“เอสพีอาร์ซี” ไม่ห่วงรถยนต์ไฟฟ้าถ่วงความต้องการใช้นํ้ามัน ยังเดินหน้าเจรจาซื้อกิจการบริษัทนํ้ามัน หวังรุกค้าปลีกในประเทศไทย เตรียมเสนอรายละเอียดเข้าบอร์ดและผู้ถือหุ้น พร้อมทุ่ม 80 ล้านดอลล์ ขยายกำลังการกลั่นเพิ่ม 1 หมื่นบาร์เรลต่อวัน
นายวิชัย ชุณหสมบูรณ์ ผู้จัดการฝ่ายการเงินและการคลัง บริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ เอสพีอาร์ซี ดำเนินธุรกิจโรงกลั่นนํ้ามัน เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากแนวโน้มความต้องการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า(บีอีวี) เพิ่มสูงขึ้น อาจส่งผลกระทบต่อความต้องการใช้นํ้ามันนั้น แต่สิ่งที่ผู้เชี่ยวชาญวิเคราะห์ พบว่ารถยนต์บีอีวีจะเติบโตแบบค่อยเป็นค่อยไป และคงต้องใช้เวลา บริษัทยังมองว่าตลาดค้าปลีกนํ้ามันยังสามารถขยายตัวได้
ขณะเดียวกันบริษัทมองโอกาสขยายการลงทุนในประเทศไทย ไว้ 3 แนวทาง คือ 1สร้างโรงกลั่นนํ้ามันแห่งที่ 2 กำลังการผลิตอีก 1.65 แสนบาร์เรลต่อวัน แต่แนวทางดังกล่าวมีความเสี่ยงกำลังการผลิตที่ล้นเกินความต้องการ จึงต้องส่งออก กำไรจะสู้ขายในประเทศไม่ได้ และต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก 2,000-3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
แนวทางที่ 2 ขยายธุรกิจต่อยอดไปยังปิโตรเคมี ซึ่งต้องใช้เงินลงทุน 2,000-3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งปัจจุบันบริษัทมีการผลิตผลิตภัณฑ์ เพื่อส่งขายให้ปิโตรเคมีอยู่แล้ว
แนวทางที่ 3 ขยายธุรกิจไปยังตลาดค้าปลีกนํ้ามัน ซึ่งเป็นแนวทางที่บริษัทอยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้ โดยมีแนวทางจะเข้าไปซื้อกิจการบริษัทนํ้ามันที่มีสถานีบริการนํ้ามันอยู่แล้ว เพื่อใช้เป็นช่องทางในการขาย ประกอบกับบริษัทเตรียมขยายกำลังการกลั่นนํ้ามันเพิ่มขึ้นอีก 1 หมื่นบาร์เรลต่อวัน จากปัจจุบันอยู่ที่ 1.65 แสนบาร์เรลต่อวัน ซึ่งจะใช้เงินลงทุนประมาณ 80 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คาดว่าจะมีผลตอบแทน 25% และเริ่มต้นผลิตได้ช่วงต้นปี 2563
นายวิชัย กล่าวอีกว่า โดยในปีนี้บริษัทประเมินอัตราการใช้กำลังการกลั่นที่ระดับ 96.6% เท่ากับไตรมาส 1 ปีนี้ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนอยู่ที่ 88.8% ที่ได้มีการหยุดซ่อมบำรุงโรงกลั่นนํ้ามันบางส่วนในเดือนมิถุนายนและตุลาคม 2560 แต่ในปีนี้จะไม่มีการหยุดซ่อมบำรุง แต่จะหยุดซ่อมบำรุงครั้งใหญ่อีกครั้งในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2562 คาดว่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเป็นไปตาม แผนการหยุดซ่อมบำรุงใหญ่ทุก 5 ปี
“แม้ว่าเทรนด์รถยนต์อีวีจะเข้ามาเร็วกว่าแผน แต่พบว่ายังไม่กระทบต่อตลาดนํ้ามันมากนัก ยังมีโอกาสเติบโตได้อีก ซึ่งบริษัทยังมองหาโอกาสขยายธุรกิจไปยังตลาดค้าปลีกในไทย ขณะที่โอกาสการเข้าไปลงทุนในธุรกิจค้าปลีกนํ้ามันนั้น จะช่วยรองรับการขายนํ้ามันในประเทศของบริษัท โดยรูปแบบของธุรกิจค้าปลีกนํ้ามันจะมีทั้งการขายในสถานีบริการนํ้ามัน, ขายให้โรงงานอุตสาห-กรรม, ขายภาคขนส่ง เป็นต้น ซึ่งการดำเนินงานจะไม่ซํ้าซ้อนกับสถานีบริการนํ้ามันคาลเท็กซ์ ที่มีกลุ่มเชฟรอน เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่เช่นเดียวกัน”
โดยปัจจุบันโรงกลั่นเอสพีอาร์ซี ขายนํ้ามันให้กับเชฟรอน 60% และปตท. 40% นอกจากนี้โรงกลั่นเอสซีอาร์ซี ยังสามารถเลือกนํ้ามันดิบเข้าโรงกลั่นได้ 23 ประเภท สามารถเลือกซื้อนํ้ามันดิบที่ราคาถูกกว่าได้ นอกจากนี้ปัจจุบันบริษัทมีกำลังการกลั่นนํ้ามัน 1.65 แสนบาร์เรลต่อวัน โดยนํ้ามันสำเร็จรูปส่วนใหญ่ขายในประเทศ ขณะที่มีการส่งออกประมาณ 15% ซึ่งเป็นนํ้ามันเตาและก๊าซปิโตรเลียมเหลว (แอลพีจี)
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38ฉบับที่ 3,367 วันที่ 20-23 พ.ค. 2561