thansettakij
พาณิชย์ดับฝันชดเชยราคากุ้งตกจังหวัดละ 5 ล้านปรับเปลี่ยนวิธีใหม่

พาณิชย์ดับฝันชดเชยราคากุ้งตกจังหวัดละ 5 ล้านปรับเปลี่ยนวิธีใหม่

24 พ.ค. 2561 | 07:05 น.
อัปเดตล่าสุด :24 พ.ค. 2561 | 14:05 น.
พาณิชย์ดับฝันชดเชยราคากุ้งตกจังหวัดละ 5 ล้านปรับเปลี่ยนวิธีใหม่

นายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง เผยว่า ภายหลังการปิดรับสมัครเกษตรกรเข้าร่วมโครงการประชารัฐ รักษาเสถียรภาพราคากุ้งขาวแวนนาไม ปี 2561 เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2561 ที่ผ่านมา ปรากฏว่ามีเกษตรกรผ่านเกณฑ์การพิจารณาฯ จำนวน 21 จังหวัด รวม 1,196 ราย และมีห้องเย็นที่เข้ารับซื้อผลผลิตกุ้งในโครงการฯ จำนวน 24 บริษัท โดยขณะนี้ได้ดำเนินการจับคู่ซื้อขายกุ้งกับเกษตรกรแล้ว จำนวน 18 จังหวัด รวม 611 ราย

ทางกรมจะเร่งเข้าเก็บตัวอย่างกุ้งของเกษตรกร ที่ได้ทำข้อตกลงซื้อขายภายใต้โครงการฯ มาตรวจสอบคุณภาพ โดยทุ่มงบประมาณกว่า 6 ล้านบาท เพื่อให้สินค้ากุ้งได้มาตรฐานเป็นไปตามความต้องการของประเทศคู่ค้า
adi เพื่อให้การดำเนินการภายใต้โครงการฯ ดังกล่าวเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ กรมประมงจึงได้จัดประชุมคณะทำงานบริหารโครงการประชารัฐรักษาเสถียรภาพราคากุ้งขาวแวนนาไม ปี 2561 ครั้งที่ 1/2561 ขึ้น เมื่อวันที่ วันที่ 23 พฤษภาคม 2561 โดยมีนายอรุณชัย พุทธเจริญ รองอธิบดีกรมประมงเป็นประธานการประชุม และนายฉัตรชัย ศักดิ์ศิลปชัย รองอธิบดีกรมการค้าภายใน นายกสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย ผู้แทนเกษตรกร และนายธนาวุฒิ กุลจิตติชนก ประมงจังหวัดสงขลา เข้าร่วมประชุม ซึ่งถือเป็นการบูรณาการความร่วมมือจากหลายหน่วยงานในการขับเคลื่อนโครงการเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง โดยจะติดตามความคืบหน้าและเร่งรัดการดำเนินงานให้เป็นไปตามข้อกำหนดของโครงการฯ

นอกจากนี้ คณะทำงานบริหารโครงการฯ ยังได้หารือถึงกรณีข้อสรุปผลการเรียกร้องของเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งจังหวัดสงขลา และเครือข่ายรวม 7 จังหวัด เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2561 ที่มอบให้แต่ละจังหวัดจัดทำโครงการขอใช้เงินฉุกเฉินจากกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ในวงเงินไม่เกินจังหวัดละ 5 ล้านบาท
van จากการหารือผู้แทนกรมการค้าภายในได้ชี้แจงว่า ระเบียบการขอใช้เงินฉุกเฉินดังกล่าว จะสามารถขอได้เพียงจังหวัดเดียว โครงการเดียว ในวงเงินไม่เกิน 5 ล้านบาท หากแต่ละจังหวัดขอใช้เงินฉุกเฉินโดยเสนอโครงการลักษณะเดียวกัน ในห้วงเวลาเดียวกัน จะทำให้วงเงินงบประมาณที่เสนอขอรวม มากกว่า 5 ล้านบาท ซึ่งไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์การใช้เงินฉุกเฉินดังกล่าว

ที่ประชุมจึงพิจารณาให้ตั้งคณะทำงาน ประกอบด้วย กรมประมง กรมการค้าภายใน ผู้แทนเกษตรกร ร่วมจัดทำโครงการใหม่ในลักษณะภาพรวมที่จะช่วยเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งได้ทั่วประเทศ เพื่อเสนอคณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.) พิจารณาช่วยเหลือเป็นการเร่งด่วนต่อไป

e-book-1-503x62-7