหาราคายางตกต่ำก็มีความชัดเจนขึ้น เรื่องไอยูยูก็ทำเต็มที่แล้ว เรื่องขายยางในสต๊อกก็มีความชัดเจน แต่ก็ยังไม่รู้สึกโล่งใจ เพราะยังมีปัญหาภัยแล้งให้เตรียมแก้ไขอยู่ข้างหน้า "พล.อ.ฉัตรชัยกล่าวทิ้งท้าย
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,125 วันที่ 24 - 27 มกราคม พ.ศ. 2559